กองทุน 'ETF จีน' โตแรง เม็ดเงินไหลเข้า 5 เท่าใน 3 ปี ดันมูลค่านิวไฮต่อเนื่อง
กองทุนรวมดัชนี (ETF) ของ “จีน” เติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โตเฉลี่ยปีละ 40% มีเงินทุนไหลเข้าทำสถิติใหม่ต่อเนื่อง ดันมูลค่าพุ่งแตะ 9.1 ล้านล้านบาท กองทุนทำกำไรจากหุ้นเฉพาะกลุ่มที่ยังโดดเด่น
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า กองทุนรวมดัชนีอีทีเอฟ (ETF) ของจีนเติบโตอย่าง "น่าทึ่ง" ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีเงินทุนไหลเข้าสู่กองทุนเหล่านี้เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า โตเฉลี่ยปีละ 40% ทำสถิติใหม่ทุกปี ตามข้อมูลของมอร์นิ่งสตาร์(Morningstar)
วังดา หวัง นักวิเคราะห์ของ Morningstar กล่าวในรายงานเดือนมิถุนายนว่า "เงินทุนไหลเข้าสู่กองทุนรวมดัชนี ETF ของจีนเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า ภายใน 3 ปีที่ผ่านมา"
“การเติบโตของตลาดกองทุนรวมดัชนี ETF จีนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาถือว่ารุนแรงมาก” หวังกล่าว
ข้อมูลระบุว่า เงินทุนไหลเข้าสู่กองทุนรวมดัชนี ETF ของจีนเพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในปี 2564 ยอดเงินทุนไหลเข้าอยู่ที่ 127.2 พันล้านหยวน (ประมาณ 6.2 แสนล้านบาท) จากนั้นในปี 2565 เพิ่มเป็น 3.8 แสนล้านหยวน (ประมาณ 1.9 ล้านล้านบาท) และในปี 2566 พุ่งสูงถึง 6 แสนล้านหยวน (ประมาณ 3 ล้านล้านบาท) ถือว่าเพิ่มขึ้นถึง 57% จากปีก่อนหน้า
"ระหว่างปี 2561 ถึง 2566 อัตราการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การจัดการ (AUM) ของกองทุนรวมดัชนี ETF ในจีน มีค่าเฉลี่ยสูงถึง 40% ต่อปี โดยมูลค่า AUM รวมแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ทุกปี" รายงานระบุ
แม้ว่าตลาดหุ้น A-shares ของจีนโดยรวม “ซบเซา” ตั้งแต่ปี 2566 มีเพียงบางกลุ่มอุตสาหกรรมเท่านั้นที่ยังโดดเด่น ถือเป็นงานยากสำหรับการจัดการกองทุนเชิงรุกเพื่อสร้างผลตอบแทนที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็สามารถช่วยขับเคลื่อนตลาด ETF ของจีน และเพิ่ม AUM รวมเป็น 2 เท่าเป็น 2 ล้านล้านหยวนในเวลาไม่ถึง 3 ปี
หวังมองว่าเงินทุนที่ไหลเข้าตลาดกองทุนกองทุนรวมดัชนี ETF ของจีนส่วนใหญ่มาจากการลงทุนของสถาบันการเงินในกองทุนรวมดัชนี ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการเติบโตอย่างรวดเร็วของตลาด ETF ในจีน
กองทุนรวมดัชนีประเภทหุ้น ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยคิดเป็นสัดส่วนถึง 96% จากกองทุนรวมดัชนีทั้งหมด 870 กองทุนในประเทศจีน ณ สิ้นปี 2566
นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนที่ไหลเข้ากองทุนรวมดัชนีหุ้นจีนก็ทำสถิติสูงสุดเช่นกัน โดยเงินทุนที่ไหลเข้าสุทธิประจำปี 2566 เพียงปีเดียว สูงถึง 5.7 แสนล้านหยวน (ประมาณ 2.8 ล้านล้านบาท) ซึ่งมากกว่าเงินทุนที่ไหลเข้ารวมกันระหว่างปี 2562 ถึง 2565
ขณะที่กองทุนรวมดัชนีประเภทตราสารหนี้ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 4% ของกองทุนรวมดัชนีทั้งหมด มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และการเติบโตของมูลค่าสินทรัพย์สุทธิช้ากว่า เมื่อเทียบกับกองทุนรวมดัชนีประเภทหุ้น สำหรับกองทุนรวมดัชนีสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกองทุนทองคำคิดเป็นสัดส่วนน้อยกว่า 2%
อย่างไรก็ดี Morningstar ระบุว่า ตลาดกองทุนรวมดัชนี (ETF) ในจีนกระจุกตัวอยู่กับผู้ให้บริการการเงินชั้นนำ เช่น China Asset Management, E Fund Management และ Huatai-PineBridge ซึ่งเป็น 3 บริษัทที่มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิภายใต้การบริหารมากที่สุด
อ้างอิง CNBC