ญี่ปุ่นพร้อมเสี่ยง! จ่อทุ่มเงินกองทุน 6 แสนล้านดอลลาร์ ลงทุน ‘หุ้น - บอนด์’ ต่างชาติ

ญี่ปุ่นพร้อมเสี่ยง! จ่อทุ่มเงินกองทุน 6 แสนล้านดอลลาร์ ลงทุน ‘หุ้น - บอนด์’ ต่างชาติ

วาฬญี่ปุ่นพร้อมเสี่ยง! จ่อทุ่มเงินกองทุนบำนาญแห่งชาติที่ใหญ่ที่สุดในโลกกว่า 6.3 แสนล้านดอลลาร์ ไปลงทุน ‘หุ้น - บอนด์’ ต่างประเทศ เล็งจ้างนักวิเคราะห์บริหารจัดการเงินภาครัฐ

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียรายงานว่าญี่ปุ่นกำลังโยกเงินบำนาญสาธารณะมูลค่าเกือบ 6.38 แสนล้านดอลลาร์ หรือประมาณ  23 ล้านล้านบาท ไปลงทุนเชิงรุกในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย โดยการเคลื่อนไหวนี้ได้รับแรงผลักดันจากกองทุนบำนาญแห่งชาติ (Government Pension Investment Fund: GPIF) ซึ่งเป็นกองทุนบำนาญที่ “ใหญ่ที่สุดในโลก” ซึ่งกำลังขยายการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ และพันธบัตรต่างประเทศ ถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าตราสารหนี้ญี่ปุ่นทั่วไป

การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนถึงความพยายามทั่วโลกของกองทุนบำนาญในการแสวงหาผลตอบแทนที่สูงขึ้นจากการลงทุน ซึ่ง GPIF ได้รับฉายาว่า "วาฬ" เนื่องจากมีอิทธิพลมหาศาลต่อตลาดการเงิน ด้วยสินทรัพย์ภายใต้การบริหารมูลค่ามหาศาลกว่า 200 ล้านล้านเยน หรือราว 46 ล้านล้านบาท

การเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นสอดคล้องกับเป้าหมายของนายกรัฐมนตรี “ฟุมิโอะ คิชิดะ” ในการสร้างเสริมภาคการบริหารสินทรัพย์ของญี่ปุ่น โดย คิชิดะ กล่าวในการประชุมนักลงทุนทั่วโลกที่จัดโดยมอร์แกน สแตนเลย์ เมื่อวันที่ 22 พ.ค.67 ที่ผ่านมา ว่าจะมีการประกาศริเริ่มเกี่ยวกับการปรับปรุงการบริหารสินทรัพย์ของกองทุนรัฐวิสาหกิจทั้ง 9 แห่ง ที่ดูแลเงินราว 300 ล้านล้านเยน ซึ่งรวมถึงกองทุนเงินบำนาญแห่งชาติ

ผู้จัดการของกองทุนเหล่านี้ ยึดถือแผนการจัดสรรสินทรัพย์พื้นฐาน โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุนเท่าๆ กันที่ 25% ในการลงทุนทั้ง 4 คือ หุ้นญี่ปุ่น หุ้นต่างประเทศ พันธบัตรในประเทศ และพันธบัตรต่างประเทศ เพื่อปรับสมดุลการลงทุนอย่างสม่ำเสมอ 

สมาชิกพรรคเสรีประชาธิปไตยซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ได้เสนอแนะให้เพิ่มจำนวนพนักงานด้านการลงทุนมืออาชีพของกองทุนรัฐวิสาหกิจเหล่านี้ และกระจายการจัดสรรสินทรัพย์ให้มีความหลากหลายมากขึ้น

รวมทั้งพิมพ์เขียวด้านนโยบายการคลัง และเศรษฐกิจของรัฐบาล ซึ่งมีกำหนดเผยแพร่ในเดือนมิถุนายน คาดว่าจะมีการเรียกร้องให้ดำเนินการต่างๆ เช่น การจ้างพนักงานมืออาชีพด้านการลงทุนเพิ่มเติม เพื่อบริหารจัดการเงินภาครัฐ

ทั้งนี้กองทุนเงินบำนาญแห่งชาติ ได้ว่าจ้างประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนจากภาคเอกชน และกำลังเพิ่มจำนวนพนักงาน โดยกองทุนจะทำการคัดเลือกกองทุนที่ลงทุนเชิงรุกโดยอาศัยการวิเคราะห์ข้อมูล และตรวจสอบพอร์ตการลงทุนทุกสัปดาห์

ขณะเดียวกันกองทุนเงินบำนาญสาธารณะอื่นๆ ก็ได้ดึงบุคลากรมาจากหน่วยงานรัฐบาลอื่นๆ และจากนอกภาครัฐ แต่ผู้เชี่ยวชาญวิจารณ์ว่า ยังขาดผู้นำที่ชัดเจนในการดำเนินงานด้านการลงทุน

“สำหรับการบริหารความเสี่ยง ต้องมีผู้เชี่ยวชาญที่มีอำนาจในการตัดสินใจ ซึ่งรวมถึงการตัดขาดทุน" เจ้าหน้าที่เศรษฐกิจระดับสูงกล่าว

อย่างไรก็ดี GPIF ไม่ใช่หน่วยงานเดียวที่รับผิดชอบเงินภาครัฐในญี่ปุ่น เพราะยังมีกองทุนอื่นๆ อีกมากมาย เช่น สหพันธ์สมาคม สหประชาผลสัญญาบริการภาครัฐ (KKR) สมาคมกองทุนบำนาญสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่น และบริษัทส่งเสริม และสหประชาผลเพื่อโรงเรียนเอกชนแห่งญี่ปุ่น ที่ดูแลเงินบำนาญ และเงินออมอื่นๆ ซึ่งรวมกันแล้ว กองทุนเหล่านี้มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการมากกว่า 400 ล้านล้านเยน กล่าวคือ การเคลื่อนไหวของกองทุนเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อตลาดการเงินของญี่ปุ่น

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์