ประเทศนี้มีนายกฯไหม? และใคร...คือนายกฯ?

ประเทศนี้มีนายกฯไหม? และใคร...คือนายกฯ?

คนที่แสดงบทบาทเป็นนายกฯตัวจริง กลับไม่ใช่นายกฯตามกฎหมาย ทำให้ข้าราชการสับสนว่าต้องปฏิบัติตามหรือไม่ ถ้าปฏิบัติตามแล้วมีปัญหา ใครต้องรับผิดชอบ ส่วนประชาชนก็มึนงง ว่าประเทศนี้ใครคุม

ช่วงส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ ในหน้าสื่อทั้งกระแสหลักและโซเชียลฯ มีคอนเทนต์วิเคราะห์ทิศทางการเมืองในปีมะเส็ง 2568 มากมาย แต่เนื้อหาส่วนใหญ่มุ่งไปที่ปัจจัยทางการเมืองล้วนๆ 

ทั้งนายใหญ่ นายน้อย ครูใหญ่ ภูมิใจขวาง สว.สีน้ำเงิน หรือแม้แต่บทบาทในสภาของพรรคประชาชน และม็อบลงถนน 

แต่บางแง่มุมก็อาจจะลืมไปว่า คนการเมืองเขาต่อรองกันได้ และต่อสายพูดคุยกันแทบจะตลอดเวลา เหตุการณ์ต่างๆ ที่ปรากฏออกมาผ่านหน้าสื่อสู่สาธารณะ โดยมากเป็นแค่ละคร

ฉะนั้นสิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือ อารมณ์ความรู้สึกของพี่น้องประชาชนคนธรรมดา และบรรดาข้าราชการน้อยใหญ่ ซึ่งเป็นดั่งเสาหลักของประเทศนี้มากกว่า

ห้วงเวลาก่อนขึ้นศักราชใหม่ ผมมีโอกาสเดินทางไปสถานที่ต่างๆ และพบปะผู้คนหลากหลายในต่างจังหวัด ลองซาวเสียงดูพบว่า อารมณ์ความรู้สึกของคนทั่วๆ ไป ทั้งชาวบ้านร้านตลาด หาเช้ากินค่ำ และคนชั้นกลาง ตลอดไปจนถึงคนมีวุฒิภาวะ มีหน้าที่การงานมั่นคง แทบจะพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ไม่มั่นใจต่ออนาคตของรัฐบาลชุดนี้

ใจลึกๆ ของแต่ละคนไม่ได้ห่วงว่ารัฐบาลจะไปรอดหรือไม่รอด แต่ห่วงว่าประเทศจะไปไม่รอดมากกว่า 

ประเด็นที่ทุกคนกังวลตรงกันคือ

1.ประเทศของเราตอนนี้เหมือนไม่มีนายกฯ ความหมายคือ รู้สึกว่านายกฯไม่เก่ง ไม่แสดงบทบาทในฐานะ “ผู้นำ” ไม่มีแผนยุทธศาสตร์ในการทำงานที่ชัดเจน ทำให้ข้าราชการในฐานะฝ่ายปฏิบัติ รู้สึกไร้ทิศทาง และที่สำคัญคือ ไม่แสดงบทบาทลงไปคลุกกับปัญหา เดินเคียงบ่าเคียงไหล่กับข้าราชการและประชาชน ทำให้รู้สึกห่างเหิน จนถึงขั้น “เหมือนประเทศไม่มีนายกฯ” 

2.คนที่แสดงบทบาทเป็นนายกฯตัวจริง กลับไม่ใช่นายกฯตามกฎหมาย ทำให้ข้าราชการสับสนว่าต้องปฏิบัติตามหรือไม่ ถ้าปฏิบัติตามแล้วมีปัญหา ใครต้องรับผิดชอบ เพราะย่อมไม่ใช่ “นายกฯเงา” แน่ๆ เนื่องจากไม่ต้องรับผิดอะไรอยู่แล้ว 

ส่วนประชาชนก็มึนงงว่าประเทศนี้ใครคุม ครั้นจะเชื่อถือเชื่อมั่น “นายกฯเงา” ก็ไม่กล้าเทใจไปขนาดนั้น เนื่องจากศัตรูท่านก็เยอะเหลือเกิน แผลของท่านเองก็มาก แถมเล่นบทบาทท้าทาย ไต่เส้นลวดรายวัน ทำให้อนาคตของประเทศเปราะบาง เสี่ยงเกิดการเปลี่ยนแปลงแบบคาดไม่ถึงอยู่ตลอดเวลา 

3.นิติสงคราม และเกมการเมืองที่เล่นกัน ทำให้ทั้งประชาชนและคนราชการรู้สึกเบื่อหน่าย คาดเดาทิศทางของประเทศไม่ได้ เพราะมัวแต่ต้องลุ้นกันเป็นรายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน ว่าคดีนั้นจะรอดหรือไม่ คดีโน้นจะโดนหรือเปล่า 

4.เศรษฐกิจของคนรากหญ้าและคนชั้นกลาง “ไม่ดีเลย” แต่ยอมรับว่าบางเซคเตอร์พอไปได้ บางเซคเตอร์อาจจะดี แต่คนรับประโยชน์ไม่ใช่คนส่วนใหญ่ เป็นแค่คนส่วนน้อย ขณะที่การแจกเงินไม่ใช่คำตอบ และคนทั่วไปอยากเห็นรัฐบาลออกแอคชั่นมากกว่านี้ เร็วกว่านี้ และทำให้เห็นผลมากกว่านี้ 

โดยเฉพาะความคึกคักของตลาดค้าขาย ทั้งตลาดจริงๆ ทางกายภาพ และตลาดออนไลน์ ทำอย่างไรไม่ให้ทุนต่างชาติบุก หรือตลาดคึกคักมาก แต่เงินไหลออกเกือบ 100% คนไทยไม่ได้อะไร นอกจากขับรถส่งของ ส่งพัสดุ

อยากเห็นรูปธรรมการดูแลธุรกิจเอสเอ็มอี คล้ายๆ กับที่รัฐมนตรีพิพัฒน์ รัชกิจประการ แห่งกระทรวงแรงงาน เสนอไอเดียนำเม็ดเงินจากกองทุนประกันสังคมมาอุ้ม ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำมาก แต่มีกลไกในการค้ำประกันที่ไม่เหมือนสถาบันการเงิน และไม่ทำให้กองทุนมีความเสี่ยง ทั้งนี้เพื่อตัดปัญหาการเข้าไม่ถึงแหล่งทุนสถาบันการเงินซึ่งมีเงื่อนไขมาก และต้องตั้งสำรองหนี้เสียสูงมาก เป็นต้น

5.ปัญหาสังคมร้ายแรงขึ้นมาก และดูเหมือนทุกหน่วยงานจะแก้ปัญหาแค่เฉพาะหน้า จับแค่ให้เป็นข่าว แต่ไม่ได้ขุดรากถอนโคนปัญหา โดยเฉพาะยาเสพติด หลอกลวงออนไลน์ คอลเซ็นเตอร์ ไม่มีการบูรณาการกันข้ามหน่วยงานอย่างมียุทธศาสตร์เพื่อจัดการอย่างเป็นระบบแท้จริง และรัฐบาลเองก็ไม่ได้แสดงบทบาททำให้เกิดการบูรณาการนั้นด้วย 

ปัญหาสังคมเหล่านี้ทำให้คนไทยยิ่งสิ้นหวัง มีชีวิตอยู่ไปวันๆ แค่รอว่าวันนี้จะถูกหลอกหรือยัง และถ้าโดนหลอกจะตกเป็นเหยื่อไหม บางคนพลิกวิกฤตเป็นโอกาส หันไปเป็นคนหลอกคนอื่นเสียเองก็มี เพราะการเป็นคนดี ก็มีแต่โดน ไม่เห็นได้อะไร และรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยอะไร

ผมคุยกับอดีตข้าราชการระดับสูงหน่วยงานหนึ่ง ซึ่งวันนี้ทำงานใกล้ชิดเบื้องสูง และได้สดับตรับฟังปัญหาจากเพื่อนในแวดวงราชการ พบความห่วงกังวลในประเด็นนอกเหนือจากที่ผมไล่เรียงมาทั้งหมด และน่าจะเป็นจุดเปลี่ยนทางการเมืองในปีนี้ได้เลยทีเดียว

หนึ่ง คือ กรณีชั้น 14 พิจารณาแล้วไม่น่าจะมีช่องทางตัดจบได้โดยไม่มีใครผิด และหากข้าราชการผิด ผลสะเทือนทางการเมืองจะรุนแรง เนื่องจากจะเกิดข้อถกเถียงกันครั้งใหญ่ว่า ตัวของอดีตนายกฯ ต้องกลับไปรับโทษใหม่หรือไม่ เพราะสิทธิต่างๆ ที่ได้รับตามพระบรมราชโองการอภัยลดโทษ อาจถูกตีความว่าเป็นโมฆะ 

คำถามคือรัฐบาลในฐานะผู้นำฝ่ายบริหาร จะหาทางออกในเรื่องแบบนี้อย่างไร เพราะนายกฯ ในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดของรัฐบาล ก็เป็นลูกสาวของอดีตนายกฯที่ต้องถูกวินิจฉัย 

สอง การขาดความเชื่อมั่นในตัวผู้นำรัฐบาล ซึ่งเป็นกระแสในวงกว้างทั้งในและต่างประเทศ จะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจไปในตัว โดยเฉพาะเรื่องเม็ดเงินการลงทุน ส่งผลต่อปัญหาความยากจน และการกระจายรายได้ที่ไปไม่ถึงชนบท โดยที่การแจกเงินไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง

สาม การซื้อขายตำแหน่งราชการ ทั้งด้วยตัวเงินและการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ทางการเมือง เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง หลายตำแหน่งต้องเข้าพบนายหน้าซึ่งอ้างว่าเป็นตัวแทนของรัฐมนตรี หากข้าราชการอยากได้ตำแหน่ง ต้องจ่ายเงินเพื่อแลกกับเก้าอี้ หรือไม่ก็ต้องรับรองว่าเมื่อไปอยู่ในตำแหน่งแล้ว จะช่วยทำให้พรรคการเมืองนั้นๆ ได้รับการสนับสนุนในการเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติ  

เมื่อข้าราชการจ่ายเงินไปแล้ว ก็ต้องมาเอาคืนจากประชาชนที่มารับบริการ จึงทำให้ปัจจุบันการทุจริตคอร์รัปชั่นกระจายไปทั่วทุกวงการ แม้แต่ในหน่วยงานตรวจสอบเองก็ทราบกันดีว่าสามารถใช้เงินวิ่งเต้นเคลียร์กันได้

ทั้ง 3 เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาการเมืองในตัวเองของคนการเมืองโดยแท้ แต่เป็นปัญหาจริงที่เกิดขึ้นกับผู้คน และบ่อนเซาะทำลายระบบธรรมาภิบาลซึ่งคือเสาหลักค้ำยันประเทศไม่ให้เป็น “รัฐล้มเหลว” 

หากรัฐบาลไม่แก้ไข เราจะกลายเป็น “รัฐล้มละลาย” มีหรือไม่มีรัฐบาลก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะรัฐบาลกลายเป็นกลไกในการแสวงประโยชน์ให้พวกพ้อง ผลัดเปลี่ยนกันเข้ามาสูบเลือดประชาชน..เท่านั้นเอง