ถึงเวลาเปิดทางให้เยาวชนออมผ่านตลาดทุน

สังคมไทยก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยโดยสมบูรณ์ และมีแนวโน้มที่สัดส่วนประชากรวัยเกษียณจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้เกิดความเสี่ยงทางการคลังที่รัฐจะไม่สามารถจัดหาสวัสดิการยามเกษียณแก่ประชาชนได้อย่างเพียงพอ

ด้วยเหตุนี้ การส่งเสริมให้ประชาชนได้มีเงินออมสำหรับวัยเกษียณจึงเป็น “ทางรอด” มากกว่า “ทางเลือก” ของประเทศไทย

ในปัจจุบัน ประชาชนทั่วไปมีช่องทางออมเงินเพื่อการเกษียณอยู่หลายช่องทาง ทั้งแบบภาคบังคับ เช่น ประกันสังคม และแบบสมัครใจ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รวมถึงกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั้งสิ้น แต่ก็ยังมีข้อจำกัดต่างๆ ที่รอการปรับปรุง

เช่น กำหนดยอดเงินออมสะสมต่อเดือนน้อย มีนโยบายการหาผลตอบแทนแบบเน้นความเสี่ยงต่ำทำให้ผลตอบแทนระยะยาวไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ หรือสามารถเริ่มฝากเงินได้เมื่อเข้าสู่วัยทำงานแล้วเท่านั้น เป็นต้น

ด้วยเหตุนี้ ผู้เขียนจึงขอเสนอแนวทางการส่งเสริมการออมอีกแนวทางหนึ่งคือ การให้เยาวชนที่อายุต่ำกว่า 20 ปี สามารถลงทุนในตลาดทุนได้เพื่อเพิ่มระยะเวลาการออมเงิน ซึ่งจะทำให้ผลตอบแทนทบต้นเกิดเพิ่มพูนมากขึ้นจากแหล่งเงินออม ที่ให้ผลตอบแทนมากกว่าดอกเบี้ยเงินฝากและสามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้

เพื่อความเข้าใจยิ่งขึ้น ผู้เขียนขอแสดงตัวอย่างผ่านการเปรียบเทียบระหว่างบุคคลสองคน โดยคนแรกเริ่มลงทุนในตลาดทุนตั้งแต่อายุ 20 ปี ส่วนคนที่สองเริ่มลงทุนในตลาดทุนตั้งแต่อายุ 18 ปี หากทั้งสองคนเกษียณเมื่ออายุ 60 ปี คนแรกจะมีเวลาลงทุน 40 ปี ส่วนคนที่สองจะมีเวลาลงทุน 42 ปี

ถ้าทั้งสองคนทยอยลงทุนตามแนวคิด Dollar Cost Averaging เดือนละ 1,000 บาท และได้ผลตอบแทน 7% ต่อปีตามอัตราผลตอบแทนเฉลี่ยของ SET ช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (0.6% ต่อเดือน)

เมื่ออายุ 60 ปีคนที่เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 20 ปีจะได้ผลตอบแทนรวมเงินลงทุนประมาณ 2.6 ล้านบาท ส่วนคนที่เริ่มลงทุนตั้งแต่อายุ 18 ปีจะได้ประมาณ 3 ล้านบาท จะเห็นได้ว่าการลงทุนเร็วขึ้นเพียง 2 ปีด้วยจำนวนเงินที่เท่ากันจะทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้นถึง 16% หรือประมาณ 400,000 บาท

แม้ผลตอบแทนทบต้นจากการลงทุนจะมีพลังมากในระยะยาว และมีความเป็นไปได้ที่จะได้ผลตอบแทนเฉลี่ย 7% ต่อปีจากการลงทุนในตลาดทุน แต่กระนั้นตลาดทุนไทยยังมีข้อจำกัดบางประการที่เป็นอุปสรรคต่อการลงทุนของเยาวชน

เช่น การเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์หรือหน่วยลงทุนของเยาวชนที่อายุไม่ถึง 20 ปี ต้องให้ผู้ปกครองยินยอมเสียก่อน และยังไม่มีผลิตภัณฑ์ทางการลงทุนที่ยืดหยุ่นให้ทยอยลงทุนในมูลค่าต่ำและมีความเสี่ยงที่เหมาะสมกับเยาวชน

ถึงเวลาเปิดทางให้เยาวชนออมผ่านตลาดทุน

ข้อจำกัดเกี่ยวกับการเปิดบัญชีของเยาวชนนั้น เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 21 ซึ่งหากเยาวชนทำการเปิดบัญชีลงทุนโดยที่ผู้ปกครองไม่ได้ให้ความยินยอมจะถือว่าบัญชีนั้นๆ เป็น “โมฆียะ” สามารถถูกบอกล้างได้

ส่งผลให้ปัจจุบันในการเปิดบัญชีลงทุนให้เยาวชนนั้นบริษัทหลักทรัพย์และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนจะให้ผู้ปกครองให้ความยินยอมก่อน ซึ่งอาจทำให้เยาวชนถูกกีดกันจากการลงทุนในตลาดทุนไปโดยปริยาย

ผู้เขียนจึงเสนอว่าควรมีกฎระเบียบที่สร้างความชัดเจนว่า เยาวชนไทยสามารถเปิดบัญชีลงทุนได้ เช่น การออก พ.ร.บ.การออมและการลงทุนสำหรับผู้เยาว์ และควรมีการกำหนดบัญชีสำหรับเยาวชนขึ้นมา เหมือนกับในต่างประเทศด้วย

ยกตัวอย่างเช่นในสหราชอาณาจักร ที่มีบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์ที่เรียกว่า Junior Individual Saving Accounts (Junior ISAs) ซึ่งก่อตั้งภายใต้กฎหมาย The Individual Savings Account Regulations 1998 โดยเป็นบัญชีที่เยาวชนอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปสามารถเปิดได้เอง (เยาวชนในสหราชอาณาจักรบรรลุนิติภาวะเมื่ออายุ 18 ปี)

ทั้งนี้ หากเยาวชนอายุต่ำกว่า 16 ปี ผู้ปกครองสามารถเปิดบัญชีนี้ในนามของบุตรและจัดการลงทุนในหลักทรัพย์แทนบุตรได้ แต่เมื่อบุตรอายุครบ 16 ปีจะมีการโอนสิทธิ์จัดการบัญชีให้กับบุตร

ถึงเวลาเปิดทางให้เยาวชนออมผ่านตลาดทุน

ขณะเดียวกันควรต้องมีการกำหนดผลิตภัณฑ์การลงทุน ที่บัญชีสำหรับเยาวชนสามารถลงทุนได้และไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงมากเกินสมควรแก่เยาวชน เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนในการลงทุนจริง

นอกจากนี้ยังเป็นการป้องกันเยาวชนจากความเสียหายที่รุนแรงจนอาจทำให้เยาวชนมีอคติต่อตลาดทุนและล้มเลิกการลงทุนในตลาดทุนไป

อย่างไรก็ตาม การเปิดทางให้เยาวชนลงทุนในตลาดทุนเพื่อเพิ่มระยะเวลาการออมเงินนั้น จะประสบความสำเร็จไม่ได้ถ้าไม่มีการส่งเสริมความรู้ด้านการเงินร่วมด้วย เพราะความรู้จะเป็นเกราะคุ้มกันตลอดชีวิตให้คนไทยในโลกของการเงินและการลงทุน

บทวิเคราะห์นี้เป็นส่วนหนึ่งของชุดบทความ “โครงการกิโยตินกฎระเบียบตลาดทุน” โดย ทีดีอาร์ไอและกองทุนส่งเสริมการพัฒนาตลาดทุน (CMDF)