กนง. 6:1 ขอให้เป็นสัญญาณบวก
กนง. มีมติให้ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% เช่นเดิม การที่กนง.คงดอกเบี้ยติดต่อกัน 4 ครั้ง น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีให้กับธุรกิจเอสเอ็มอี ขณะเดียวกัน จะทำอย่างไรให้ไทยมุ่งไปสู่ศูนย์กลางการผลิตชิปโลก
เป็นไปตามคาดสำหรับผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วานนี้ (12 มิ.ย.) ที่มีมติให้ คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% เช่นเดิม ด้วยมติ 6 ต่อ 1 เสียง เสียงส่วนใหญ่เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยปัจจุบัน อยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจที่โน้มเข้าสู่ศักยภาพและการรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงิน เป็นการคงอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 4 นับตั้งแต่วันที่ 29 พ.ย. 2566
ขณะที่มี 1 เสียงเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้สอดคล้องกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลงจากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และจะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้ได้บ้าง
เพราะที่ผ่านมา การที่ดอกเบี้ยสูงเกินกว่าศักยภาพของภาคธุรกิจจะรับได้ ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินต่อทุน หนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง รวมทั้งปัญหาหนี้เสีย ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกลาง และลามไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่กันแล้ว
การปิดตัวของโรงงาน 1,700 แห่ง เป็นสิ่งที่ภาครัฐไม่ควรมองข้าม รวมทั้งตัวเลขการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่สภาพัฒน์ ประกาศออกมาล่าสุดขยายตัวได้ 1.5% ที่ต่ำเกือบอันดับท้ายๆ ในอาเซียน ยิ่งเห็นภาพการลงทุนของ 4 บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ ‘Nvidia, Microsoft, Google, ByteDance’ ใน “มาเลเซีย” เม็ดเงินมากกว่า 10,600 ล้านดอลลาร์ แซงหน้าทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน รัฐบาลไทยยิ่งต้องหาคำตอบว่าเกิดอะไรขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการที่ต่างชาติ ยังไม่ตัดสินใจย้ายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเราไม่มีโครงสร้างพื้นฐานรองรับกับอุตสาหกรรมนั้นๆ ส่วนหนึ่งมาจากภาคการผลิตการลงทุนส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมดั้งเดิม
เห็นได้จากดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลบ 18 เดือน สะท้อนถึงขีดความสามารถในการแข่งขัน และบ่งบอกว่าอุตสาหกรรมการผลิตแบบดั้งเดิมไม่เป็นที่ต้องการของตลาด การที่ กนง. คงดอกเบี้ยติดต่อกัน 4 ครั้ง น่าจะเป็นสัญญาณที่ดีให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีสัดส่วน 80-90% ของจีดีพีไทย ที่ตอนนี้มีปัญหาสภาพคล่อง หนี้สินต่อทุน หรือหนี้ครัวเรือนที่อยู่ระดับสูง ไม่ต้องกังวลดอกเบี้ยจะสูง มีความเป็นไปได้ในการชำระหนี้มากขึ้น ซึ่งต้องทำควบคู่ไปกับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหา และมาตรการค้ำประกันสินเชื่อ เพื่อช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อของ SMEs ที่มีศักยภาพ ให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อและสามารถประกอบธุรกิจต่อไปได้
ขณะเดียวกันเราจะทำอย่างไรให้ปรับโครงสร้างภาคการผลิตไปสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตได้ จากการที่ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตฮาร์ดดิสก์โลก ให้สามารถต่อยอดถึงการลงทุนยุคใหม่ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ดึงการลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ รัฐบาลจะมียุทธศาสตร์อย่างไรถึงจะทำให้มีศูนย์กลางผลิตชิประดับโลกเกิดขึ้นในประเทศไทย หรือมีแผนในการส่งเสริมภาคธุรกิจด้านการออกแบบ และบรรจุภัณฑ์ขั้นสูงสำหรับชิปเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เป็นทางรอดของประเทศ ที่สำคัญต้องปรับโครงสร้างการผลิตครั้งใหญ่อย่างจริงจัง เพราะการผลิตแบบเดิมและซ้ำๆ แบบเก่าไม่สามารถแข่งขันและดึงการลงทุนได้