แบงก์ชาติ เปิดยอดลูกหนี้ส่อเป็น ‘หนี้เรื้อรัง‘ 1.8 ล้านบัญชี 7.4 หมื่นล้านบาท

แบงก์ชาติ เปิดยอดลูกหนี้ส่อเป็น ‘หนี้เรื้อรัง‘ 1.8 ล้านบัญชี  7.4 หมื่นล้านบาท

ธปท. เปิดยอดลูกหนี้ “เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรัง” และ “เป็นหนี้เรื้อรัง” รวมกว่า 1.8 ล้านบัญชี วงเงินรวม 7.4 หมื่นล้านบาท ลูกหนี้ที่กำลังเป็นหนี้เรื้อรัง 1.33 ล้านบัญชี และหนี้เรื้อรังแล้ว 4.8 แสนบัญชี ชี้หากยอดเข้าร่วมโครงการต่ำ เตรียมคุย “ลูกหนี้ - แบงก์” เพื่อปรับมาตรการ

มาตรการ “แก้หนี้เรื้อรัง” เริ่มมีผลบังคับใช้ นับตั้งแต่ 1 เม.ย. เป็นต้นมา ตามมาตรการของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่ต้องการช่วยเหลือลูกหนี้กลุ่มเรื้อรัง ผ่านการให้สถาบันการเงินลดดอกเบี้ยเพื่อลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้เร็วขึ้น

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงินธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการเซอร์เวย์การแก้หนี้เรื้อรังของ ธปท. ที่มีผลบังคับใช้แล้วนับแต่ 1 เม.ย.2567 เป็นต้นมา จากผู้ให้บริการทั้ง 37 ราย ทั้งธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) เบื้องต้นพบว่า มีลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (Persistent Debt : PD) ทั้งกลุ่มที่มีปัญหา และที่เป็นหนี้เรื้อรังแล้ว 

โดยแบ่งเป็นลูกหนี้ที่กำลังมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (General PD) กลุ่มนี้มีจำนวน 1.33 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ถึง 60,882 ล้านบาท

และกลุ่มที่เป็นลูกหนี้เรื้อรังแล้ว (Severe PD) แล้ว ที่ 4.8 แสนบัญชี คิดเป็นยอดภาระหนี้ที่ 14,433 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการติดตามความคืบหน้าของมาตรการพบว่า ผู้ประกอบการบางราย มีการให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนกับลูกหนี้ ในการเชิญชวนเข้ามาตรการแก้หนี้เรื้อรัง โดยเฉพาะไม่บอกรายละเอียดเกี่ยวกับดอกเบี้ยที่ 15% เมื่อลูกหนี้เข้าโครงการแล้ว ดังนั้นส่วนนี้ ธปท.มีการให้ผู้ให้บริการแจ้งเตือนกลับไปที่ลูกหนี้ใหม่เพื่อให้มีการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ประกาศเริ่มมาตรการพบว่า ขณะนี้ มีลูกหนี้เริ่มทยอยสมัครเข้าโครงการ แต่ยอดสมัครเข้าโครงการยังไม่มากนัก ดังนั้น ธปท.จะมีการติดตาม และดูผลกระทบของมาตรการหลังจากนี้ จนถึงเดือนก.ค. ปี 2567

หากพบว่ามีลูกหนี้เข้าโครงการน้อย ธปท.จะมีการหารือกลุ่มสุ่มคุยกับลูกหนี้เพิ่มเติม ถึงสาเหตุในการเข้าไม่เข้าร่วมโครงการ และจะมีการหารือกับลูกหนี้เพิ่มเติม ว่าจะมีการปรับมาตรการหรือไม่

โดย ธปท. มองว่าโครงการนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น และลดภาระดอกเบี้ยให้ลดลงมาก โดยเฉพาะยอดผ่อนชำระต่อเดือน

ตัวอย่างของการเข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรัง หากเป็นบัตรกดเงินสด โดยมีวงเงินต้นอยู่ที่ 15,000 บาท หากผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 3% มาแล้ว 5 ปี จะต้องจ่ายเงินต้นอีก 8,700 บาท ซึ่งหากลูกหนี้เลือกที่จะชำระขั้นต่ำต่อไปจนครบ บนดอกเบี้ยที่ 25% ลูกหนี้จะใช้เวลาผ่อนอีก 13 ปี 5 เดือน โดยต้องจ่ายดอกเบี้ยอีก 14,000 บาท ซึ่งต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมทั้งสัญญาอยู่ที่ 29,000 บาท

ทั้งนี้ หากเข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรัง หากลูกหนี้จ่ายมาแล้ว 5 ปี เหลือเงินต้นอีก 8,700 บาท ลูกหนี้จะผ่อนต่อไปอีกเพียง 3 ปี 6 เดือน บนดอกเบี้ยที่ 15% ต่อปี หรือวงเงินผ่อนที่ 260 บาทต่องวด ทำให้เหลือดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายเพียง 2,500 บาท ดังนั้นเมื่อรวมดอกเบี้ยแล้วลูกหนี้จะจ่ายดอกเบี้ยทั้งสัญญาเพียง 17,500 บาท ดอกเบี้ยลดลง 11,500 บาท หากเทียบกับการผ่อนขั้นต่ำจนครบสัญญา

“หลังจากนี้เราจะมีการมอนิเตอร์การเข้าโครงการใกล้ชิด หากพบว่าเข้าโครงการน้อย เราจะสุ่มคุยกับลูกหนี้ ที่เป็นเรื้อรังแล้ว ว่าเหตุผลใดถึงไม่เข้า ซึ่งเรามีเวลาดูข้อมูลหลังจากนี้จนถึงไตรมาส 2 และต่อเนื่องไปถึงก.ค. ซึ่งหากเข้าไม่ได้มาก เราอาจจะมีการหารือกับเจ้าหนี้ เพื่อทบทวน และพิจารณาปรับมาตรการต่อไป”

อย่างไรก็ตาม กลุ่มลูกหนี้เรื้อรัง คือ กลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ ประเภทวงเงินหมุนเวียน ที่ยังไม่เป็นหนี้เสีย โดยหากดูคำนิยามของลูกหนี้ที่จะสามารถเข้าร่วมโครงการได้ กลุ่มแรก ลูกหนี้ที่เริ่มมีปัญหาหนี้เรื้อรัง (General PD) คือ ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 3 ปี แต่ไม่ถึง 5 ปี

ดังนั้น ลูกหนี้ที่เป็นหนี้เรื้อรัง (Severe PD) ลูกหนี้ที่จ่ายดอกเบี้ยรวมมากกว่าเงินต้นรวม มาแล้ว 5 ปี ทั้งนี้ ธปท.กำหนดรายได้ลูกหนี้สำหรับธนาคารพาณิชย์ จะมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 20,000 บาท และนอนแบงก์น้อยกว่า 10,000 บาท โดยลูกหนี้จะได้รับความช่วยเหลือให้ปิดจบหนี้ภายใน 5 ปี และลดภาระดอกเบี้ยเหลือ 15%

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์