BAM แก้เกมส์ แบงก์ปฏิเสธสินเชื่อพุ่ง ให้ลูกค้าผ่อน ‘เอ็นพีเอ‘ ตรงกับบริษัท
“แบม” รับยอดปฏิเสธ “สินเชื่อ” พุ่ง กระทบยอดขาย “เอ็นพีเอ” เร่งปรับกลยุทธ์อุ้มลูกค้าให้ผ่อนชำระตรงกับบริษัท หวังลดปัญหาลูกหนี้กู้ไม่ผ่าน-ช่วยระบายเอ็นพีเอไม่ออก หนุนเศรษฐกิจให้เกิดการหมุนเวียน ธุรกิจสามารถใช้ทรัพย์ต่อยอดกิจการได้ และลดปัญหาทรัพย์เสื่อมโทรม
ภายใต้สถานการณ์การปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดมากขึ้นของสถาบันการเงิน จากทิศทางหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ที่อยู่ระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เห็นยอดการปฏิเสธสินเชื่อของแบงก์ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
โดยเฉพาะสถาบันการเงินบางแห่งมีการปฏิเสธสินเชื่อ (Reject Rate) สูงถึง 50-70% โดยเฉพาะสินเชื่อบ้านราคาต่ำกว่า 3 ล้านบาท และไม่เฉพาะสินเชื่อรายย่อย แต่สถาบันการเงินมีการออกมาส่งสัญญาณมากขึ้น ถึงความระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อทุกกลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่มที่คุณภาพหนี้ด้อยคุณภาพลงทั้งธุรกิจหรือรายย่อย
นายบัณฑิต อนันตมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BAM กล่าวว่า ปัจจุบันเห็นยอดปฏิเสธสินเชื่อสถาบันการเงินสูงขึ้น โดยเฉพาะซื้อที่อยู่อาศัยพบว่าลูกค้าขอกู้ไม่ผ่านมากขึ้น ไม่เฉพาะซื้อบ้านใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการกู้สินเชื่อเพื่อซื้อสินทรัพย์รอการขาย หรือ เอ็นพีเอ ที่สถาบันการเงินเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่นเดียวกัน
ส่งผลให้ลูกค้า NPA ของบริษัทได้รับผลกระทบ และกู้ไม่ผ่านมากขึ้น แม้จะมีดีมานด์ หรือความต้องการซื้อ NPA เข้ามาต่อเนื่อง รวมถึงการขอวางเงินดาวน์ หรือให้แอลทีวีที่ต่ำลง ส่งผลลูกค้าลูกค้าบางรายมีการชะลอซื้อบ้าน คอนโดฯ โดยการปฏิเสธสินเชื่อส่วนใหญ่คือ กลุ่มอาชีพอิสระ และผู้มีรายได้ไม่ประจำ
ดังนั้น จึงมีการปรับกลยุทธ์โดยให้ลูกค้าที่มีศักยภาพ และกลุ่มที่บริษัทมองว่ามีความสามารถชำระหนี้ต่อไปในระยะข้างหน้า หันมาผ่อนชำระกับบริษัทโดยตรง เพื่อแก้ปัญหาแบงก์ไม่ปล่อยสินเชื่อ สำหรับลูกค้าที่กู้ไม่ผ่าน ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวเริ่มมาตั้งแต่ปลายปี 2566 ที่เริ่มเห็นยอดการปฏิเสธสินเชื่อสูงขึ้น
โดยการผ่อนชำระจะสามารถผ่อนได้ทั้งตลอดอายุสัญญา กับบริษัทโดยตรง โดยการผ่อนชำระบริษัทจะคิดอัตราดอกเบี้ยปกติตามตลาดคือ MRR หรือดอกเบี้ยรายย่อยที่เฉลี่ยราว 7.4% หรือเลือกผ่อนชำระกับบริษัทจนกว่าจะผ่านการอนุมัติสินเชื่อจากธนาคารได้
“ตั้งแต่ต้นปีเป็นต้นมา เรามีการช่วยลูกค้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะลูกหนี้ที่มีศักยภาพ และเราเห็นว่า มีความสามารถในการผ่อนชำระหนี้กับเรา ตรงนี้ก็ปรับมาให้ผ่อนกับเราตรงๆ หากกู้แบงก์ไม่ผ่าน ซึ่งเราก็ไม่ได้กลัวว่าลูกค้าจะผิดนัดชำระหนี้ เพราะสัญญาต่างๆ ยังเป็นของ BAM หากลูกค้าผิดนัดชำระเราก็ยังยึดคืนได้ จนกว่าลูกค้าจะมีเงินมาชำระทั้งหมด”
อย่างไรก็ตาม พบลูกค้าที่หันมาผ่อนชำระกับ BAM โดยตรง ปัจจุบันมียอดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องราว 10-15% หากเทียบกับการผ่อนชำระผ่านธนาคาร และหลักๆ เป็นการผ่อนคอนโดฯ สำหรับ NPA ปัจจุบันอยู่ที่ราว 2.3 หมื่นรายการ มูลค่า 7 หมื่นล้านบาท โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันขายทรัพย์ไปแล้ว 6,000-7,000 รายการ
“การปรับกลยุทธ์ให้ลูกค้าหันมาผ่อนตรงกับเรา มีทั้งรายย่อยและธุรกิจ ทั้งที่ต้องการซื้อคอนโด บ้าน หรือ โรงงาน เพื่อต่อยอดกิจการ ซึ่งเรามีทรัพย์อยู่จำนวนมาก นับวันก็ยิ่งเสื่อมโทรมไม่สามารถก่อประโยชน์ได้ ดังนั้น หากสามารถระบายทรัพย์ออก เพื่อเติมเงินใหม่ๆ เข้าระบบจะเป็นการดีกว่า มีคนหันมาผ่อนกับเราทรัพย์ก็ไม่เสื่อมโทรมเพราะเขาได้ต่อยอดทำประโยชน์จากทรัพย์มากขึ้น เช่นใช้เป็นที่อยู่อาศัย หรือใช้สร้างเป็นกิจการโรงงานในอนาคต”
สำหรับ แผนธุรกิจปีนี้ด้านการรับซื้อหนี้เสียมาบริหารยังตั้งเป้าคงเดิมที่ราว 9,000-10,000 ล้านบาท ปัจจุบันซื้อหนี้มาบริหารแล้วราว 5,000-6,000 ล้านบาท คิดเป็นเงินลงทุนราว 3,000 ล้านบาท