ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ก.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตลาดรอรับรู้ปัจจัยใหม่เพิ่มเติม

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ก.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตลาดรอรับรู้ปัจจัยใหม่เพิ่มเติม

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ก.ค.67 เปิดตลาด “อ่อนค่า“ ที่ 36.30 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตลาดต่างรอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ตลาดสหรัฐเปิดรับความเสี่ยง และเงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวอยู่ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.25-36.40บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่าลงเล็กน้อย แทบไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  36.29 บาทต่อดอลลาร์

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 36.00-36.65 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.25-36.40 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทแกว่งตัวในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 36.25-36.39 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์ ที่โดยรวมก็แกว่งตัวในกรอบ sideways เช่นกัน หลังผู้เล่นในตลาดต่างก็รอรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม 

ขณะเดียวกันบรรยากาศเปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินสหรัฐฯ ในช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมาก็พอช่วยชะลอการแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ได้บ้าง ทั้งนี้ เงินบาทยังคงเผชิญแรงกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัวอยู่ หลังราคาทองคำยังคงอยู่ในช่วงของการปรับฐาน (correction) 

ค่าเงินบาทวันนี้ 23 ก.ค.67 ‘อ่อนค่า‘ ตลาดรอรับรู้ปัจจัยใหม่เพิ่มเติม

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่ายังคงอยู่ เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถผันผวนอ่อนค่าทดสอบโซน 36.50 บาทต่อดอลลาร์ ได้ ซึ่งนอกเหนือจากทิศทางเงินดอลลาร์ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำที่อาจยังอยู่ในช่วงการปรับฐาน (Correction) และเงินหยวนจีน (CNY) นอกจากนี้ สถานการณ์การเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอนก็อาจกระทบต่อฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ ทำให้เงินบาทยังไม่สามารถกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ชัดเจนและต่อเนื่อง

ส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้ หาก 1) ตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความผิดหวังรายงานผลประกอบการ หรือ 2) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ตลาดกลับมาเชื่อว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยราว 2 ครั้งในปีนี้

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้น ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดการเงิน

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นเทคฯ ใหญ่ รวมถึง รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ เช่น ดัชนี PMI และอัตราเงินเฟ้อ PCE ของสหรัฐฯ

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – เนื่องจากสัปดาห์นี้จะเริ่มเข้าสู่ช่วง Black Out ของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ก่อนที่จะถึงการประชุมเฟดในวันที่ 31 กรกฎาคม -  1 สิงหาคม ทำให้ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากรายงานดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรมและภาคการบริการโดย S&P Global (Manufacturing and Services PMIs) ในเดือนกรกฎาคม ตัวเลขคาดการณ์ครั้งแรกของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาสที่ 2 และอัตราเงินเฟ้อ PCE เดือนมิถุนายน  นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะบรรดาบริษัทเทคฯ ใหญ่ อาทิ Alphabet และ Tesla ซึ่งหากผู้เล่นในตลาดต่างผิดหวังกับรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ก็อาจยิ่งกดดันให้บรรยากาศในตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) หนุนให้เงินดอลลาร์อาจยังเป็นที่ต้องการของผู้เล่นในตลาดเพื่อถือเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Haven) ในช่วงตลาดการเงินเผชิญความผันผวน

 

▪ ฝั่งยุโรป – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการของยูโรโซน ดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) ในเดือนกรกฎาคม คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อยูโรโซน (Inflation Expectations) และถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ ECB ส่วนในฝั่งอังกฤษ ตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการในเดือนกรกฎาคม เช่นเดียวกัน อนึ่ง รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนฝั่งยุโรปจะเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อบรรยากาศในตลาดการเงินยุโรป โดยหากตลาดหุ้นยุโรปสามารถรีบาวด์ขึ้นได้บ้างและกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยง ก็อาจช่วยชะลอการอ่อนค่าลงของค่าเงินยูโร (EUR) และเปิดโอกาสให้เงินยูโรกลับมาแข็งค่าขึ้นได้บ้าง (จับตาโซนแนวต้านแถว 1.09 ดอลลาร์ต่อยูโร)  

 

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจญี่ปุ่นและโอกาสในการทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานดัชนี PMI ภาคการผลิตและภาคการบริการ เดือนกรกฎาคม พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเวียดนาม ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน อาทิ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) อัตราเงินเฟ้อ CPI เป็นต้น

 

▪ ฝั่งไทย – ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามการนัดพิจารณาคดีถอดถอนนายกฯ เศรษฐา ทวีสิน โดยศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 24 กรกฎาคม ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานยอดการส่งออก (Exports) และนำเข้า (Imports) เดือนมิถุนายน พร้อมรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน