ส่องอุตสาหกรรมเวียดนาม ควรไปต่อหรือรอก่อน ?

ส่องอุตสาหกรรมเวียดนาม ควรไปต่อหรือรอก่อน ?

เศรษฐกิจเวียดนาม โดยคาดว่า GDP ในปีนี้จะเติบโตขึ้นราว 6 - 6.5% ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เนื่องจากแรงหนุนของอุตสาหกรรมการส่งออก

ปัจจุบัน ‘เวียดนาม’ มีความโดดเด่นอย่างมากในฐานะศูนย์กลางการผลิตสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี สะท้อนได้จากการที่ Apple และ Samsung สองบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เลือกลงทุนด้านห่วงโซ่อุปทานในเวียดนาม ล่าสุด คำสั่งซื้อสินค้ากลุ่มนี้กลับมาเติบโตอีกครั้ง เนื่องจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทั่วโลกที่ปรับตัวดีขึ้น

จากปัจจัยดังกล่าวทำให้ ผู้จัดการกองทุน บลจ.บัวหลวง มีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของเวียดนาม โดยคาดว่า GDP ในปีนี้จะเติบโตขึ้นราว 6 - 6.5% ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่น ๆ ในอาเซียน เนื่องจากแรงหนุนของอุตสาหกรรมการส่งออก อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องเฝ้าระวัง เนื่องจากตลาดมองว่าเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะเติบโตแบบชะลอตัว ไม่เว้นแม้แต่จีนและสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของเวียดนามทั้งคู่

สำหรับการลงทุนระยะยาว อุตสาหกรรมการส่งออกของเวียดนามยังคงมีความน่าสนใจ เนื่องจากสินค้ากลุ่มเทคโนโลยียังคงเป็นเทรนด์หลักของโลก ขณะเดียวกัน เวียดนามก็มีความพยายามยกระดับตนเองไปสู่อุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น เซมิคอนดักเตอร์ ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ระบบขับขี่อัตโนมัติ และพลังงานสะอาด

ซึ่งเรื่องนี้รัฐบาลเวียดนามก็ได้เข้ามาสนับสนุนอย่างแข็งขันผ่านการยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐอเมริกาและญี่ปุ่น โดยได้มีการลงนามข้อตกลงความร่วมมือหลายฉบับ ซึ่งรวมถึงด้านเซมิคอนดักเตอร์และแร่ธาตุสำคัญในการผลิตสินค้ากลุ่มเทคโนโลยี ปัจจัยเหล่านี้ล้วนทำให้อุตสาหกรรมการส่งออกของเวียดนามมีการเติบโตที่ยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว

อีกหนึ่งปัจจัยที่สนับสนุนให้เศรษฐกิจของเวียดนามเติบโตคือการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนทางการเงินต่ำลง และทำให้ภาคการผลิตมีการกลับมาจ้างงานอีกครั้ง ขณะเดียวกันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับ 4% ตามกรอบเป้าหมายก็ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะจับจ่ายมากขึ้น จึงเริ่มมองเห็นการเติบโตของสินค้าฟุ่มเฟือยและการเติบโตของผลิตภัณฑ์สินเชื่อ ซึ่งคาดว่าจะช่วยหนุนผลประกอบการของกลุ่มธนาคาร ในระยะต่อไป

สำหรับภาคอสังหาริมทรัพย์ของเวียดนามได้อานิสงส์บวกจากการลดดอกเบี้ยการจดจำนองและการทบทวนกฎหมายที่ดินใหม่ ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจที่จะซื้ออสังหาริมทรัพย์มากขึ้น และกระตุ้นให้ผู้พัฒนาฯ ดำเนินโครงการต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ภาคอสังหาริมทรัพย์ในตอนนี้ยังมีความกังวลเรื่องความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้คอยกดดันอยู่ ทำให้การฟื้นตัวจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งสวนทางกับกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ที่นอกจากจะได้รับผลบวกจากผู้พัฒนาฯ ที่ดำเนินโครงการต่อเนื่องแล้ว ยังได้แรงหนุนระยะยาวจากการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลอีกด้วย

จะเห็นได้ว่าการลงทุนในเวียดนามตอนนี้ยังมีหลายปัจจัยที่ต้องจับตาใกล้ชิด และการลงทุนรายอุตสาหกรรมจำเป็นต้องใช้ความเชี่ยวชาญ การลงทุนในเวียดนามผ่านกองทุนรวมจึงมีความน่าสนใจมากกว่าสำหรับนักลงทุนมือใหม่ หรือผู้ที่ไม่มีเวลาในการติดตามข่าวสาร เนื่องจากการลงทุนผ่านกองทุนรวมจะมีผู้จัดการกองทุนคอยดูแล และคอยปรับพอร์ตการลงทุนให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง