ธนาคารยูโอบี ชู FSCM บริหารซัพพลายเชนผ่านดิจิทัล หนุนธุรกิจเติบโตทั่วอาเซียน
"ธนาคารยูโอบี" ชู FSCM โซลูชันใหม่ สะดวก รวดเร็ว บริหารซัพพลายเชนผ่านดิจิทัล หนุนธุรกิจเติบโตทั่วอาเซียน พร้อมเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การเป็นธนาคารฯ อันดับหนึ่งในธุรกรรมการค้าข้ามพรมแดนในอาเซียนภายในปี 2567
การทำธุรกิจทุกวันนี้จำเป็นต้องเชื่อมโยงกับโลกมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการค้าหรือการลงทุน ทั้งจากการขยายตลาดหรือการขยายฐานการผลิต ไปสู่ต่างประเทศมากขึ้น เพื่อลดข้อจำกัดในแง่พื้นที่ธุรกิจ สร้างโอกาสเติบโตและแหล่งรายได้ใหม่ๆ ให้กิจการแข็งแกร่ง จึงไม่น่าแปลกใจที่ทุกวันนี้ได้เห็นความต้องการของภาคธุรกิจไทยในการขยายออกไปต่างประเทศมากขึ้น
รายงานการศึกษาของ ธนาคารยูโอบี ใน UOB Business Outlook Study 2024 (SME & Large Enterprises) ที่ได้ไปสำรวจบริษัทกว่า 500 แห่ง จาก 10 กลุ่มอุตสาหกรรมในประเทศไทย พบว่า 87% ของธุรกิจในประเทศกำลังมองหาโอกาสในการขยายกิจการไปต่างประเทศในระยะ 3 ปีข้างหน้า เพื่อขยายฐานลูกค้าและเพิ่มช่องทางสร้างรายได้ และยังพบว่าการนำดิจิทัลแพลตฟอร์มกำลังเป็นที่นิยมในการดำเนินธุรกิจข้ามพรมแดนไปต่างประเทศถึง 88% โดยบริการที่ธุรกิจต้องการเป็นอันดับต้นๆ จาก สถาบันการเงิน เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจการค้าข้ามพรมแดนให้เป็นไปอย่างสะดวกมากยิ่งขึ้นคือ บริการนำเข้า 51% และบริการส่งออก 46%
นอกจากนี้ รายงานดังกล่าวยังพบอีกว่าธุรกิจไทยกว่า 94% มองว่าการบริหารซัพพลายเชน (Supply Chain Management) มีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การเปลี่ยนแปลงของโลกธุรกิจยังสร้างกระแสใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นในทุกวัน ส่งผลต่อทิศทางของซัพพลายเชนโลกให้เปลี่ยนไปจากเดิมอย่างไม่หยุดนิ่ง โดยเฉพาะกระแสของ Digital Transformation ที่ทำให้ภาพรวมของระบบซัพพลายเชนเปลี่ยนแปลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
การบริหารซัพพลายเชน (Supply Chain Management) ในทุกวันนี้ต้องมุ่งไปสู่ Digital Supply Chain Finance เพื่อให้เท่าทันกับโลกการค้าการลงทุนในอนาคต ถือเป็นความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการที่ยังปรับตัวไม่ทัน ถ้ายังไม่สามารถนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาปรับใช้กับกลยุทธ์ทางธุรกิจก็อาจทำให้เสียโอกาสได้ถึงแม้ผู้ประกอบการจะตระหนักถึงความสำคัญของเทคโนโลยี และพยายามเร่งปรับองค์กรให้ทัดเทียม แต่ทว่าการขับเคลื่อนองค์กรให้เปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลนั้นทำได้ยาก เนื่องจากต้องใช้เม็ดเงินลงทุนและผลักดันศักยภาพของบุคลากรให้มีความรู้ที่เท่าทันเทคโนโลยีใหม่ๆ อยู่เสมอ
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังต้องติดตามบทบาทในการบริหารซัพพลายเชนโลกของประเทศยักษ์ใหญ่ โดยเฉพาะ "ประเทศจีน" ว่าเป็นไปในทิศทางใดบ้าง เพราะมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวมของซัพพลายเชนและการทำธุรกิจได้ ในประเด็นนี้ผู้ประกอบการอาจจะเกิดคำถามว่า ธุรกิจของตนเองจะอยู่ตรงไหน และอยู่อย่างไรในห่วงโซ่อุปทานนี้
คำตอบที่ได้คือ การมองหาโซลูชันจากพันธมิตรที่จะมาตอบโจทย์เป้าหมายในการออกไปทำธุรกิจในต่างประเทศ ให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ที่การค้าระหว่างไทยและอาเซียนมีโอกาสเติบโตมากขึ้น การมีพันธมิตรทางธุรกิจที่แข็งแกร่งในระดับภูมิภาค จะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายกิจการในประเทศและต่างประเทศได้
ในฐานะธนาคารระดับภูมิภาคที่มีเครือข่ายที่แข็งแกร่งทั่วอาเซียน กลุ่มธนาคารยูโอบี มีเป้าหมายที่จะก้าวไปสู่การเป็นธนาคารฯ อันดับหนึ่งในธุรกรรมการค้าข้ามพรมแดนในอาเซียนภายในปีนี้ ธนาคารฯ เชื่อมั่นว่าจะสามารถเป็นประตูสู่โอกาสทางธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทย และเมื่อผนวกกับความพร้อมด้านเทคโนโลยีดิจิทัลที่ธนาคารฯ มีอยู่ จะเป็นรากฐานในการพัฒนาดิจิทัลโซลูชันแบบครบวงจร มาตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าชาวไทยที่มีเป้าหมายในการขยายธุรกิจในอาเซียน ช่วยติดปีกธุรกิจให้บินไปได้ไกลมากขึ้น
สำหรับที่ผ่านมา บริการธุรกรรมทางการเงินของ ธนาคารยูโอบี ได้พัฒนา Digital Banking Platform แบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการบริการบริหารเงินสด (Cash Management) บริการการค้าระหว่างประเทศ (Trade Finance Services) ทั้งการนำเข้า-ส่งออก แบงก์การันตีการบริหารการเงินในซัพพลายเชน ที่ธนาคารฯ มีความรู้ความชำนาญการเชิงลึกในแต่ละอุตสาหกรรมที่สามารถรองรับความต้องการของลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ เอสเอ็มอี หรือหน่วยงานภาครัฐที่ต้องการใช้บริการทางการเงินระหว่างประเทศ
ล่าสุด UOB ได้เปิดตัวโซลูชันบริการสินเชื่อหมุนเวียนธุรกิจแบบดิจิทัล (FSCM: Financial Supply Chain Management) ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง (procurement to pay) การผลิตและจัดจำหน่าย (production to sales) รวมถึงการออกใบแจ้งหนี้และการชำระเงิน (invoice to collect) ทั้งหมดรวมอยู่บน Digital Banking Platform ของธนาคารฯ ซึ่งจะช่วยให้ลูกค้าสามารถติดตามและประมวลผลธุรกรรมต่างๆ ได้ด้วยการเข้าสู่ระบบเพียงครั้งเดียว
FSCM จะช่วยให้ธุรกิจได้รับประสบการณ์ที่ดีขึ้น จากดิจิทัลแพลตฟอร์มที่จะช่วยเชื่อมต่อการทำงานกับซัพพลายเออร์และผู้จัดจำหน่ายให้เข้ามาอยู่บนระบบนิเวศเดียวกัน เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนและตรวจสอบเอกสารในแต่ละขั้นตอนที่แตกต่างกัน รวมถึงกระบวนการทำงานร่วมกันอย่างมีมาตรฐาน และใช้ประโยชน์จากการบูรณาการเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพของยูโอบี ทำให้ FSCM มีความโดดเด่นและตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าได้ กล่าวคือสามารถช่วยจัดการงานด้านเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องในการทำธุรกรรมทั้งฝั่งของผู้ซื้อและผู้ขายให้เป็นรูปแบบดิจิทัลได้อย่างสะดวก ลดความยุ่งยากในการแลกเปลี่ยนเอกสารการค้า ลดขั้นตอนในการประสานงานระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายทำให้การส่งเอกสารและการขอสินเชื่อจากธนาคารฯ เป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว ยิ่งขึ้น เมื่อธุรกรรมมีความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ FSCM จึงถือเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการการเงินที่จะทำให้ธุรกิจได้รับประสบการณ์ใหม่ที่ดีขึ้น
นอกจากนี้ FSCM ยังเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้า จากรายงานสถานะของธุรกรรมแบบเรียลไทม์บน Digital Banking Platform ของธนาคารฯ การรวมทุกช่องทางการอัปโหลดเอกสารไว้ในที่เดียว ให้วงเงินสินเชื่อตามเอกสารการค้าไม่ว่าจะเป็นใบสั่งซื้อ ช่วยบริหารเงินทุนหมุนเวียน อีกทั้งยังบริหารความเสี่ยงในการเรียกชำระเงินได้ภายในแพลตฟอร์มเดียว และไม่ต้องห่วงเรื่องการเพิ่มซัพพลายเออร์เข้าสู่ระบบ เพราะ FSCM ได้ออกแบบระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการยืนยันตัวตนของซัพพลายเออร์ให้มีประสิทธิภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น
อีกทั้ง ยังเพิ่มโอกาสทางธุรกิจและทำให้การบริหารระบบซัพพลายเชนอย่างครบวงจรทั้งในประเทศ และยังเชื่อมต่อไปถึงระบบนิเวศของซัพพลายเชน ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำทั่วทั้งภูมิภาค ไม่ว่าจะเป็นสิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย จีน และฮ่องกง
เครือข่ายที่มั่นคงในภูมิภาค และความมุ่งมั่นการให้บริการลูกค้าด้านบริการธุรกรรมทางการเงิน ของ ธนาคารยูโอบี ประเทศไทย พิสูจน์ได้ด้วยรางวัลที่การันตีคุณภาพมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดในปี 2566 ทางธนาคารฯ ได้รับรางวัลจาก The Asset ถึง 9 รางวัล ประกอบด้วย Best New Economy Solutions (2 รางวัล), Best Payments and Collection Solutions for Best Supply Chain Solution (3 รางวัล), Best in Treasury and Working Capital for SMEs, Best Supply Chain Solution and Best Service Providers - Supply Chain in Thailand และ Best ESG Solutions in Trade Finance