หั่น ‘ค่าไฟ - ดีเซล’ ดันความเชื่อมั่นรัฐบาล นายกฯ จ่อหารือรีดต้นทุนผลิตไฟฟ้า

หั่น ‘ค่าไฟ - ดีเซล’ ดันความเชื่อมั่นรัฐบาล นายกฯ จ่อหารือรีดต้นทุนผลิตไฟฟ้า

รัฐบาลโชว์แผนลดค่าไฟ 3.70 บาท สร้างความเชื่อมั่น นายกฯ จ่อหารือหน่วยรัฐ เอกชน รีดค่าไฟ 4 แนวทาง ไม่ต่อ Adder ยืดเวลาใช้หนี้ค่า Ft กฟผ. ขอผู้ผลิตไฟลดกำไร จับตาลดดีเซล "ส.อ.ท. - หอการค้า" หนุนลดค่าไฟ ชี้ลดค่าใช้จ่ายทุกภาคส่วนปีละ 1 แสนล้าน นำไปลงทุนจ้างงานดันจีดีพี 0.5%

KEY

POINTS

Key points 

  • 'ทักษิณ' อดีตนายกฯ หารือการลดค่าไฟฟ้ากับ 'พีระพันธุ์' รองนายกฯ และ รมว.พลังงาน เรียบร้อยแล้ว
  • 'แพทองธาร' เตรียมนัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนเพื่อรีดไขมันนำมาลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.70 บาท
  • 4 แนวทางที่จะลดค่าไฟฟ้าได้ เช่น ไม่ต่อ Adder ยืดเวลาใช้หนี้ค่า Ft กฟผ. ขอความร่วมมือผู้ผลิตไฟฟ้าลดกำไร
  • จับตาการลดราคาดีเซลลงต่ำกว่า 33 บาท หลังจากสถานะกองทุนน้ำมันดีขึ้น การติดลบเหลือ 70,000 ล้านบาท
  • "ส.อ.ท. - หอการค้า" หนุนการลดค่าไฟ ชี้จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของทุกภาคส่วนปีละ 1 แสนล้าน

นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการปราศรัยหาเสียงการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย โดยประกาศลดค่าไฟให้เหลือหน่วยละ 3.70 บาท เมื่อวันที่ 5 ม.ค.2568 จากราคาปัจจุบันค่าไฟฟ้างวดเดือนม.ค.-เม.ย.2568 อยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท

ทั้งนี้ นายทักษิณ ระบุว่าได้หารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เพื่อหาทางช่วยกัน โดยเห็นว่ารีดไขมันเพื่อลดค่าไฟฟ้าได้อีก ทั้งนี้ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี พิจารณาแล้ว และจะเรียกหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน เพื่อให้ทุกคนเต็มใจยอมรับการรีดไขมัน

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าปัจจุบันอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท ดังนั้น หากจะทำให้ค่าไฟฟ้าลงมาอยู่ที่ 3.70 บาท จะต้องลดค่าไฟฟ้าลง 0.45 บาท โดยมีแนวทางดำเนินการ ดังนี้

1.ไม่ต่อสัญญาซื้อขายไฟ Adder ปี 2568 ที่จะหมดสัญญาของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก จะช่วยลดค่าไฟลง 15-20 สตางค์ต่อหน่วย จะเหลือค่าไฟราว 3.90 บาทต่อหน่วย แต่ภาครัฐต้องนำต้นทุนที่แบกรับมาในอดีตไปเก็บไว้ก่อน

“ส่วนสัญญา Adder ต้องดูให้รอบคอบ เพราะเมื่อจะหมดอายุรัฐจะตัดทิ้งเลยหรือไม่ เพราะยังมีเงื่อนไขของสัญญาอยู่ และจะกระทบกับกลุ่มโรงน้ำตาลด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

2. ขยายเวลาการจ่ายคืนค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) รับภาระไว้คงเหลือ 80,000 ล้านบาท

3.ขยายเวลาชำระเงินค่าก๊าซให้ กฟผ.และบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ออกไปอีก 

4.ขอให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) และ SPP ลดกำไร ซึ่งข้อนี้อาจจะยากเพราะ IPP มีต้นทุนจากการกู้เงินระยะยาวสร้างโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงให้ประเทศ ในขณะที่ SPP อาจจะลดได้แต่จะกระทบโรงงานอุตสาหกรรม เพราะขายไฟถูกกว่าการไฟฟ้า ซึ่งโรงไฟฟ้า SPP ในนิคมอุตสาหกรรมจะกระทบเป็นลูกโซ่ หากจะไปยำให้ลดตรงนี้ก็ลดได้ราว 5 สตางค์ต่อหน่วย

หั่น ‘ค่าไฟ - ดีเซล’ ดันความเชื่อมั่นรัฐบาล นายกฯ จ่อหารือรีดต้นทุนผลิตไฟฟ้า

แหล่งข่าวกล่าวว่า สิ่งที่นายพีระพันธุ์ นำเสนอผ่านสื่อโซเชียลเป็นเพียงส่วนหนึ่ง ซึ่งพรรคเพื่อไทยทำงานคุมเกมกว่า โดยแนวคิดลดต้นทุนพลังงานโดยเฉพาะค่าไฟฟ้าอยู่ที่พรรคเพื่อไทยทำได้ดีกว่า ซึ่งสิ่งที่นายทักษิณปราศรัย อาจเป็นการย้ำว่าจะปลดนายพีระพันธุ์ ภายหลังจบอภิปรายไม่ไว้วางใจ

“พรรคเพื่อไทยกำลังแสดงให้เห็นว่าลดค่าไฟได้เยอะกว่านายพีระพันธุ์ และทำได้ดีกว่า รวมถึงการเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในธุรกิจไฟฟ้าได้ ตามที่อดีตนายกฯ บอกว่าจะหารือภาคเอกชนเพื่อให้ทุกคนเต็มใจยอมรับการรีดไขมัน” แหล่งข่าวกล่าว

จับตารัฐบาลเดินเกมลดราคาดีเซล

นอกจากนี้ สิ่งที่จะต้องจับตาต่อจากการประกาศลดค่าไฟฟ้าของนายทักษิณลงต่ำกว่าปัจจุบันลงมามากแล้วอีกราคาพลังงานที่ต้องจับตาคือ การปรับลดราคาน้ำมันดีเซลที่ปัจจุบันยังคงมีราคาอยู่ในระดับ 33 บาทต่อลิตร 

รายงานข่าวระบุว่า ปัจจุบันฐานะกองทุนน้ำมัน ณ วันที่ 5 ม.ค.2568 ติดลบอยู่ที่ 75,945 ล้านบาท แบ่งเป็นบัญชีน้ำมันติดลบ 29,009 ล้านบาท และบัญชีแก๊สหุงต้น LPG ติดลบ 46,396 ล้านบาท เทียบกับข้อมูล ณ วันที่ 30 มิ.ย.2567 ติดลบอยู่ถึง 111,338 ล้านบาท โดยในช่วง 6 เดือน ที่ผ่านมาถือว่าสถานะกองทุนปรับตัวดีขึ้นมาก และหากจะลดราคาน้ำมันดีเซลตามแนวคิดพรรคเพื่อไทยจะต้องใช้วิธี คือ 

1.กลไกกองทุนน้ำมันฯ รักษาเสถียรภาพระดับราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ตาม พ.ร.บ.กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ.2562 

2.ขอให้กระทรวงการคลัง ลดภาษีสรรพสามิต ซึ่งที่ผ่านมาสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีการปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลไปรวม 9 ครั้ง ส่งผลให้สูญเสียการจัดเก็บรายได้เข้าประเทศกว่า 1.7 แสนล้านบาท เพื่อตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร 

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสถานะกองทุนเก็บเงินเข้ากองทุนได้เฉลี่ยเดือนละ 7-8 พันล้านบาท แต่กองทุนยังต้องชำระหนี้เงินกู้ยืมทั้งเงินต้น และดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน ที่ได้เริ่มชำระเงินต้นเมื่อเดือนพ.ย.2567 ประมาณ 139 ล้านบาท และเพิ่มการผ่อนชำระหนี้เงินต้นเพิ่มขึ้นในแต่ละเดือนตามวงเงินกู้ยืม ซึ่งในจำนวนนี้ยังไม่รวมดอกเบี้ยเงินกู้ยืมอีก 250-300 ล้านบาท/เดือน โดยจะชำระหนี้เสร็จสิ้นเดือนก.ย.2571

ส.อ.ท.ชี้ “ทักษิณ” มีข้อมูลลดต้นทุนค่าไฟ

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การรีดไขมันของนายทักษิณ จะลดต้นทุนแต่ละทอด ซึ่ง กฟผ.รับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนบวกกำไรไปแล้ว กฟผ.ก็ต้องบวกต้นทุนจุดนี้ด้วย 

รวมทั้งอีกทอดคือ การจ่ายไฟฟ้าให้ประชาชนจะต้องผ่านการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีกรอบ ดังนั้นการบวกค่าใช้จ่ายจึงทำให้ต้นทุนได้ส่งต่อไปสู่ผู้บริโภคทำให้ค่าไฟแพงด้วย

หั่น ‘ค่าไฟ - ดีเซล’ ดันความเชื่อมั่นรัฐบาล นายกฯ จ่อหารือรีดต้นทุนผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ หาก นายทักษิณใช้มาตรการลดค่าใช้จ่าย โดยให้ทั้งรัฐวิสาหกิจ และเอกชนช่วยลดกำไรถือว่าเป็นมาตรการที่ตรงกับที่เอกชนเสนอมาตลอดคือ การลดในส่วนของค่าความพร้อมจ่าย ซึ่งเป็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับเอกชน เป็นต้นทุนที่แฝงไปกับค่าไฟฟ้าด้วย ซึ่งตลอดระยะเวลาแม้ว่าโรงไฟฟ้าจะไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าแต่ภาครัฐก็จะต้องจ่ายในส่วนนี้ด้วยเช่นกัน

นอกจากนี้ ต้นทุนของก๊าซธรรมชาติที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าถึง 60% ได้บวกต้นทุนจุดนี้แล้ว อาทิ กลุ่มบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) ซึ่งมีหลายบริษัท ทั้งบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ซึ่งได้สัมปทานการขุดเจาะปิโตรเลียม เมื่อขุดเชื้อเพลิงขึ้นมาจะนำเข้าโรงแยกก๊าซ ซึ่งมีต้นทุนการผ่านท่อ และนายทักษิณน่าจะเห็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าว่ามีค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง

“ทุกกระบวนการมีการบวกกำไรเป็นทอด จึงเป็นตัวเลขที่คิดได้ว่าน่าจะลดได้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย ซึ่งตรงกับที่ ส.อ.ท.เคยเสนอมาตลอด” นายอิศเรศ กล่าว

นายอิศเรศ กล่าวว่า การเริ่มลดต้นทุนค่าไฟฟ้าเป็นเรื่องดี แต่หากจะให้ยั่งยืนยังต้องมีโครงสร้างที่ดี ประกอบด้วย 

1.การไม่พึ่งพาก๊าซธรรมชาติมากเกินไป 

2.การเปิดเสรีโซลาร์ทั้งระบบ ไม่ใช่แค่การปลดล็อกโซลาร์รูฟท็อป แต่ต้องมีโซลาร์ฟาร์ม และโซลาร์ลอยน้ำด้วย

3.ระบบเน็ตบิลลิ่ง ถือมีความสำคัญเมื่อไฟฟ้าเหลือรัฐบาลจะรับซื้อในราคาที่เหมาะสม ทำให้ผู้ลงทุนได้คืนทุนเร็วขึ้น ซึ่งการเปิดเสรีโซลาร์เป็นเรื่องที่ดีแต่ไม่ควรปลดล็อกแค่ใบอนุญาต รง.4 จะช่วยให้ประชาชนเข้าถึงไฟฟ้าราคาถูก 

4.ไม่ควรเพิ่มจำนวนโรงไฟฟ้าใหม่ให้เกิดต้นทุนเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันดีมานด์ และซัพพลายไม่บาลานซ์ จะเห็นว่าปัจจุบันรีเสิร์ฟมาร์จิน หรือ กำลังการผลิตไฟฟ้าสำรอง สูงเพราะมีการอนุญาตให้มีการตั้งโรงไฟฟ้าเพิ่มเติม

แนะอย่าลงทุนโรงไฟฟ้าเกินจำเป็น

“ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP) ที่ยังไม่ประกาศ ได้เพิ่มสัญญาซื้อขายโรงไฟฟ้าต่อเนื่อง ซึ่งเป็นต้นทุนที่จะเพิ่มขึ้นให้ประชาชน ถ้าจะลดไขมันต้องลดไขมันทุกกระบวนการ และอย่าลงทุนเกินตัว รวมทั้งมองว่าแนวคิดนายทักษิณน่าสนใจ และทำได้จริง"

ทั้งนี้ หากรัฐบาลมอบนโยบายทั้งรัฐวิสาหกิจและเอกชนย่อมปฏิบัติตามอยู่แล้ว ซึ่งสำนักงานกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีข้อมูลการลงทุนของโรงไฟฟ้า และจะคืนทุนเมื่อไหร่ หากจะขยายเวลาการคืนทุนยาวไปอีกหน่อยจะช่วยให้ต้นทุนต่อหน่วยลดลงได้ อีกทั้ง ตามสัญญารัฐก็ต้องซื้อไฟจากเอกชนคู่สัญญาอยู่แล้วจึงควรลดกำไรลงหน่อย ถือเป็นสิ่งที่ ส.อ.ท.เรียกร้องมาตลอด

นอกจากนี้ ส่วนตัวมองว่าสิ่งที่นายพีระพันธุ์ ทำยังแก้ไม่ตรงจุด เช่น การสำรองน้ำมันเพื่อความมั่นคง หรือ Strategic Petroleum reserve (SPR) ที่จะนำมาใช้แทนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เป็นการดึงอำนาจจากกองทุนน้ำมันฯ หลายคนบอกวิธีนี้ล้าสมัยไปแล้ว อีกทั้งแนวคิดคือ ผลักภาระให้โรงกลั่นซื้อ และบริหารจัดการเอง และไม่ให้มาปรับราคาน้ำมันบ่อยๆ ดังนั้น หลายเรื่องที่ทำก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้

“หอการค้า” ชี้ลดค่าใช้จ่ายปีละแสนล้าน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การลดค่าไฟเป็นนโยบายดีต่อภาคธุรกิจ เพราะค่าไฟเป็นหนึ่งในต้นทุนสำคัญของการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว และภาคบริการ 

ขณะเดียวกันเป็นส่วนสำคัญของการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ New industry ที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งคำนึงถึงค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยหลักเนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก การที่ต้นทุนด้านพลังงานลดลงจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทยทั้งใน และต่างประเทศได้

หั่น ‘ค่าไฟ - ดีเซล’ ดันความเชื่อมั่นรัฐบาล นายกฯ จ่อหารือรีดต้นทุนผลิตไฟฟ้า

ทั้งนี้ จากแนวคิดของนายทักษิณ ที่ต้องการให้ค่าไฟฟ้าลดเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย หากทำได้จริงประเมินว่าประหยัดต้นทุนให้ทุกภาคส่วนไม่ต่ำกว่า 100,000 ล้านบาทต่อปี เทียบจากการใช้ไฟฟ้ารวมของประเทศ 200,000 ล้านหน่วย (กิโลวัตต์-ชั่วโมง) ซึ่งมีผลต่อ GDP ได้อีก 0.5% หากเม็ดเงินดังกล่าวถูกหมุนเวียนกลับเป็นการลงทุนหรือการจ้างงานใหม่

นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขด้านการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเข้ามามาก ซึ่งมีมูลค่ามหาศาล และที่ผ่านมาไทยเสียโอกาสไปให้กับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งที่ไทยมีจุดแข็งด้านความเสถียร และกำลังการผลิตไฟฟ้า ขณะเดียวกันในอนาคตก็มีแผนที่จะผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยเสริมเสน่ห์ให้กับประเทศไทยในเรื่องการลงทุนตรงจากต่างประเทศอีกมาก

“หุ้นโรงไฟฟ้า” ร่วงแรง GPSC-BGRIM หนักสุด

หลังจากที่อดีตนายกรัฐมนตรี พูดถึงกรณีการลดค่าไฟลงเหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย ส่งผลกระทบต่อกลุ่มโรงไฟฟ้าสะท้อนผ่านราคาหุ้น 7 โรงไฟฟ้า ปรับตัวลดลงตลอดทั้งวัน (6 ม.ค.2568) เพราะส่งผลให้ทิศทางผลดำเนินงานผันผวน โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า SPP เนื่องจากรายได้ที่ได้รับเป็นในส่วนของค่า Ft เป็นส่วนประกอบถ้าลดลงจะทำให้รายได้ลดลง

สอดรับความเคลื่อนไหว “ดัชนีหุ้นไทย” วันที่ 6 ม.ค.2568 ลดลงแรง 12.11 จุด หรือ 0.87% ทำดัชนีอยู่ที่ 1,372.65 จุด มูลค่าการซื้อขาย 37,212 ล้านบาท โดยหุ้นกลุ่มที่กดดันดัชนีได้แก่ “7 หุ้นโรงไฟฟ้า” ที่ร่วงแรงตลอดวัน นำโดยบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ร่วง 8.05% อยู่ที่ 34.25 บาท, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ร่วง 7.89% อยู่ที่ 17.50 บาท

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ร่วง 2.17% อยู่ที่ 56.25 บาท, บริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ร่วง 2.75% อยู่ที่ 2.12 บาท 

บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ร่วง 1.71% อยู่ที่ 28.75 บาท , บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP ร่วง 1.94% อยู่ที่ 10.10 บาท และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด หรือ EGCO ร่วง 1.74% อยู่ที่ 113 บาท

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์