‘กองทุนบำนาญญี่ปุ่น’ให้ผลตอบแทนสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 10 ล้านล้านบาท
‘กองทุนบำนาญญี่ปุ่น’ GPIF ให้ผลตอบแทนประจำปีสูงเป็นประวัติการณ์ 2.8 แสนล้านดอลลาร์ ผลพวง ‘เยนอ่อนค่า’ ดันมูลค่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศมีกำไรพุ่ง หวั่น ‘ขึ้นค่าแรง’ กดดันผลตอบแทนที่มากขึ้น
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า กองทุนเพื่อการเลี้ยงชีพขนาดใหญ่ที่สุดในโลกของรัฐบาลญี่ปุ่น GPIF (The Government Pension Investment Fund) ให้ผลตอบแทนประจำปีสูงเป็นประวัติการณ์ 2.8 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 10 ล้านล้านบาท) ในปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม เนื่องจากการปรับตัวขึ้นของราคาหุ้นทั่วโลกโดยมีแรงหนุนจาก “เยนอ่อนค่า” ทำให้สามารถทำกำไรจากการลงทุนต่างประเทศที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นเมื่อแปลงกลับเป็นสกุลเงินเยน
ข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข แรงงานและสวัสดิการ ระบุว่าผลตอบแทนรวมของกองทุนในช่วง 5 ปีงบประมาณที่สิ้นสุดในเดือนมีนาคม 2567 อยู่ที่ประมาณ 106 ล้านล้านเยน ซึ่งสูงกว่าประมาณการในปี 2562 ถึง 6 เท่า รวมทั้งสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2567 ระบบเงินบำนาญมีเงินสำรองอยู่ที่ 291 ล้านล้านเยน ซึ่งสูงกว่าประมาณการถึง 70 ล้านล้านเยน
ในปีงบประมาณ 2566 กองทุน GPIF มีกำไรจากสินทรัพย์ประเภทหลัก 3 จาก 4 ประเภท ดังนี้
- หุ้นต่างประเทศ: ทำกำไร 19.3 ล้านล้านเยน
- หุ้นในประเทศ: ทำกำไร 19.4 ล้านล้านเยน
- ตราสารหนี้ต่างประเทศ: ทำกำไรกว่า 7.8 ล้านล้านเยน
ทั้งนี้ ตราสารหนี้ในประเทศเป็นสินทรัพย์ประเภทเดียวที่ขาดทุน โดยสูญเงินไปกว่า 1 ล้านล้านเยน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวสูงขึ้น
มาซาทากะ มิยาโซโนะ ประธานกองทุน GPIF กล่าวว่า “แนวโน้มการลงทุนที่ดีขึ้นชี้ว่ากองทุน GPIF มีส่วนช่วยเหลือระบบเงินบำนาญ”
ขณะนี้เป้าหมายผลตอบแทนจากการลงทุนของกองทุนในปัจจุบัน ตั้งไว้ที่ 1.7% เหนืออัตราการเติบโตของค่าแรง อย่างไรก็ตามในการเจรจาค่าแรงช่วงตอนปีที่ผ่านมาบริษัทต่างๆ ตกลงที่จะขึ้นค่าแรงในอัตราที่สูงกว่า 5% ซึ่งหากค่าแรงยังคงปรับตัวสูงขึ้น กองทุน GPIF ก็จะเผชิญแรงกดดันให้สร้างผลตอบแทนที่มากขึ้นด้วย
จากสมมติฐานการเติบโตของค่าจ้างใน 4 สถานการณ์เศรษฐกิจที่ตีพิมพ์ในบทวิจารณ์เงินบำนาญล่าสุดของกระทรวงแรงงาน พบว่าอัตราผลตอบแทนเป้าหมายของกองทุน GPIF อาจเพิ่มขึ้นเป็น 1.8% ถึง 5.4% จากตัวเลขที่ประมาณการไว้ในปี 2561 ที่อยู่ที่ 1.3% ถึง 5%
อย่างไรก็ดี การบรรลุเป้าหมายที่สูงขึ้นอาจมีความท้าทายมากขึ้น มิยาโซโนะ กล่าวว่า การบรรลุเป้าหมายผลตอบแทนจากการลงทุนน่าจะยากขึ้นในขณะนี้ เนื่องจากรัฐบาลและธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กำลังมุ่งเน้นไปที่การขึ้นค่าแรง และทำให้ภาวะเงินเฟ้อมั่นคง
ดังนั้นทางกองทุน GPIF ได้เริ่มหารือเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์การลงทุน รวมถึงการปรับสัดส่วนสินทรัพย์ ซึ่งคาดว่าจะมีการประกาศนโยบายการลงทุนใหม่ในช่วงปลายปีงบประมาณนี้ และจะมีผลใช้ต่อไปอีก 5 ปี เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2568
อ้างอิง nikkei
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์