มองภาพสั้นหวังภาพยาว

มองภาพสั้นหวังภาพยาว

การจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นต่ำสุดในรอบ 6 เดือน อัตราการว่างงานที่สูงกว่าคาด รวมถึงอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มคิดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยในเร็วๆนี้

ปัจจัยเรื่องอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่จะมีผลต่อการเริ่มปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงเป็นครั้งแรก ยังคงเป็นแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ประกอบกับเรื่องสถานการณ์ทางการมืองระหว่างประเทศ นอกจากจะมีที่ยุโรปกับตะวันออกกลาง แต่ล่าสุดก็มาวนเวียนอยู่ที่ไต้หวัน กับจีน โดยมีสหรัฐฯ มาเป็นคนเติมฟืนไฟให้ โดยประเด็นเหล่านี้ เป็นปัจจัยของตลอดเดือนพ.ค. ที่ผ่านมา ส่วนในประเทศไทย ผมว่าเรื่องน่ากังวลน่าจะมาอยู่ในเดือนมิถุนายน ขอเริ่มจากตัวเลขสหรัฐฯ

สหรัฐฯ รายงานตัวเลขตลาดแรงงานประจำเดือนเมษายนแย่กว่าที่ตลาดคาดการณ์ทุกตัว ไม่ว่าจะเป็น การจ้างงานนอกภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้นต่ำสุดในรอบ 6 เดือน อัตราการว่างงานที่สูงกว่าคาด รวมถึงอัตราค่าจ้างรายชั่วโมงที่ขยายตัวต่ำกว่าคาด ทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เริ่มคิดว่าจะมีการลดดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ แต่ล่าสุด กรรมการ FED ส่วนใหญ่ รวมทั้งประธาน FED ก็ออกมาพูดไปในทางเดียวกันว่า FED สามารถที่จะชะลอการตัดสินใจในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยออกไปก่อนเพื่อรอดูความชัดเจนของการชะลอตัวลงของอัตราเงินเฟ้อ โดยคณะกรรมการบางคน ได้แสดงความเห็นถึงขั้นที่ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยยังอยู่ในวิสัยที่เป็นไปได้ หากเงินเฟ้อยังมีทิศทางที่ไม่เปลี่ยนแปลง หลังจากนั้นในการประชุมล่าสุดของ FED มีการประกาศการลดความเร็วในการลดขนาดงบดุลลง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เดือนมิถุนายนนี้ โดยตั้งเป้าการลดการถือครองพันธบัตรสหรัฐฯ เดือนละ 2.5 หมื่นล้านเหรียญฯ จากเดิมที่ระดับ 6.0 หมื่นล้านเหรียญฯต่อเดือน ซึ่งเป็นไปตามระดับปริมาณสำรองของสหรัฐฯไม่จำเป็นต้องทำให้ตึงตัวเกินไป 

ด้านประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สถานการณ์ในยุโรปถือว่าทรงตัวและนักลงทุนส่วนใหญ่ก็มองว่าเป็นสงครามที่จำกัดพื้นที่ไปแล้ว ในขณะที่ตะวันออกกลาง ความบานปลายที่มาจากการตอบโต้ที่รุนแรงของอิสราเอล ทำให้นานาชาติเริ่มกังวลต่อท่าทีของอิสราเอลว่าจะก้าวข้ามจากการกำจัดผู้ก่อการร้ายฮามาส และกลายเป็นปฎิบัติการณ์เพื่อลบทิ้งรัฐอิสระปาเลสไตน์ออกไปจากแผนที่ ขณะที่ จีน ไต้หวัน เป็นสถานการณ์ที่ค่อยๆ ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีสหรัฐฯเป็นผู้กำกับ ใช้ไต้หวันเป็นเสมือนกระบอกเสียงเพื่อท้าทายอำนาจของจีนในภูมิภาคเอเชีย เสมือนที่จีนเข้าไปท้าทายอำนาจของสหรัฐฯอเมริกาในกรณีที่ไม่แบนการค้ากับรัสเซีย ด้านนี้ไม่แผ่ว ด้านการค้าสหรัฐฯก็ยังไม่หยุด ล่าสุด คุณ ไบเด้น ปธน.ของสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มอัตรากำแพงภาษีสินค้านำเข้าจากจีนต่อสินค้าหลายรายการ อาทิเช่นรถยนต์ไฟฟ้า (EV) และสินค้าเทคโนโลยีต่างๆ ถือเป็นความเคลื่อนไหวครั้งใหญ่อีกครั้งในการทำสงครามการค้ากับจีน ก่อนหน้าที่สหรัฐฯจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในช่วงปลายปีนี้ ณ ตอนนี้คงต้องติดตามกันต่อ หนังจอใหญ่ห้ามพลาดครับ

สำหรับ ภาพการลงทุนในประเทศ ก็ยังคงเคลื่อนไหวตามต่างประเทศแต่เป็นไปในแบบหนืดๆ เช่น ถ้าเป็นหุ้น ก็ ขึ้นลงไม่แรง ถ้าเป็นตราสารหนี้ ก็ ยีลส์ เด้งขึ้น ลง แคบ ๆ ปัจจัยในประเทศที่ดูแล้วสบายใจก็เป็นตัวเลขนักท่องเที่ยวและภาพการส่งออก ที่ดีขึ้น มาดูรายละเอียดกัน ครับ สภาพัฒน์รายงานตัวเลข GDP ไตรมาสแรกของไทยขยายตัว 1.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ได้แรงหนุนจากการบริโภคภาคเอกชน ภาคบริการโดยเฉพาะการท่องเที่ยว และการเพิ่มขึ้นของสินค้าคงเหลือ ภาพส่งออก ยอดส่งออกของไทยเดือนเมษายนขยายตัว 6.8% ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะหดตัว 0.2% แถมถ้าหากหักทองคำออกไป จะพบว่าขยายตัวดีถึง 9.6%

มาดูเดือนมิถุนายนกัน คาดว่าจะผันผวนไปกับพัฒนาการของปัจจัยการเมืองภายในประเทศ ซึ่งในเดือนนี้จะมี 3 เหตุการณ์ที่สำคัญได้แก่ 1) การพิจารณายุบพรรคก้าวไกลของศาลรัฐธรรมนูญ (อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา) 2) การพิจารณาคุณสมบัตินายกรัฐมนตรีเศรษฐา ทวีสิน โดยศาลรัฐธรรมนูญ (อยู่ระหว่างรอคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา) 3) การที่สำนักงานอัยการสูงสุด มีคำสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ผิดม.112 และมีการนัดส่งฟ้องศาลในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ดูตามเนื้อผ้าแล้วทั้งสามเรื่องนี่ มีลุ้นทั้งเรื่อง ม็อบ เรื่องเปลี่ยน นายกรัฐมนตรี และเรื่องปรับ ค.ร.ม. แต่ในมุมมองผมซึ่งไม่ได้จะวิเคราะห์การเมือง แต่ขอให้มุมมองด้านการลงทุน เท่าที่ประเมินดูแล้วผมเห็นว่า เป็นแค่ปัจจัยระยะสั้น ตอนนี้งบประมาณเริ่มเดินหน้า ข้าราชการเริ่มใช้งบประมาณได้ และตอนนี้โดยรวมผมว่าไม่น่าจะมีอะไรแย่ไปกว่านี้ การที่ลูกปิงปองใกล้ตกถึงพื้นแล้ว ก็น่าจะเป็นภาพที่ดีกว่าพึ่งจะเริ่มตกลงมานะครับ แล้วพบกันใหม่ฉบับหน้า