ค่าเงินบาทวันนี้ 25 ก.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-โฟลว์ขายทำกำไรทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 25 ก.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-โฟลว์ขายทำกำไรทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 25 ก.ค.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 36.12 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ดอลลาร์อ่อนค่า จากเงินเยนรับแรงหนุนแข็งค่า หวังบีโอเจ ใช้นโยบายการเงินเข้มงวดขึ้น และโฟลว์ชายทำกำไรทองคำที่โซนเหนือ 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.95-36.20 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  36.12 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  36.16 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.95-36.20 บาทต่อดอลลาร์  

โดยนับตั้งแต่ช่วงคืนที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร (แกว่งตัวในช่วง 35.92-36.17 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง จนหลุดโซนแนวรับ 36 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ในช่วงแรก โดยเงินดอลลาร์เผชิญแรงกดดันจากการแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) สู่โซน 153 เยนต่อดอลลาร์ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ประเมินว่า ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) มีโอกาสใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในการประชุมนโยบายการเงินในสัปดาห์หน้า ทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนปรับลดสถานะ Short JPY ลงบ้าง 

ค่าเงินบาทวันนี้ 25 ก.ค.67 ‘แข็งค่า‘ ดอลลาร์อ่อนค่า-โฟลว์ขายทำกำไรทองคำ


 

นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ดังกล่าวยังช่วยหนุนให้ราคาทองคำ (XAUUSD) ปรับตัวขึ้น สู่โซน 2,430 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำและโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าวก็มีส่วนช่วยหนุนการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท 

ทว่า เงินบาทก็พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเหนือโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง หลังเงินดอลลาร์ทยอยแข็งค่าขึ้นตามภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน เงินบาทก็ถูกกดดันจากโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว หลังราคาทองคำพลิกกลับมาปรับตัวลดลงกลับสู่โซนแนวรับระยะสั้นในช่วง 2,400 ดอลลาร์ต่อออนซ์

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เราประเมินว่า การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงวันก่อนหน้า จนหลุดโซนแนวรับ 36 บาทต่อดอลลาร์ มากกว่าที่เราประเมินไว้ ว่าเงินบาทอาจเริ่มชะลอการแข็งค่าแถวโซนเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน (โซน 36.10 บาทต่อดอลลาร์) ได้สะท้อนว่า โมเมนตัมฝั่งแข็งค่าของเงินบาทนั้นยังมีกำลังอยู่พอสมควร และผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะทยอยขายเงินดอลลาร์ ในช่วงเงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง โดยเฉพาะในช่วงบ่ายวันก่อนที่เงินบาทเผชิญแรงกดดันจากประเด็นการเมืองในประเทศ ทำให้เรามองว่า การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ ก็จะยังไม่ต่างจากช่วงวันก่อนๆ จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม โดยเงินบาทยังมีโอกาสผันผวนอ่อนค่าลงบ้าง ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงิน ที่ยังหนุนเงินดอลลาร์ รวมถึง กดดันให้บรรดานักลงทุนต่างชาติอาจทยอยขายสินทรัพย์ไทยได้บ้าง โดยเฉพาะในส่วนหุ้น ขณะเดียวกัน เงินบาทก็อาจผันผวนไปตามโฟลว์ธุรกรรมที่เกี่ยวกับสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะทองคำ ทั้งนี้ การแข็งค่าของเงินบาทก็อาจเป็นไปอย่างจำกัดแถวโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ จนกว่าบรรยากาศในตลาดการเงินจะกลับมาอยู่ในภาวะเปิดรับความเสี่ยงชัดเจน รวมถึง ผู้เล่นในตลาดเริ่มมั่นในมากขึ้นว่า เฟดจะสามารถลดดอกเบี้ยได้ราว 3 ครั้งในปีนี้ ถึงจะเห็นการแข็งค่าของเงินบาทที่ต่อเนื่อง และอาจหลุดโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ไปได้

อนึ่ง ควรระวังความผันผวนในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ ในคืนนี้ ตั้งแต่ช่วงเวลาราว 19.30 น. ตามเวลาประเทศไทย

เราคงมุมมองเดิมว่า เงินบาทยังมีโอกาสเคลื่อนไหวผันผวนไปตาม การเปลี่ยนแปลงไปมาของปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางค่าเงินบาท อย่าง มุมมองของผู้เล่นในตลาดต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด ทำให้ผู้เล่นในตลาดควรใช้กลยุทธ์ในการปิดความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งการใช้เครื่องมือเช่น Options หรือ สกุลเงินท้องถิ่น ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

บรรยากาศในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง ท่ามกลางความผิดหวังต่อรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นเทคฯ ใหญ่ อย่าง Tesla และ Alphabet กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายหุ้นเทคฯ ใหญ่ เพิ่มเติม นำโดย Nvidia -6.8%, Meta -5.6% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -3.64% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -2.31% 

ทางฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 พลิกกลับมาปรับตัวลง -0.16% กดดันโดยความผิดหวังจากรายงานผลประกอบการของบรรดาหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม อย่าง LVMH -4.7% นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเทคฯ ต่างก็เผชิญแรงเทขายเพิ่มเติม เช่นเดียวกันกับหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ อาทิ ASML -3.4% อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นยุโรปพอได้แรงหนุนบ้าง ตามการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน Shell +0.6% หลังราคาน้ำมันดิบปรับตัวขึ้นบ้าง จากรายงานยอดสต็อกน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่ลดลงกว่าคาด 

ในส่วนตลาดบอนด์ แม้ว่าบรรยากาศในตลาดการเงินสหรัฐฯ จะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงชัดเจน รวมถึงผู้เล่นในตลาดต่างก็ยังคงคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้ราว 2-3 ครั้งในปีนี้ ทว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ กลับทยอยปรับตัวขึ้นจากโซน 4.20% สู่ระดับ 4.28% ซึ่งเราประเมินว่า อาจมาจากประเด็นการเมืองสหรัฐฯ (ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลผลกระทบต่อตลาดบอนด์ จากนโยบายเศรษฐกิจของโดนัลด์ ทรัมป์ หากชนะการเลือกตั้งอีกสมัย) อย่างไรก็ตาม การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ดูจะเป็นไปอย่างจำกัด เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างก็รอจังหวะบอนด์ยีลด์ปรับตัวขึ้นในการทยอยเข้าซื้อ ตามที่เราได้ประเมินไว้ ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัวในกรอบ sideways ไปก่อน จนกว่าตลาดจะรับรู้ปัจจัยใหม่ๆ เพิ่มเติม  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เคลื่อนไหวผันผวนพอสมควร โดยมีจังหวะอ่อนค่าลงต่อเนื่อง ตามการแข็งค่าขึ้นของเงินเยนญี่ปุ่น (JPY) หลังผู้เล่นในตลาดลดสถานะ Short JPY เพิ่มเติม จากความกังวลว่าธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ ทว่า เงินดอลลาร์ก็ทยอยกลับแข็งค่าขึ้นได้ ตามภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดหุ้นสหรัฐฯ และการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ยังคงแกว่งตัวแถว 104.4 จุด (แกว่งตัวในกรอบ 104.1-104.5 จุด) ในส่วนของราคาทองคำ แม้ว่าราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นราว +20 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ แต่การกลับมาแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นในช่วงท้ายของตลาด และแรงขายทำกำไรทองคำ ก็มีส่วนกดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2,445 ดอลลาร์ต่อออนซ์ 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานคาดการณ์ครั้งแรกของอัตราการเติบโตเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 รวมถึง รายงานยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims)

ส่วนในฝั่งยุโรป ตลาดจะรอลุ้นรายงานดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจของเยอรมนี (IFO Business Climate) เดือนกรกฎาคม 

และในฝั่งไทย เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นว่า ยอดการส่งออก (Exports) ของไทยในเดือนมิถุนายน จะยังคงสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องหรือไม่ และอัตราการเติบโตจะเป็นอย่างไร รวมถึงดุลการค้าของไทยจะยังคงเกินดุลได้หรือไม่  นอกเหนือจากปัจจัยดังกล่าว รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะติดตามอย่างใกล้ชิด และเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควรในช่วงนี้