10 แบงก์ ‘สำรองหนี้เสีย‘ ครึ่งปี 1.1แสนล้าน ’เคเคพี-ทิสโก้-กรุงศรี’ สูงสุด

10 แบงก์ ‘สำรองหนี้เสีย‘ ครึ่งปี 1.1แสนล้าน ’เคเคพี-ทิสโก้-กรุงศรี’ สูงสุด

เปิดภาพรวมสำรองหนี้เสียของ 10 ธนาคารพาณิชย์ พบไตรมาส 2 สำรองโดยรวมอยุ่ที่ 6.1 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 7.5% ขณะที่ครี่งปีสำรอง1.19แสนล้าน เพิ่มขึ้นเฉียด12% “เกียรตินาคินภัทร-ทิสโก้-กรุงศรี-ทีทีบี’ตั้งสำรองเพิ่มมากที่สุด “KKP”ชี้สำรองเพิ่มจากธุรกิจเช่าซื้อ

10 แบงก์ ‘สำรองหนี้เสีย‘ ครึ่งปี 1.1แสนล้าน ’เคเคพี-ทิสโก้-กรุงศรี’ สูงสุด สำรองหนี้เสีย” หรือผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ถือว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับไตรมาส 2 และรอบครึ่งปี 2567 โดยบางธนาคารสำรองเพิ่มขึ้นอย่างมาก

สะท้อนการมองความเสี่ยง และความไม่แน่นอนในระยะข้างหน้าที่มองว่ามีความเสี่ยงขึ้น แต่การ “ตั้งสำรองหนี้เสีย” แม้จะเป็นส่วนที่บั่นทอนผลการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารให้เพิ่มขึ้น แต่อีกด้าน ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเป็นเกาะป้องกันช่วยธนาคาร เมื่อยามมีความเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ผลงานดำเนินงานโดยภาพรวมไม่ได้ทรุดตามเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันที่อาจเกิดขึ้นข้างหน้า

สำหรับภาพรวม “สำรองหนี้เสีย”ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ในไตรมาส 2 และครึ่งปีแรก ของ10 ธนาคารพาณิชย์ นำโดยธนาคารกรุงเทพ(BBL) ธนาคารกสิกรไทย(KBANK)ธนาคารกรุงไทย(KTB)เอสซีบี เอกซ์(SCB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา(BAY)ธนาคารทิสโก้(TISCO) ธนาคารทหารไทยธนชาต(TTB)ธนาคารเกียรตินาคินภัทร(KKP)และธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์(LHFG)และธนาคารซีไอเอ็มบีไทย(CIMBT)

พบว่าโดยรวม การตั้งสำรองหนี้สูญ ในไตรมาส2ปี 2567 อยู่ที่ 61,900ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.5% หากเทียบกับช่วงไตรมาสก่อนหน้า โดยแบงก์ที่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาสนี้คือ ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ที่ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น190% หรือ 1,769 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจาก 609 ล้านบาทในไตรมาสก่อนหน้า 

ถัดมาคือ ธนาคารทิสโก้ ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 46.24% หรือ 408 ล้านบาท จาก 279 ล้านบาท ตามด้วย ธนาคารกรุงเทพ สำรองเพิ่มขึ้น 21.49% หรือ 10,807 ล้านบาท จาก 8,582ล้านบาท 

แต่ก็มีหลายธนาคาร ที่ไตรมาสนี้มีการตั้งสำรองลดลงเช่นเดียวกัน ส่วนหนึ่งอาจมาจากการตั้งสำรองหนี้เสียไปแล้วค่อนข้างมากในช่วงไตรมาสก่อนๆหน้า ทำให้ภาระในการตั้งสำรองลดลง มากที่สุดคือ แลนด์แอนด์เฮ้าส์ สำรองลดลง 32% กรุงศรีฯลดลง 3.70 %
 

สำรองครึ่งปี1.19 แสนล้าน เพิ่มขึ้น 11.59%

หากดูภาพสำรองหนี้เสียรอบครึ่งปี 2567 พบว่า สำรองโดยรวมอยู่ที่ 119,722ล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 11.59% หากเทียบกับช่วงเดียวกันกันปีก่อน ที่สำรองอยู่ที่ 107,285 ล้านบาท

โดยธนาคารที่ตั้งสำรองเพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบครึ่งปีคือ ทิสโก้ โดยตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 663% เป็น 687 ล้านบาท หากเทียบกับ 90ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน

ถัดมา กรุงศรีฯ ตั้งสำรองครึ่งปีเพิ่มขึ้น 76.99% หรือ 24,088 ล้านบาท จาก 13,610 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน  และทีทีบี ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น 11.03% มาอยู่ที่ 10,397 ล้านบาท จาก 8,520 ล้านบาท 

ในทางกลับกันแบงก์ที่มีการตั้งสำรองลดลงในรอบครึ่งปีแรก อาทิ ซีไอเอ็มบีไทย ตั้งสำรองลดลง 22% เกียรตินาคินภัทร ลดลง 20.07% ทีทีบีลดลง 14.51% และกสิกรไทยลดลง 8.32% 

การตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งก็สะท้อนให้เห็นผ่าน “หนี้เสีย” หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ในช่วงครึ่งปีแรกที่ขยับเพิ่มเช่นเดียวกัน โดยหนี้เสียโดยรวมของ 10ธนาคารพาณิชย์ อยู่ที่ 534,789 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.59% จาก 511,318 ล้านบาท  

โดยธนาคารที่หนี้เสียเพิ่มตัวเพิ่มขึ้น อาทิ ธนาคารกรุงเทพ หนี้เสียขึ้นมาอยู่ที่ 15.34% หรือหนี้เสียรวมที่ 99,140 ล้านบาท ถัดมาคือ ธนาคารกรุงศรีฯ หนี้เสียเพิ่มขึ้น 18.69% มาอยู่ที่ 72,973 ล้านบาท และเกียรตินาคินภัทร หนรี้เสียเพิ่มขึ้น 23% มาอยู่ที่ 15,540 ล้านบาท

KKPสำรองเพิ่มขึ้น 190%จากความเสี่ยงในธุรกิจเช่าซื้อ

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ระบุว่า สาเหตุที่ธนาคารตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ถือเป็นไปตามมาตรการบริหารคุณภาพสินทรัพย์ที่ธนาคารได้มุ่งเน้นมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งหากเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า

สำรองผลขาดทนุด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในระดับที่สูงขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่อเช่าซื้อ ซึ่งบางส่วนมีผลจากฤดูกาลและเพื่อเป็นการรองรับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงเปราะบาง 

รวมถึงปัจจัยทางด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ยังคงมีความไม่แน่นอน  ทั้งนี้โดยผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นและผลขาดทุนจากการขายรถยึดโดยรวมแล้วยังคงอยู่ภายใต้กรอบเป้าหมายของธนาคาร
 ทางด้านอัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ร้อยละ 4.0 ปรับเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 3.8 ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 และอัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ที่ร้อยละ 136.5

TISCO ชี้สำรองเพิ่มจากความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อ

ด้านธนาคารทิสโก้ ระบุว่า สาเหตุหลักจากการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่เพิ่มขึ้น เพื่อรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านคุณภาพสินทรัพย์ ส่งผลให้บริษัทเพิ่มความระมัดระวังและรอบคอบในการปล่อยสินเชื่อใหม่ท่ามกลางสภาวะหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง 

โดยสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ณ สิ้นไตรมาสนี้ อยู่ที่ 2.4% ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีก่อนหน้า เป็นผลมาจากการขยายสินเชื่อไปในกลุ่มที่มีอัตราผลตอบแทนสูง และผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า โดยบริษัทมุ่งเน้นการติดตามทวงถามหนี้อย่างใกล้ชิด รวมถึงดำเนินนโยบายการบริหารความเสี่ยงและตั้งสำรองอย่างรัดกุม และมีระดับค่าเผื่อสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Coverage Ratio) อยู่ที่ 162.7%

BBLย้ำสำรองเพิ่มอยู่บนหลักความระมัดระวังต่อเนื่อง

ขณะที่ธนาคารกรุงเทพ มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ในไตรมาส 2 โดยธนาคารระบุว่า การตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 19,007 ล้านบาท มาจากการพิจารณาภายใต้หลักความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่องของธนาคาร

โดยธนาคารกรุงเทพยังคงดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม เพื่อการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน

สำหรับสำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมอยู่ที่ร้อยละ 3.2  ซึ่งอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ โดยมีอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ร้อยละ 282.5 เป็นผลจากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบอย่างต่อเนื่อง 

ด้านธนาคารกรุงศรีฯ ระบุว่า สาเหตุที่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะครึ่งปีแรก มาจากการตั้งสำรองที่รอบคอบระมัดระวัง โดยอัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL Ratio) อยู่ที่ 3.05% ขณะที่สัดส่วนการตั้งสำรอง ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 243 เบสิสพอยท์ และอัตราส่วนเงินสำรองต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพอยู่ที่ 128.8%