นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ’ดิจิทัลวอลเล็ต’ กระตุ้นจีดีพีไม่ถึง 1%

นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ’ดิจิทัลวอลเล็ต’ กระตุ้นจีดีพีไม่ถึง 1%

นักเศรษฐศาสตร์ ชี้ดิจิทัลวอลเล็ตมีส่วนกระตุ้น ‘จีดีพี’ กระจายเงินสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ห่วงหมดพายุหมุนรอบแรก แรงกระตุ้นเศรษฐกิจแผ่ว “ซีไอเอ็มบีไทย” ชี้กระตุ้นได้เฉพาะพายุหมุนลูกแรก ห่วงหมดมาตรการเศรษฐกิจปีหน้าดิ่งเหว “พิพัฒน์”คาดมีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจไม่ถึง 1%

"โครงการ ดิจิทัลวอลเล็ต" ถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้น หลังรัฐบาลประกาศวันเริ่มลงทะเบียนของประชาชน ในวันที่ 1 ส.ค.-15 ก.ย.2567 นี้ เพื่อรับสิทธิ 10,000 บาท โดยมีเป้าหมาย 45 ล้านคน

หวั่นหมดดิจิทัลวอลเล็ตรอบแรก ศก.หมุนช้าลง

ดร.อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ถือว่าเป็นความหวังต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะพายุหมุนลูกแรก ที่มองว่าจะเกิดประโยชน์ต่อประชาชน ร้านค้าขนาดเล็ก จากเม็ดเงินที่ลงสู่ระบบเศรษฐกิจ ในช่วงที่เศรษฐกิจโตต่ำ โตไม่ทั่วถึง กลุ่มคนระดับกลางล่างอ่อนแออย่างมาก 

ดังนั้น ดิจิทัลวอลเล็ต ที่มีความชัดเจนมากขึ้น ก็หวังว่าจะช่วยให้เงินสะพัดมากขึ้น และช่วยกลุ่มคนที่มีปัญหา และฟื้นช้ากว่ากลุ่มอื่นๆ สามารถฟื้นตัวขึ้นมาได้

ส่วนเงินดังกล่าวจะทวีคูณ และมีแรงส่งให้เศรษฐกิจหมุนมากน้อยเพียงได้ ต้องติดตามพายุลูกที่ 2-3-4 ว่าจะหมุนมากน้อยแค่ไหน แต่ประเมินว่า แรงหนุนต่อเศรษฐกิจอาจไม่ได้หมุน หรือมีผลกระตุ้นเศรษฐกิจเท่ากับพายุลูกแรก 

อย่างไรก็ตาม มองว่าหากดิจิทัลวอลเล็ตสามารถนำออกมาใช้ได้ในช่วงไตรมาส 4 จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยไตรมาสสุดท้ายขยายตัวมากขึ้น จากเดิมคาดว่า จีดีพี อยู่ที่ 3.9% เป็น 4.9% หรือมากกว่านั้น แต่จะหนุนจีดีพีทั้งปีให้ขยายตัวไม่มากนักจาก 2.3% เพิ่มเป็น 2.5% เท่านั้น
 

“แม้โครงการนี้จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นๆ แต่สิ่งที่เป็นห่วงคือ หลังจากมาตรการนี้หมดไปแล้ว เศรษฐกิจจะฟื้นตัวต่อเนื่องได้หรือไม่ เพราะไม่ใช่มาตรการที่เน้นการจ้างงาน หรือสร้างรายได้แบบยั่งยืน แต่เป็นโครงการประชานิยม แจกเงิน ดังนั้นห่วงว่าหากหมดมาตรการ เศรษฐกิจไทยอาจซึมลง คนที่ซื้อของไปแล้วไม่ซื้อเพิ่ม ดังนั้นห่วงเศรษฐกิจไทยปีหน้าว่าอาจชะลอตัวลง และเมื่อหมดมาตรการนี้แล้ว คนอาจเรียกร้องให้แจกใหม่ ปัญหาก็จะวนกลับมาใหม่ จะดื้อยา และต้องใช้ยาแรงมากขึ้นในอนาคต”

ดิจิทัลวอลเล็ตกระตุ้นเศรษฐกิจต่ำกว่า 1%

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) มองว่า ดิจิทัลวอลเล็ตมีส่วนกระตุ้นให้จีดีพีไทยเพิ่มขึ้นแน่นอน แต่มองปีนี้อาจมีผลน้อยมาก หรืออาจไม่เห็นผลบวกต่อจีดีพีปีนี้ แต่จะรับรู้ปีหน้า ดังนั้นมองหากโครงการนี้เกิดขึ้น มีผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยแน่นอน กระตุ้นให้ร้านค้าปลีก รายย่อย เกิดการหมุนเวียนมากขึ้น แต่ผลที่เกิดขึ้นกับจีดีพีเชื่อว่ามีน้อยกว่า เม็ดเงินที่ใส่ลงมาอย่างมาก

“เรามองมีผลบวกแน่นอน เช่น เม็ดเงินที่ใส่มากว่า 4 แสนล้านบาท คิดเป็นจีดีพีราว 2% แต่ผลจริงๆ ไม่ได้หนุนให้เศรษฐกิจไทยจาก 3% ไปเป็น 5% ได้ เพราะมองว่าผลบวกมีน้อย โดยประเมินผลบวกจากดิจิทัลวอลเล็ตน้อยกว่า 1% เพียง 0.4-0.7% เท่านั้น ซึ่งหากรัฐบาลโครงการเร็วอาจมีผลต่อปีนี้มากกว่า”

ไม่หนุนเกิดดีมานด์ใช้จ่ายใหม่

ทั้งนี้ การที่ดิจิทัลวอลเล็ตอาจไม่สร้างพายุหมุนต่อเศรษฐกิจมากนัก มาจาก 4 สาเหตุ คือ

1.เม็ดเงินอาจไม่กระตุ้นให้เกิดดีมานด์ใหม่ เช่น หากเดิมคนใช้ต่อเดือน 10,000 บาทอยู่แล้ว เมื่อได้ดิจิทัลวอลเล็ตมาแล้วยังใช้จ่าย 10,000 บาทเท่าเดิม แต่หันมาเก็บเงินส่วนตัวไว้เท่าเดิม 10,000 บาท ไม่นำออกมาใช้จ่ายเพิ่ม แต่เลือกประหยัด และเลือกเก็บเงินมากขึ้น

2.แม้ภาครัฐจะควบคุมการใช้จ่ายผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เพื่อไม่ให้มีการใช้จ่ายกับสินค้าที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ แต่จะมีบางส่วนเป็นสินค้านำเข้าที่เข้ามาได้ ดังนั้นผลบวกต่อการหมุนเวียนเศรษฐกิจในประเทศอาจไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย

3.การใช้เงินผ่านดิจิทัลวอลเล็ต เหมือนเป็นการยืมเงินในอนาคตมาใช้ โดยคนจะเกิดการใช้จ่าย หรือซื้อสินค้าตุนเฉพาะช่วงที่มีโครงการ เช่น ภายใน 6 เดือน เช่นในอดีต ที่มีโครงการรถคันแรก ช่วงที่หมดมาตรการสนับสนุนรถยนต์คันแรก แรงซื้อรถหยุดทันที ดังนั้นหลังจากนี้เศรษฐกิจจะชะลอตัวไม่เกิดการหมุนเวียนต่อเนื่อง

4.เงินที่ใช้แจกเงินดิจิทัล หากมาจากการตัดงบประมาณส่วนอื่นๆ ที่เป็นงบที่ต้องใช้จ่ายอยู่แล้ว ผลที่เกิดต่อเศรษฐกิจอาจไม่มากเท่าที่ควร เพราะขาดเม็ดเงินใหม่ๆ เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ

“ในเมื่อเรามีแผนระยะสั้นแล้ว ก็ต้องมีแผนในการปฏิรูประยะยาวด้วย ไม่งั้นไม่จบ และประเด็นที่เราเจอวันนี้คือ ภาคการเงินที่เริ่มตึงตัว หนี้ภาครัฐ หนี้สาธารณะ หนี้ภาคครัวเรือนเริ่มตึงตัว แบงก์ไม่ปล่อยกู้ดังนั้นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยจะสูงขึ้นต่อเนื่อง”

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์