เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่ง 2.8% กดดัน BOJ ขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ กระทบเยนอ่อนค่า 6 วันติด

เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่ง 2.8% กดดัน  BOJ ขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ กระทบเยนอ่อนค่า 6 วันติด

เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่งแตะ 2.8% จากค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 14.7% กดดัน BOJ ขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ กระทบเงินเยนอ่อนค่า 6 วันติด คาดญี่ปุ่นอาจเข้าแทรกแซง นักวิเคราะห์ชี้ ทรงตัวใกล้ระดับ 160 เยนต่อดอลลาร์ถึงปลายปี

เดอะ วอลล์สตรีท เจอร์นัล รายงานว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของญี่ปุ่นในเดือนพฤษภาคม พุ่งแตะ 2.8%  ขยายตัวเพิ่มขึ้นจาก 2.5% ในเดือนเมษายน จากราคาไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น 14.7% ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงราคาพลังงานโลกที่พุ่งสูงขึ้น ตัวเลขล่าสุดนี้สูงกว่าเป้าหมายเงินเฟ้อ 2% ของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ติดต่อกันเป็นเดือนที่ 24

ก่อนหน้านี้ ธนาคารกลางญี่ปุ่นมีมติลดการซื้อพันธบัตรรัฐบาล ซึ่งเป็นการเปิดประตูสู่การปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้น การตัดสินใจครั้งนี้สอดคล้องกับทิศทางของธนาคารกลางประเทศอื่นๆ ที่กำลังทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับเงินเฟ้อ

เงินเยนอ่อนค่า 6 วันติด

ช่องว่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศอื่นๆ กำลังส่งแรงกดดันต่อค่าเงินเยน คาดการณ์ว่าค่าเงินเยนจะอ่อนค่าลงต่อสกุลเงินหลักๆ

เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่ง 2.8% กดดัน  BOJ ขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ กระทบเยนอ่อนค่า 6 วันติด

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า ‘เงินเยน’ ปิดตลาดที่ระดับ 158.90 เยนต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงต่อเนื่องเป็นเวลา 6 วันติดต่อกัน ซึ่งทุบสถิตินานสุดในรอบ 3 เดือน โดย “มาซาโตะ คันดะ” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังได้ออกมาย้ำอีกครั้งในวันนี้ (21 มิ.ย.67)ว่า รัฐบาลจะดำเนินการที่เหมาะสมตามความจำเป็น

เงินเยนอ่อนค่าลง เนื่องจากความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐยังคงมีอยู่ เนื่องจาก “คาซูโอะ อุเอดะ” ผู้ว่าการธนาคารกลางญี่ปุ่น ไม่ได้ระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการลดการซื้อพันธบัตรในการประชุมครั้งล่าสุดที่ผ่านมา ซึ่งการไม่มีกรอบเวลาดังกล่าว ทำให้นักลงทุนสับสนว่าญี่ปุ่นจะปรับนโยบายการเงินสู่ภาวะปกติเมื่อใด ซึ่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยตามปกติจะเป็นปัจจัยช่วยพยุง "ค่าเงินเยน"

นักวิเคราะห์จากธนาคาร Barclays นำโดย ชินอิจิโร่ คาโดตะ ระบุว่า “ตราบใดที่ความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยระหว่างสหรัฐ-ญี่ปุ่นยังคงเกินกว่าระดับหนึ่ง การเทขายเงินเยนจากการเก็งกำไรอัตราดอกเบี้ยก็จะไม่ลดลง แม้ว่าความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยจะแคบลงบ้างก็ตาม"

คาโดตะ มองกรอบค่าเงินเยนน่าจะเคลื่อนไหวที่ระดับรอบๆ 160 เยนต่อดอลลาร์ไปจนถึงปลายปี

สหรัฐประกาศเฝ้าระวัง ‘เงินเยน’

วานนี้ (20 มิ.ย.67) กระทรวงการคลังสหรัฐได้ประกาศเพิ่มญี่ปุ่นลงในบัญชีเฝ้าระวังอัตราแลกเปลี่ยน  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายงานต่อสภาคองเกรส แต่ในรายงานไม่ได้ระบุชื่อญี่ปุ่นหรือประเทศอื่นใดเป็นผู้ปั่นค่าเงิน และแม้ว่ารายงานจะกล่าวถึงการแทรกแซงค่าเงินของญี่ปุ่นในเดือนเมษายน และพฤษภาคม แต่เนื้อหาหลักของรายงานเน้นที่ดุลการค้า และดุลบัญชีเดินสะพัดสุทธิระหว่างประเทศของญี่ปุ่นที่มีขนาดใหญ่

เงินเฟ้อญี่ปุ่นพุ่ง 2.8% กดดัน  BOJ ขึ้น ‘ดอกเบี้ย’ กระทบเยนอ่อนค่า 6 วันติด

ฮิโรชิกะ คันดะ รัฐมนตรีว่าการคลังญี่ปุ่น กล่าวว่า รายงานของสหรัฐไม่ได้ระบุปัญหาใดๆ กับนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของญี่ปุ่น และการแทรกแซงค่าเงินไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของสกุลเงิน

นักวิเคราะห์บางคนคาดการณ์ว่า การแทรกแซงอาจเกิดขึ้นเยนอ่อนค่าแตะระดับ 163 เยนต่อดอลลาร์หรือมากกว่านั้น

ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่าญี่ปุ่นน่าจะเคยเข้าแทรกแซงค่าเงินเยนไปแล้วครั้งหนึ่ง  เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 หลังจากเยนอ่อนค่าแตะระดับ 160.17 เยนต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2533

เฮเลน กิเวน ผู้ทำการซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศจาก Monex Inc. มองว่า เจ้าหน้าที่ดูแลค่าเงินของญี่ปุ่นอาจยอมแพ้กับสถานการณ์เงินเยนอ่อนค่าลงต่อเนื่อง โดย กิเวนวิเคราะห์ว่าความแตกต่างของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระหว่างสหรัฐกับญี่ปุ่นนั้นสูงจนยากที่จะแก้ไข รวมทั้งนโยบายการเงินของสหรัฐที่มีแนวโน้มลดอัตราดอกเบี้ยเพียงครั้งเดียวในปีนี้ ส่งผลจำกัดโอกาสที่ญี่ปุ่นจะสามารถปรับนโยบายการเงินเพื่อพยุงค่าเงินเยน

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์