‘วิรไท’ ห่วงเศรษฐกิจไทย ภูมิคุ้มกันต่ำ ภาครัฐ-ครัวเรือนเผชิญหนี้ท่วม
‘วิรไท‘ อดีตผู้ว่าธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยน่าห่วงกว่าวิกฤติปี40 หนี้รัฐ-ครัวเรือนท่วม คนไทยภูมิคุ้มกันรับปัจจัยเสี่ยงต่ำ หวั่นปัญหาสะสม ไม่แก้ไขลากไทยสู่วิกฤติ
“ภาพเศรษฐกิจไทยแย่ลง หากเทียบกับความท้าทายที่เราต้องเผชิญทั้งในปัจจุบันและอนาคตแย่ลงทั้งภาครัฐในระดับมหภาค ระดับครัวเรือน แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีภูมิคุ้มกันในระดับที่น่าห่วง”
นี่คือคำกล่าวของ “วิรไท สันติประภพ” อดีตผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ฉายภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ผ่านรายการ “Deep Talk” กรุงเทพธุรกิจ ในช่วงที่ผ่านมา
“วิรไท” กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยวันนี้ “แย่ลง” หากเทียบกับปี 2540 ทั้งในระดับภาครัฐ ที่เป็นมหภาค และภาคครัวเรือนไทย ที่ปัจจุบันเผชิญปัญหาหนี้สูงขึ้นต่อเนื่อง
คนไทยที่มีเงินออมเพียงพอที่จะดูแลตัวเองมีสัดส่วนค่อนข้างน้อย อีกทั้งคนไทยเป็นหนี้เร็วขึ้น เป็นหนี้เสียมากขึ้น เหล่านี้แสดงให้เห็นว่า ภูมิคุ้มกันในระดับครัวเรือนอยู่ในระดับที่น่าเป็นห่วง!
หากถามว่าเศรษฐกิจไทยมีความสามารถในการรับแรงกระแทกได้หรือไม่ เวลาที่เกิดวิกฤติภายนอกประเทศเกิดเหตุการณ์อะไรที่ไม่พึงประสงค์ คนมักจะคิดถึง 2-3ตัว
ตัวแปรแรก ทุนสำรองระหว่างประเทศเพียงพอหรือไม่ หากทุนสำรองระหว่างประเทศมีจำกัด เวลาที่เกิดเหตุการณ์อะไรขึ้นเงินก็ไหลออกได้ง่าย เหล่านี้ส่งผลกระทบทั้งเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยภายในประเทศ และสภาพคล่องภายในประเทศให้ลดลงด้วย ดังนั้นหากดูทุนสำรองในปัจจุบันของไทยเทียบวิกฤติปี 2540 วันนี้ทุนสำรองระหว่างประเทศของไทยอยู่ระดับสูง มีความมั่นคง และไม่คิดว่าจะเป็นปัญหาในระยะข้างหน้า
อีกตัวแปรที่สำคัญ คือ ฐานะของภาคการคลัง ปฏิเสธไม่ได้ว่า ปี 2540 ภาครัฐ ใช้เงินค่อนข้างมากเพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินและดูแลเศรษฐกิจ ส่งผลให้หนี้ภาครัฐกระโดดขึ้น
แต่ต่อมา การทำนโยบายประชานิยมหรือกึ่งประชานิยมมากขึ้น ถือเป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ ทำให้หนี้ภาครัฐกระโดดขึ้นมากเช่นเดียวกัน จนกระทั่งเจอกับวิกฤติโควิด-19 ที่ภาครัฐต้องเข้ามาช่วยดูแลประชาชนและช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้หนี้ภาครัฐกระโดดขึ้นมาเหมือนขั้นบันไดสูงขึ้นต่อเนื่อง
วันนี้ หนี้ภาครัฐของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างค่อนข้างสูง หากมองไปข้างหน้า การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ก็มีความจำเป็นของภาครัฐที่จะต้องจัดสรรเงินมาดูแลสวัสดิการให้กับประชาชน รายจ่ายของภาครัฐในอนาคตน่าจะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้นเรื่องนี้น่าห่วง
โดยเฉพาะเมื่อผู้มีอำนาจรัฐ อาจไม่ได้ระมัดระวังในเรื่องของวินัยการเงินการคลัง ไม่ได้คำนึงถึงความคุ้มค่าของการใช้งบประมาณภาครัฐหรือมีการใช้งบประมาณภาครัฐที่ยังมีลักษณะเป็นประชานิยมมากๆ ที่อาจกระทบกับคนที่อยู่ในฐานะยากจน ที่จะใช้เงินไม่ระมัดระวัง จนอาจสร้างผลกระทบและภูมิคุ้มกันของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวให้ลดลงได้
ยิ่งไปกว่านั้น หากดูความสามารถในการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างน้อยทั้งจากวิกฤติภูมิอากาศ ปัญหาโลกเดือด การแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศก็จะรุนแรงมากขึ้น ในขณะที่คนไทยจำนวนมากฝากชีวิตไว้ก็คือภาคเกษตรเป็นภาคที่เปราะบางมากกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาวะภูมิอากาศ อีกทั้งยังกระทบต่อผลผลิตในภาคการเกษตรให้ลดลง หรือกระทบต่อภาคท่องเที่ยว
“เราคงไม่ได้เจอวิกฤติเหมือนปี 2540 แต่หากปล่อยปัญหาเหล่านี้ไว้ จะทำให้ทุกอย่างถดถอยลงไปเรื่อยๆ แล้วมันก็จะดึงกลับขึ้นมายาก โดยเฉพาะเมื่อคู่แข่งของเรากำลังวิ่งไปข้างหน้า แต่เราอยู่กับที่หรือเดินถอยหลังด้วยซ้ำไป ตอนที่เราอยู่กับที่อาจจะไม่รู้สึกว่าถอยหลัง เพราะว่าเราก็จะวุ่นวายกับเรื่องที่เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศ ดังนั้นอาจจะไม่ได้เกิดวิกฤติทันที แต่ถ้าสะสมไปเรื่อยๆ ถึงจุดหนึ่งก็น่าห่วง”
ดังนั้นในภาพรวม ยอมรับว่า ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเผชิญความท้าทายสูงขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต และหากย้อนดูภาพ “เศรษฐกิจไทย” ช่วงเกือบ 30 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก และมีพัฒนาการหลายด้าน ซึ่งเรื่องที่จำเป็นสำหรับเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า
เรื่องแรกในเรื่องของการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาค หากดูโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันสิ่งที่พึงมี มองว่ามี 4 แกนหลัก คือ การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) การกระจายผลประโยชน์อย่างทั่วถึง (Incusivity) การสร้างภูมิคุ้มกัน (Immunity) และความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลง(Adaptability)
เช่นในเรื่องของผลิตภาพ ภายใต้ทรัพยากรที่มีอยู่จำกัด ดังนั้นทำอย่างไรที่จะสร้างคุณค่าสร้างรายได้สร้างผลประโยชน์ผลลัพธ์ให้เกิดขึ้นได้มากที่สุด แม้ผลิตภาพของเศรษฐกิจไทยก็เพิ่มขึ้นบ้าง
“ความท้าทายที่เราต้องเผชิญเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ไทยน่าห่วง ยิ่งหากดูจากภาคสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่มีผลกระทบกับชีวิตคนส่วนมาก เช่น ภาคเกษตร ที่ผลผลิตต่อไร่ของพืชหลักแทบจะทุกชนิดคงที่ และอยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ ขณะที่คู่แข่งของไทยมีผลิตภาพในภาคเกษตรที่สูงขึ้น จากการใช้เครื่องจักรเข้าไปในการทำการเกษตร ส่งผ่านต้นทุนถูกลง ดังนั้นเมื่อแข่งขันในตลาดโลกจึงมีความสามารถในการแข่งขันสูงกว่าประเทศไทย หรือแม้แต่ผลิตภาคด้านการศึกษาของไทยที่อยู่ระดับต่ำ”
ยิ่งในอนาคต ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงอายุเต็มรูปแบบ คนไทยมีวัยทำงานลดลง รัฐบาลมีภาระในการดูแลผู้สูงอายุมากขึ้น แปลว่า คนไทยจะต้องหารายได้มากขึ้นมากขึ้น ดังนั้นการทำสิ่งเหล่านี้ได้ผลิตภาพคนไทยจะต้องเพิ่มขึ้น เพื่อให้มีความสามารถที่จะหารายได้เพียงพอที่จะเลี้ยงดูผู้สูงวัยในสังคม เพราะหากไม่สามารถยกระดับผลิตภาพของประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้ เหล่านี้จะสร้างปัญหาต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าอีกมาก โดยเฉพาะกระทบต่อคุณภาพการดำเนินชีวิตในระยะยาวที่อาจไหลลงต่อเนื่อง
ในทางกลับกันการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ทำได้ยาก โดยเฉพาะการปฏิรูปที่เกิดขึ้นได้ยาก ภายใต้ปัญหาของเศรษฐกิจไทย ที่ยังมีความเหลื่อมล้ำที่ขยายกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนหนึ่งมองว่า ทั้งความสามารถในการแข่งขันของเอสเอ็มอี ที่ไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงกับคู่แข่งที่ใหญ่กว่าในประเทศไทย รวมทั้งสินค้านำเข้าจากประเทศที่เป็นฐานการผลิตใหญ่ที่มีต้นทุนต่ำที่ออกมาจำนวนมาก
จะเห็นว่า เหล่านี้เป็นปัญหาสำคัญ หลายภาคส่วนของประเทศไทยไม่สามารถยกผลิตภาพขึ้นมาได้ โดยเฉพาะ “เอสเอ็มอีไทย” ที่สายป่านสั้น เป็นแหล่งจ้างงานของคนไทยจำนวนมาก ยิ่งปล่อยไว้ รังแต่จะสร้างปัญหา และยิ่งสร้างความเหลื่อมล้ำต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เชื่อว่าเป็นประเด็นที่น่าห่วงอย่างมาก