‘ญี่ปุ่น - อาเซียน’ จับมือดันการผลิต - ยอดขายรถในภูมิภาค โต้ 'เจ้าตลาดอีวี' จีน
"ญี่ปุ่น - อาเซียน" ร่วมมือกันผลักดันการผลิต และยอดขายรถยนต์ในภูมิภาคเพื่อแข่งกับผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากจีน
KEY
POINTS
- เป้าหมายการร่วมมือคือ จะร่างกลยุทธ์ร่วมกันระยะยาวจนถึงปี 2578 เพื่อโต้เจ้าตลาดอีวีจีน
- ความร่วมมือประกอบด้วยการฝึกอบรมบุคลากร การลดก๊าซเรือนกระจก การจัดหาวัตถุดิบ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ และการประชาสัมพันธ์แนวคิดการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
- คาดญี่ปุ่นใช้งบประมาณ 900 ล้านดอลลาร์ สำหรับฝึกอบรมบุคลากร และนำเทคโนโลยีมาใช้ในการวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชีย รายงานวันนี้ (21 พ.ค.67) ว่า "ญี่ปุ่นและอาเซียน" เตรียมร่วมมือเชิงกลยุทธ์เป็นครั้งแรกเพื่อผลักดันการผลิต และการขายรถยนต์ในกลุ่มประเทศอาเซียน ท่ามกลางการขยายตัวของรถยนต์ไฟฟ้า (EV) จากจีนในภูมิภาคดังกล่าว
ทั้งสองฝ่ายมีเป้าหมายที่จะร่างกลยุทธ์ร่วมกันในเบื้องต้นซึ่งจะเป็นสัญญาความร่วมมือระยะยาวจนถึงปี 2578 หลังจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจของทั้งสองฝ่ายจะประชุมร่วมกันในช่วงต้นเดือนก.ย.ปีนี้
บทวิเคราะห์ของนิกเคอิ เอเชีย เผยว่า อาเซียนเป็นที่ตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของญี่ปุ่นหลายราย โดยมีการผลิตรถยนต์มากกว่า 3 ล้านคันต่อปี หรือประมาณ 80% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมดในภูมิภาคนี้ และมีการส่งออกรถยนต์ไปยังตะวันออกกลางและแหล่งอื่นๆ
นักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งคาดว่า กลยุทธ์ครั้งนี้จะครอบคลุมถึงความร่วมมือทั้งในด้านการฝึกอบรมบุคลากร การลดก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิต การจัดหาวัตถุดิบ การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเชื้อเพลิงชีวภาพ และการรณรงค์ประชาสัมพันธ์แนวคิดการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของผู้ผลิต
ญี่ปุ่นจะใช้งบประมาณกว่า 900 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.15 หมื่นล้านบาท) ในการฝึกอบรมบุคลากร และนำเทคโนโลยีที่คิดค้นในประเทศมาใช้วัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากโรงงาน รวมถึงส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทน
โดยทั้งสองฝ่ายจะร่วมกันประชาสัมพันธ์ความพยายามด้านสิ่งแวดล้อมเหล่านี้ เพื่อเพิ่มยอดการส่งออกรถยนต์ทั่วโลก รวมถึงกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาอื่นๆ ภายในปี 2578
ทั้งนี้ จนถึงปัจจุบันแบรนด์รถยนต์ญี่ปุ่นดำเนินธุรกิจในอาเซียนด้วยตนเอง แต่เมื่อบริษัทจีน เช่น บีวายดี (BYD) และเซค มอเตอร์ (SAIC Motor) เข้ามาในภูมิภาคนี้มากขึ้น ญี่ปุ่นจึงต้องการเสริมบทบาทของตัวเองในอาเซียน โดยวางตำแหน่งเป็นหุ้นส่วนที่น่าเชื่อถือซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่ออาเซียน
การเติบโตของผู้ผลิตอีวีจีนถือเป็นความท้าทายต่อผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น โดยเห็นได้ชัดจากสถานการณ์ในประเทศไทย ซึ่งสนับสนุนทางการเงิน และสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้ 85% ของรถยนต์ไฟฟ้าที่จำหน่ายในประเทศปีที่แล้วมาจากผู้ผลิตจีน
"อุปสงค์สำหรับรถยนต์โดยรวมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ลดลงเนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น และปัจจัยอื่นๆ" เจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทผู้ผลิตรถยนต์รายหนึ่งกล่าว พร้อมกล่าวเสริมว่า "แต่มาตรการสนับสนุนรถยนต์อีวีมีมาอย่างต่อเนื่อง แต่มีเพียงจีนเท่านั้นที่ได้ประโยชน์จากการสนับสนุนครั้งนี้"
อ้างอิง: Nikkei Asia
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์