ค่าเงินบาทวันนี้ 31 พ.ค. 67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-ราคาทองคำรีบาวด์

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 พ.ค. 67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-ราคาทองคำรีบาวด์

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 พ.ค.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 36.71 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ดอลลาร์ อ่อนค่าและบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.75 - 37.00 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.71 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.80 บาทต่อดอลลาร์ 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.60-36.80 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงก่อนตลาดรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ และประเมินกรอบ 36.50-36.95 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ 

ค่าเงินบาทวันนี้ 31 พ.ค. 67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-ราคาทองคำรีบาวด์

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนวันที่ผ่านมา ค่าเงินบาทได้ทยอยแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง (แกว่งตัวในช่วง 36.67- 36.82 บาทต่อดอลลาร์) ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ และการปรับตัวลดลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังรายงานคาดการณ์ครั้งที่ 2 ของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสแรกในปีนี้ ออกมา +1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า เมื่อเทียบเป็นรายปี ซึ่งลดลงจากคาดการณ์ครั้งแรกที่ขยายตัว +1.6% 

นอกจากนี้ คาดการณ์ครั้งที่ 2 ของดัชนีราคาการใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งจะช่วยสะท้อนถึงแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ ก็ออกมา+3.0%  ต่ำกว่าคาดการณ์ครั้งแรกเล็กน้อยที่ +3.1% ทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดบ้าง ดังจะเห็นได้จากโอกาสในการลดดอกเบี้ย 2 ครั้งของเฟดในปีนี้จาก CME FedWatch Tool ขยับขึ้นเป็น 36% จากไม่ถึง 25% ในช่วงก่อนตลาดรับรู้ข้อมูลดังกล่าว 

นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงบ้างของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ช่วยหนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นได้ ซึ่งผู้เล่นในตลาดบางส่วนก็ทยอยขายทำกำไรการรีบาวด์ขึ้นของราคาทองคำ และโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น

แนวโน้มค่าเงินบาท

แนวโน้มค่าเงินบาท แม้ว่าโมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทจะแผ่วลงบ้าง หลังเงินบาทยังไม่สามารถอ่อนค่าทะลุโซน 37 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้ แต่ปัจจัยกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าก็ยังมีอยู่ โดยในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE สหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจกับ รายงานดัชนี PMI ของจีน และอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อทิศทางเงินหยวนจีน (CNY) และเงินยูโร (EUR) ได้บ้าง โดยต้องระวังในกรณีที่ข้อมูลดังกล่าวออกมาแย่กว่าคาด (หรือชะลอลงกว่าคาดในส่วนของอัตราเงินเฟ้อ) ซึ่งอาจเป็นปัจจัยกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลงตามเงินหยวนและเงินยูโรได้ 

นอกจากนี้ แรงขายสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติก็ยังคงมีอยู่ ทำให้เราประเมินว่า เงินบาทมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซนแนวต้าน 36.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้อีกครั้ง ก่อนที่จะเลือกทิศทางที่ชัดเจนขึ้น หลังตลาดทยอยรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ 

โดยหากอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ออกมาตามคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงเล็กน้อย ซึ่งจะช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของเงินบาท แต่หากออกมาต่ำกว่าคาด สะท้อนถึงการชะลอลงของเงินเฟ้อที่มากขึ้น ก็อาจหนุนให้เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้นได้บ้าง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ราว -0.13% แต่ในทางกลับกัน หากออกมาสูงกว่าคาด ก็อาจหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นราว +0.11% เป็นอย่างน้อย (%การอ่อนค่า หรือ แข็งค่านั้น มาจากค่าเฉลี่ยการเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์หลังการรับรู้ข้อมูลดังกล่าวในรอบ 1 ปี ที่ผ่านมา)

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนสูง ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

แม้ว่าผู้เล่นในตลาดจะคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่เผชิญแรงกดดันจากการเทขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Nvidia -3.8%, Microsoft -3.4% หลัง Salesforce -19.9% รายงานผลประกอบการที่ออกมาแย่กว่าคาดทำให้โดยรวมดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลง -1.08% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.60%

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นราว +0.59% หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง ขณะเดียวกันบอนด์ยีลด์ระยะยาวในฝั่งยุโรปก็ย่อตัวลงบ้าง ตามความกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดที่ลดลงและคาดการณ์ผู้เล่นในตลาดที่เชื่อว่า ธนาคารกลางยุโรปจะทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ในการประชุมสัปดาห์หน้า ทว่า บรรดาหุ้นเทคฯ ยุโรปก็เผชิญแรงกดดันบ้าง อาทิ SAP -4.1% หลัง Salesforce รายงานผลประกอบการที่แย่กว่าคาด 

ในส่วนตลาดบอนด์ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด ทั้ง GDP ไตรมาสแรก (คาดการณ์ครั้งที่ 2) และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรกที่ออกมาแย่กว่าคาดเล็กน้อย ได้ช่วยคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดของผู้เล่นในตลาดไปได้บ้าง นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ต่างก็รอทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวในจังหวะย่อตัว ท่ามกลางมุมมองว่า เฟดยังมีแนวโน้มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่ระดับ 4.54% อีกครั้ง ทั้งนี้ เราขอย้ำมุมมองเดิมว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนสูงขึ้นได้ แต่ทุกจังหวะการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นโอกาสในการทยอยเข้าซื้อบอนด์ระยะยาวที่น่าสนใจ

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับบรรดาสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นในตลาดคลายกังวลแนวโน้มดอกเบี้ยเฟดลงบ้าง นอกจากนี้ เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็มีจังหวะทยอยแข็งค่าขึ้นกลับมาอยู่ในโซน 156-157 เยนต่อดอลลาร์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีแนวโน้มใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในการประชุมเดือนมิถุนายน เช่น ปรับลดปริมารณการเข้าซื้อบอนด์ญี่ปุ่น และอาจกลับมาส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ ทั้งนี้ ภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังพอช่วยหนุนเงินดอลลาร์อยู่ ส่งผลให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ย่อตัวลงบ้าง สู่ระดับ 104.8 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.6-105 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ การปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถรีบาวด์ขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เข้าใกล้ระดับ 2,370 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ก่อนที่จะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้าง แต่โดยรวมยังคงแกว่งตัวแถว 2,360 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ซึ่งจะเป็นหนึ่งในข้อมูลด้านเงินเฟ้อที่เฟดให้ความสำคัญ นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาคาดการณ์ GDP สหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 โดยเฟดสาขา Atlanta (GDPNow) ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เพื่อประกอบการประเมินแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น รายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของยูโรโซนในเดือนพฤษภาคม ซึ่งหากชะลอตัวลงต่อเนื่อง ก็จะยิ่งทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมั่นใจมากขึ้นว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) อาจทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ตั้งแต่การประชุมเดือนมิถุนายน 

และในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการ (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนพฤษภาคม