ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.ค.67 ‘ทรงตัว‘ ระวังการเมืองในประเทศกดดันฟันด์โฟลว์

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.ค.67 ‘ทรงตัว‘ ระวังการเมืองในประเทศกดดันฟันด์โฟลว์

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.ค.67 เปิดตลาด “ทรงตัว“ ที่ 36.19 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้โมเมนตัมบาทแข็งค่ายังคงมี แต่เริ่มอ่อนกำลังลง ต้องอาศัยปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม ระวังสถานการณ์การเมืองในประเทศกดดันฟันด์โฟลว์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 36.10-36.30 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.19 บาทต่อดอลลาร์ “ทรงตัวไม่เปลี่ยนแปลง” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.90-36.50 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.10-36.30 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 36.10-36.25 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะผันผวนอ่อนค่าลงบ้างในช่วงตลาดรับรู้รายงานดัชนีราคาผู้ผลิต PPI ของสหรัฐฯ ซึ่งออกมาสูงกว่าคาด ก่อนที่เงินบาทจะทยอยแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ที่มาพร้อมกับการย่อตัวลงบ้างของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำ (XAUUSD) ในช่วงตลาดรับรู้รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) ที่ออกมาแย่กว่าคาด ส่วนคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั้งระยะสั้นและระยะยาวต่างก็ปรับตัวลดลงจากรายงานครั้งก่อน 

ค่าเงินบาทวันนี้ 15 ก.ค.67 ‘ทรงตัว‘ ระวังการเมืองในประเทศกดดันฟันด์โฟลว์

อย่างไรก็ดี เงินบาทได้ทยอยอ่อนค่าลง หลังเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าลงของบรรดาสกุลเงินหลัก โดยเฉพาะเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ที่ล่าสุดได้กลับมาอ่อนค่าลงเหนือระดับ 158 เยนต่อดอลลาร์

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า โมเมนตัมการแข็งค่ายังคงมีอยู่ แต่เริ่มอ่อนกำลังลง และต้องอาศัยปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยต้องระวังสถานการณ์การเมืองในประเทศที่อาจกดดันฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติได้ 

นอกจากนี้ ควรจับตาทิศทางราคาทองคำ และเงินหยวนจีน (CNY) ที่มีผลต่อเงินบาทในช่วงนี้ได้พอสมควร โดยในส่วนของเงินหยวนนั้นจะผันผวนไปตามมุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจีน

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์อาจชะลอลงบ้าง หลังผู้เล่นในตลาดได้คาดหวังการลดดอกเบี้ยราว 2-3 ครั้งของเฟดในปีนี้ไปพอสมควร ทว่าบรรยากาศในตลาดการเงินที่อาจผันผวนไปตามรายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็อาจมีผลกระทบต่อทิศทางเงินดอลลาร์ได้

 

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

สัปดาห์ที่ผ่านมา เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดมองว่าเฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2-3 ครั้งในปีนี้ จากรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ล่าสุดที่ชะลอลงกว่าคาด

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรติดตามผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) และการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 ครั้งที่ 3 (Third Plenum) และรอจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะหุ้นธีม AI/Semiconductor และหุ้นกลุ่มการเงิน

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ จากรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน และรายงานสรุปภาวะเศรษฐกิจโดยบรรดาเฟดสาขาต่างๆ (Fed Beige Book) นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด และรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งจะมีทั้งสถาบันการเงินขนาดใหญ่ อาทิ Goldman Sachs, BofA และหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ ธีม AI/Semiconductor เช่น ASML, TSMC โดยเราประเมินว่า รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร

 

▪ ฝั่งยุโรป – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB) โดยเราประเมินว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ระดับ 3.75% ในการประชุมครั้งนี้ และมีความเป็นไปได้ที่ประธาน ECB อาจส่งสัญญาณพร้อมใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ (เราประเมิน ECB อาจลดดอกเบี้ยลงอีกราว 2-3 ครั้ง) ตามแนวโน้มการชะลอลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อและกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวม ส่วนในฝั่งอังกฤษ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ อัตราเงินเฟ้อ CPI เดือนมิถุนายน ยอดค้าปลีกเดือนมิถุนายน และข้อมูลตลาดแรงงานเดือนพฤษภาคม เช่น อัตราการเติบโตของค่าจ้าง เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยเราประเมินว่า BOE ก็อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงพร้อมกับทางเฟดได้ในการประชุมเดือนกันยายน และนอกเหนือจากปัจจัยข้างต้น สถานการณ์การเมืองฝรั่งเศสจะยังคงเป็นปัจจัยที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด

 

 

▪ ฝั่งเอเชีย – ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีนผ่านรายงานอัตราการเติบโตเศรษฐกิจไตรมาส 2 และรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญรายเดือน อย่าง ยอดค้าปลีก พร้อมกันนั้น ตลาดจะให้ความสนใจกับทิศทางการดำเนินนโยบายและมาตรการสำคัญเพื่อพลิกฟื้นและกระตุ้นเศรษฐกิจจีน ในการประชุมใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีน ชุดที่ 20 ครั้งที่ 3 (Third Plenum) ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ผ่านรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI และยอดการส่งออก-นำเข้า ในเดือนมิถุนายน และในส่วนนโยบายการเงิน ตลาดประเมินว่า ธนาคารกลางอินโดนีเซีย (BI) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 6.25% เพื่อช่วยรักษาเสถียรภาพของเงินรูเปียะห์ (IDR) โดยทาง BI อาจเริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลงได้ ในช่วงที่เฟดเริ่มลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน หลังอัตราเงินเฟ้อก็เริ่มกลับเข้าสู่เป้าของ BI

 

▪ ฝั่งไทย – สถานการณ์การเมืองในประเทศจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดติดตามอย่างใกล้ชิด ซึ่งจะมีการนัดพิจารณาคดียุบพรรคก้าวไกล โดยศาลรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 17 กรกฎาคม นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มการเงิน