ค่าเงินบาทวันนี้ 17 ก.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ตามดอลลาร์อ่อนค่า-แรงขายทำกำไรทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 17 ก.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ตามดอลลาร์อ่อนค่า-แรงขายทำกำไรทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 17 ก.ค.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 36.01 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้หลังตลาดเปิดรับความเสี่ยง มีแรงขายทำกำไรในตลาดหุ้นสหรัฐ ทำให้เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลง แรงทยอยขายทำกำไรทองคำมองกรอบเงินบาทวันนี้ ที่ระดับ 35.85-36.15 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.01 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.11 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.15 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา แม้ว่าโดยรวมเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้น ทว่าก็มีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 36.00 -36.19 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ในช่วงแรกผู้เล่นในตลาดปรับลดความคาดหวังต่อแนวโน้มการลดดอกเบี้ย 3 ครั้งของเฟดในปีนี้ลงมาบ้าง 

ค่าเงินบาทวันนี้ 17 ก.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ตามดอลลาร์อ่อนค่า-แรงขายทำกำไรทองคำ

อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์กลับแข็งค่าอยู่ได้ไม่นานก็เริ่มเผชิญแรงขายทำกำไร ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ที่ได้แรงหนุนจากทั้งรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ดีกว่าคาด รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ที่ออกมาสดใส 

และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงเชื่อว่าเฟดมีโอกาสราว 63% ในการลดดอกเบี้ยราว 3 ครั้งในปีนี้ ซึ่งการปรับตัวลดลงของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ  ได้หนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 2,460-2,470 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้บรรดาผู้เล่นในตลาดได้ทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนหนุนให้เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องทดสอบโซนแนวรับสำคัญ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ 

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรายอมรับว่า การแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินบาทจนทดสอบโซนแนวรับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงคืนที่ผ่านมานั้น เหนือความคาดหมายพอสมควร เนื่องจากรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ก็ออกมาดีกว่าคาด อย่างไรก็ดี การเคลื่อนไหวของเงินดอลลาร์ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และราคาทองคำในช่วงคืนที่ผ่านมา ทำให้เราเชื่อว่า ตราบใดที่ผู้เล่นในตลาดยังคงคาดหวังว่าเฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ (โอกาสจาก CME FedWatch Tool ควรเกิน 60%) เงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็อาจมี Upside ที่จำกัด หรืออาจปรับตัวขึ้นไม่ได้มาก จนกว่าตลาดจะเลิกเชื่อในมุมมองดังกล่าว ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทจะสามารถแข็งค่าทดสอบโซนแนวรับสำคัญได้ แต่เรามองว่า การแข็งค่าต่อยังคงเป็นไปอย่างจำกัด จนกว่าตลาดจะมีการรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเราประเมินว่า แนวรับถัดไปของเงินบาทอาจอยู่ในโซน 35.85 บาทต่อดอลลาร์ หากเงินบาทสามารถแข็งค่าหลุดโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งในช่วงระหว่างวัน เรามองว่า เงินบาทอาจเผชิญแรงกดดันบ้าง จากโฟลว์ธุรกรรมซื้อสินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง น้ำมันดิบ รวมถึงโฟลว์ธุรกรรมซื้อเงินเยนญี่ปุ่น (JPYTHB) หลังเงินเยนได้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับเงินบาทพอสมควรอีกครั้ง นอกจากนี้ บรรดานักลงทุนต่างชาติก็อาจยังสามารถทยอยขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มเติมได้ จนกว่าตลาดทุนไทยจะเรียกความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนให้กลับมาได้ ซึ่งอาจต้องรอลุ้นให้ผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนส่วนใหญ่ออกมาดีกว่าคาดชัดเจน 

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

บรรยากาศในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง (Risk-On) หนุนโดยรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ล่าสุดที่ออกมาดีกว่าคาด ลดความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงหนักไปได้บ้าง ขณะเดียวกัน ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก็ยังได้แรงหนุนจากรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาดีกว่าคาด อาทิ BofA +5.4% หนุนให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.64% แม้ว่าบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่จะเผชิญแรงขายทำกำไรออกมาบ้างก็ตาม 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง -0.28% ตามความกังวลแนวโน้มผลประกอบการของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมที่ยังคงกดดันให้ หุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนมยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ การปรับตัวลดลงของราคาน้ำมันดิบและราคาแร่โลหะพื้นฐานจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีนก็มีส่วนกดดันหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มเหมืองแร่ของยุโรป อาทิ TotalEnergies -1.6%, Rio Tinto -2.3%

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่ารายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ล่าสุดจะออกมาดีกว่าคาด หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีจังหวะรีบาวด์ขึ้นสู่โซน 4.20% ทว่า มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ (โอกาส 63% จาก CME FedWatch Tool ล่าสุด) ได้กดดันให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาย่อตัวลงสู่โซน 4.17% ซึ่งเป็นระดับก่อนตลาดรับรู้รายงานยอดค้าปลีก จากความเคลื่อนไหวของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในช่วงนี้ ทำให้ เราประเมินว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัว sideways ไปก่อน โดยมีโซนแนวรับที่สำคัญแถว 4.15% ซึ่งเรามองว่า ตลาดอาจรอจับตาผลการประชุมเฟด รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ ในช่วงปลายเดือน-ต้นเดือนหน้า ก่อนที่จะมีการปรับสถานะถือครองบอนด์ระยะยาวที่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ มีการเคลื่อนไหวชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ เราคงมุมมองเดิมว่า ในทุกๆ จังหวะการรีบาวด์ขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จะเป็นจังหวะที่น่าพิจารณา “Buy on Dip” บอนด์ระยะยาวได้ 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวน โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นเร็วและแรงตามรายงานยอดค้าปลีกสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าคาด ทว่าภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ก็กดดันให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถวระดับ 104.3 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.2-104.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ จังหวะการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลดลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ส.ค.) สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่โซน 2,470-2,480 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำเพิ่มเติม ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำดังกล่าวก็มีส่วนหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาทในช่วงคืนที่ผ่านมา 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และดัชนีราคาผู้ผลิต PPI เดือนมิถุนายน 

ส่วนในฝั่งเอเชีย ผู้เล่นในตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) อาจคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.25% เพื่อลดแรงกดดันจากค่าเงินรูเปียะห์ (IDR) แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียจะชะลอลงต่อเนื่องเข้าใกล้เป้าหมายของ BI แล้วก็ตาม

ในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของเฟด ผ่านถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) 

และนอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนก็จะเป็นสิ่งที่ผู้เล่นในตลาดให้ความสนใจเช่นกัน