กนง. เคลียร์ปม ‘คงดอกเบี้ย‘ เมินเงินเฟ้อต่ำเป้า-ปรับจีดีพีลง

กนง. เคลียร์ปม ‘คงดอกเบี้ย‘ เมินเงินเฟ้อต่ำเป้า-ปรับจีดีพีลง

เปิดบทสัมภาษณ์หนึ่งในคณะกรรมการ กนง.ถึงการดำเนินนโยบายการเงิน เคลียร์เหตุผลปรับตัวเลขเศรษฐกิจ-เงินเฟ้อลง แต่ไม่ลดดอกเบี้ย ชี้เงินเฟ้อต่ำมาจากปัจจัยชั่วคราว ลดดอกเบี้ยไม่ช่วยธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุน

การดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ถือว่ามีบทบาทอย่างมากในการกำหนดทิศทาง “นโยบายการเงิน” หรืออัตราดอกเบี้ยของประเทศ ที่มีส่วนเกี่ยวโยงสำคัญอย่างยิ่งต่อระบบเศรษฐกิจไทย แต่การดำเนินนโยบายการเงินของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ถือว่าไม่ได้ราบเรียบ เพราะทุกครั้งที่มีการตัดสินใจนโยบายการเงิน มักจะมีคำถามหรือคำท้วงติงจากฝ่ายต่างๆ ว่า “นโยบายการเงิน” มีความเหมาะสมหรือไม่ หากเทียบกับระบบเศรษฐกิจไทย 

โดย กนง. มองว่าการท้วงติง หรือคำถามต่างๆ หลังการตัดสินนโยบายการเงินไปแล้วสามารถเกิดขึ้นได้ หรืออาจเป็นสิ่งดีด้วยซ้ำที่มีความเห็นต่างในการดำเนินนโยบายการเงิน เพื่อกนง.จะนำสิ่งเหล่านี้มาคิดให้ครบถ้วนและรอบด้านมากขึ้น

อลิศรา มหาสันทนะ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธปท. ซึ่งเป็นหนึ่งในคณะกรรมการ กนง. ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ DEEP Talk ของ“กรุงเทพธุรกิจ” ถึงมุมมองการดำเนินนโยบายการเงินของกนง. ในช่วงที่ผ่านมา

เริ่มที่ภาพของเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งใน “Data dependent” ที่กนง. นำมาพิจารณาในการตัดสินใจขึ้นหรือลดดอกเบี้ย โดยยอมรับว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยไตรมาส 1 ปี 2567 ซึ่งเติบโต 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนนั้น “ออกมาดีกว่าคาด” จากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวเพียง 1% หรือตลาดคาดขยายตัว 0.8% เหล่านี้ถือเป็นแรงส่งที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยปัจจัยหลักๆ มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งผลให้ภาคบริการ ภาคบริโภคเอกชนขยายตัวดีกว่าที่คาดการณ์

'ส่งออก-หนี้ครัวเรือน’ ปัจจัยเสี่ยง ศก.

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยยังคงมีความเสี่ยงจากด้านส่งออกที่เผชิญปัญหาเชิงโครงสร้าง และการแข่งขันค่อนข้างสูง เช่น สินค้าจากจีน และสินค้าบางรายการอาจไม่ได้เป็นที่ต้องการของตลาดโลก และยอมรับว่าการขยายตัวเป็นไปอย่างไม่ทั่วถึง หรือที่เรียกว่า Uneven โดยบางกลุ่มได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก บางกลุ่มยังได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะจากรายได้ที่ไม่เป็นไปตามเป้า และมีผลกระทบจากภาคครัวเรือนที่มีภาระหนี้สูง ทำให้อาจเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะเอสเอ็มอี ซึ่งต้องให้ความสนใจและดูแลอย่างใกล้ชิดต่อไป

“ธปท.หวังว่าแรงส่งจากการเบิกจ่ายภาครัฐที่จะทยอยปรับตัวดีขึ้น จะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป เป็นผลให้กนง. ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.6% และปีหน้าอยู่ที่ระดับ3%”

ยันเป้าหมายเงินเฟ้อ 1-3%‘เหมาะสม’

ด้านเงินเฟ้อ คาดว่าจะทยอยปรับตัวเป็นบวก ในเดือนเม.ย. เริ่มบวกแล้ว จากก่อนหน้านี้ที่ติดลบต่อเนื่อง 6 เดือน จากปัจจัยด้านอุปทาน ซึ่งสินค้าบางประเภทมีจำนวนมาก รวมทั้งเรื่องราคาสินค้า เช่น เนื้อหมูปรับตัวลดลง และการอุดหนุนนโยบายพลังงานของภาครัฐ ซึ่งกนง. มองว่าเหล่านี้เป็นปัจจัยชั่วคราว

กนง.ประเมินว่าเงินเฟ้อจะค่อยๆ ปรับขึ้น และเข้าสู่ช่วงเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยทั้งปี กนง. ประเมินว่า เงินเฟ้อจะขยายตัวอยู่ที่ 0.6% และปีหน้าจะขึ้นมาสู่ระดับ 1.3% เหตุผลเหล่านี้เป็นผลให้กนง. ปรับประมาณการเงินเฟ้อลง แต่เป้าหมายเงินเฟ้อยังอยู่ในกรอบที่ 1-3% ซึ่งเป็นเป้าหมายระยะปานกลาง 

ส่วนกรณีที่กระทรวงการคลังให้ทบทวนกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนั้น เป็นไปตามกฎหมายที่กนง. และกระทรวงการคลัง ต้องตกลงกันในเรื่องของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติเพื่อใช้ในปีถัดไป ซึ่งการทบทวนถือเป็นกระบวนการที่ทำมาทุกปี ว่าเงินเฟ้อยังทำหน้าที่ได้ดีอยู่หรือไม่

ในการดูแลเรื่องเสถียรภาพราคา และดูแลอัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลาง ที่ผ่านมากรอบเงินเฟ้อปัจจุบันคือ 1-3% ถือว่าทำหน้าที่ได้ดีอยู่ และกนง. มองว่าเป้าหมายเงินเฟ้อที่ 1-3% ยังเป็นระดับที่เหมาะสม

พร้อมขยับ ดบ.ตาม ‘ศก.-เงินเฟ้อ’

ส่วนการดำเนินนโยบายการเงินในปัจจุบัน คณะกรรมการส่วนใหญ่มองว่าอัตราดอกเบี้ยในปัจจุบันเป็นอัตราที่เหมาะสม สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะปานกลาง และเอื้อต่อการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ เหตุผลเหล่านี้เชื่อมโยงกับเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเงินเฟ้อที่เรียกว่า Flexible inflation

ซึ่ง กนง. คาดหวังว่าการดำเนินนโยบายการเงินเป็นตัวที่รักษาเรื่องของเสถียรภาพด้านราคา และเอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาวอย่างยั่งยืน และมีส่วนในการดูแลเรื่องของเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศ

หากย้อนดูสเตทเมนต์ กนง. พูดไว้ชัดเจนว่า ถ้าแนวโน้มเศรษฐกิจหรือเงินเฟ้อเปลี่ยนแปลง ก็พร้อมจะปรับนโยบายการเงินให้เหมาะสม หากกนง.ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในระยะต่อไปว่ามีการเปลี่ยนแปลง หรือในแง่ของเสถียรภาพการเงินมีการเปลี่ยนแปลง ก็มีโอกาสปรับเปลี่ยนนโยบายเรื่องอัตราดอกเบี้ย”

แต่หากดูประมาณการเศรษฐกิจที่ปรับลดต่อเนื่องในช่วง 2-3 ครั้งที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งมาจากภาคส่งออกที่ถูกกระทบจากอุปสงค์คู่ค้าชะลอ และเรื่องความสามารถในการแข่งขัน รวมทั้งปัญหาเชิงโครงสร้างหลายธุรกิจ มีสินค้าส่งออกหลายประเภทที่ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ หรือแข่งขันได้ลดลง ปัญหาเหล่านี้มาจากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยเรื่องอัตราดอกเบี้ย

กรณีที่เงินเฟ้อต่ำกว่าเป้า แต่เหตุใดกนง.ไม่ลดดอกเบี้ย หากดูปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อต่ำ มาจากปัจจัยด้านอุปทาน มาจากผลผลิตสูงมาก เยอะมาก ทำให้ราคาลดลง หรือเป็นปัจจัยจากการอุดหนุนราคาพลังงาน ซึ่งเป็นประเด็นชั่วคราว เมื่อลดดอกเบี้ยก็คงไม่ช่วย

ลดดบ.ไม่ช่วยกลุ่มเปราะบาง-เอสเอ็มอี

ขณะเดียวกันการลดดอกเบี้ย ยังมีประเด็นมุมมองเรื่องเสถียรภาพเช่นเดียวกัน ซึ่งเป้าหมายของการดำเนินนโยบายการเงินคือเรื่องของศักยภาพเศรษฐกิจการเงิน การลดดอกเบี้ยจะแอดเดรสเรื่องของปัญหาของพวกกลุ่มเปราะบาง หรือเอสเอ็มอี ซึ่งมีปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสภาพคล่อง หรือลดปัญหาภาระหนี้สินได้หรือไม่ คงช่วยไม่ได้มาก เพราะอัตราดอกเบี้ยมีสัดส่วนค่อนข้างน้อยหากเทียบกับ รายจ่ายทั้งหมด ส่วนเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของเอสเอ็มอี อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงอาจไม่ได้ช่วยมาก แต่มาจากความเสี่ยงด้านเครดิตของเอสเอ็มอี

ขณะเดียวกัน การลดดอกเบี้ยไปมาก อาจทำให้กระบวนการที่ Deleveraging หรือกระบวนการลดหนี้ชะลอลง ซึ่งจะมีผลต่อเสถียรภาพในระยะยาวของประเทศ เพราะว่าหนี้อยู่ในระดับสูง อาจบั่นทอนเรื่องของการเติบโตในระยะยาวของเศรษฐกิจได้ ดังนั้น ดอกเบี้ยอาจไม่ได้เป็นปัจจัยหลักในการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

ที่สำคัญ กนง.ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระดับปัจจุบัน อยู่ในระดับที่เหมาะสมกับศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศแล้ว บทบาทของดอกเบี้ยไม่ได้ฉุดรั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจและไม่ได้กระตุ้น ขณะเดียวกันยังดูแลเสถียรภาพด้านเศรษฐกิจการเงิน จึงเป็นการประเมินที่สะท้อนว่าเหตุใดจึงตัดสินใจคงดอกเบี้ยนโยบาย แม้จะไม่ใช่เสียงเอกฉันท์ แต่เสียงส่วนใหญ่ประเมินว่าอัตราดอกเบี้ยระดับปัจจุบันเหมาะสมแล้ว

ยันคำนึงปัจจัยรอบด้านก่อนตัดสินใจ 

ส่วนคำถามที่ว่า การที่กนง.เลือกคงดอกเบี้ย 2.5% ต้องการแสดงให้เห็นว่ามีความเป็นอิสระ การเมืองไม่สามารถแทรกแซงได้นั้น ความเห็นของภาคส่วนต่างๆรวมทั้งภาครัฐ เรื่องนโยบายอัตราดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่กนง. รับฟัง และนำมาพิจารณาอยู่แล้ว แต่การตัดสินใจเรื่องการดำเนินนโยบายการเงิน ต้องมีการประเมินภาพเศรษฐกิจและแนวโน้มข้างหน้า ทั้งแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมทั้งเสถียรภาพทางเศรษฐกิจโดยคำนึงถึงปัจจัยรอบด้าน

รวมถึงพิจารณามุมมองของภาคส่วนต่างๆ ไม่ได้มองเฉพาะตัวเลขเศรษฐกิจ แต่มีการหารือกับผู้ประกอบการภาคเอกชนมาประกอบการพิจารณา เพื่อประเมินภาพข้างหน้า และพิจารณาอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม โดยการพิจารณาและคำนึงถึงเป้าหมายการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งมุ่งหวังจะดูแลเสถียรภาพด้านราคา มุ่งหวังที่จะให้เศรษฐกิจขยายตัวในระยะยาวอย่างยั่งยืน และดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงิน

“กนง.รับฟังข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน แต่การพิจารณาตัดสินใจนโยบายการเงิน เป็นการพิจารณาของกรรมการแต่ละท่าน ซึ่งอาจมีมุมมอง และการชั่งน้ำหนักถึงผลกระทบสิ่งที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ที่ไม่ใช่แค่มองเพียงผลระยะสั้นเท่านั้น ในลักษณะที่เป็นทั้งผลดีและผลเสีย ทั้งเรื่องที่เป็นผลต่อเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ และเสถียรภาพเศรษฐกิจ”