แบงก์ตั้งสำรองพุ่ง ผลเศรษฐกิจเปราะบาง ครึ่งปีหลัง ‘หนี้เสีย’ จ่อทะลัก
“10 แบงก์ไทย” ตั้งสำรองครึ่งแรกปี 67 พุ่งทะลัก 1.19 แสนล้าน เพิ่มขึ้นเกือบ 12% หลังความไม่แน่นอนจากผลกระทบเศรษฐกิจชะลอตัว หวั่นคุณภาพลูกหนี้ดิ่ง “กสิกรไทย-เอสซีบี เอกซ์” จับตาลูกหนี้ใกล้ชิด “นอนแบงก์” ย้ำสำรองยังสูงครึ่งปีหลัง
หากดูภาพรวม “หนี้เสีย” ระบบธนาคารพาณิชย์ (แบงก์) และนอนแบงก์ แนวโน้มยังอยู่ “ระดับสูง” ต่อเนื่อง สะท้อนภาพครึ่งแรกปี 2567 “10 ธนาคารพาณิชย์” ของประเทศไทย มีการ “ตั้งสำรองสูง” ระดับ 1.19 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 12% หลังความไม่แน่นอนจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยังคง “เปราะบาง” มากยิ่งขึ้น
“สำรองหนี้สูญ” หรือหนี้การตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ เสมือนเป็น “เกาะป้องกัน”ธนาคารให้สามารถรองรับวิกฤติ เหตุการณ์ไม่คาดฝัน รองรับความเสื่อมถอยของคุณภาพหนี้ของลูกหนี้ได้อย่างดี โดยเฉพาะภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวอาจมีผลกระทบต่อการชำระหนี้ของลูกหนี้ทุกกลุ่มให้ลดลงได้
โดยเฉพาะหลังๆ จะเห็นได้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีนโยบายหรือสนับสนุนให้ธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองเพิ่มขึ้น หากเริ่มเห็นว่าลูกหนี้เริ่มมีปัญหาชำระหนี้บางงวด แม้ยังไม่ได้เป็นลูกหนี้เสียหรือเอ็นพีแอลก็ตาม หรือเป็นอุตสาหกรรมที่มีความเสี่ยงอาจถูกกระทบจากปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ ที่ธนาคารพาณิชย์ต้องเฝ้าระวังและ “ตั้งการ์ด” โดยการตั้งสำรองมากขึ้น โดยเฉพาะลูกหนี้ในกลุ่ม Stage 2 ที่ความสามารถชำระหนี้ด้อยลง
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าหนี้เสียระบบธนาคารพาณิชย์ในธุรกิจขนาดใหญ่ และธุรกิจขนาดกลาง และเอสเอ็มอี ปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงไตรมาส 1 ปี 2567 มากขึ้น ส่วนหนึ่ง ธปท. ระบุว่า มาจากการยกชั้นการตั้งสำรองหนี้และนับลูกหนี้ให้อยู่ในกลุ่มที่เป็นหนี้เสียแล้ว แม้ฐานะลูกหนี้จะชำระหนี้หรือดำเนินการได้ปกติ และสามารถชำระหนี้ได้ตามปกติก็ตาม แต่ด้วยสถานการณ์ความเสี่ยงในต่างประเทศ หรือในประเทศมีเพิ่มขึ้น อาจทำให้ลูกหนี้ด้อยคุณภาพลงได้
การตั้งสำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น หรือเผื่อเหตุการณ์ความไม่แน่นอนข้างหน้าที่จะมีผลต่อลูกหนี้ถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะในยามที่ธุรกิจ หรือลูกหนี้ประสบปัญหาจริงๆ ธุรกิจธนาคารอาจได้รับผลกระทบน้อย ทำให้ธนาคารมีความทนทานรองรับวิกฤติหรือผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะข้างหน้าได้
สำรองหนี้เสียครึ่งปีพุ่ง 12%
สำหรับผลดำเนินงานกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 และครึ่งปีแรกของปี 2567 จาก 10 ธนาคารพาณิชย์ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กลุ่มเอสซีบี เอกซ์ (SCB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารทิสโก้ (TISCO) ธนาคารแลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LHFG) ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย (CIMBT)
โดยสำรองหนี้สูญโดยรวมไตรมาส 2 อยู่ที่ 61,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.05 % หากเทียบไตรมาสก่อนหน้า โดยธนาคารที่ตั้งรองเพิ่มขึ้นมากที่สุดในไตรมาส 2 ปีนี้ คือ เกียรตินาคินภัทร เพิ่มขึ้นถึง 190% มาอยู่ที่ 1,769 ล้านบาท ถัดมาคือ ทิสโก้ สำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น 46.24% มาอยู่ที่ 408 ล้านบาท และธนาคารกรุงเทพ สำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น 21.49% มาอยู่ที่ 10,426 ล้านบาท ขณะที่เอสซีบี เอกซ์ ก็สำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 13.97% มาอยู่ที่ 11,626 ล้านบาท
ขณะที่รอบครึ่งปี ธนาคารโดยรวมตั้งสำรองหนี้เสียทั้งสิ้น 119,722 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 11.59% โดยธนาคารที่ตั้งสำรองรอบครึ่งปีเพิ่มมากที่สุด คือ ทิสโก้ สำรองหนี้สูญเพิ่มขึ้น 663% มาอยู่ที่ 678 ล้านบาท ถัดมา คือ กรุงศรีฯ สำรองหนี้เสียเพิ่มขึ้น 76% หรือ 24,088 ล้านบาท และทีทีบี สำรองหนี้เพิ่มขึ้น 22.03% มาอยู่ที่ 10,397 ล้านบาท และธนาคารกรุงเทพ สำรองเพิ่มขึ้น 9.53% มาอยู่ที่ 19,007 ล้านบาท
ธนาคารพาณิชย์ส่วนใหญ่ ที่มีการตั้งสำรองเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ตั้งสำรองจากคุณภาพลูกหนี้ที่อาจเสื่อมถอยลง จากภาวะเศรษฐกิจที่อาจเปราะบางลง และตั้งสำรองสูงขึ้นจากแรงกดดันจากหนี้ครัวเรือนอยู่ระดับสูง ซึ่งอาจนำมาสู่ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ที่อาจลดลงในอนาคต
สำรองพุ่งสะท้อนหนี้เสียในระบบขยับ
การตั้งสำรองหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ ถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ “หนี้เสีย” ในระบบธนาคารที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น โดย ครึ่งปี หนี้เสียของทั้ง 10 ธนาคารปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 534,789 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.59% จาก 511,318 ล้านบาท อาทิ ธนาคารกรุงเทพ ที่มีหนีเสียเพิ่มขึ้น 15.34% ธนาคารกรุงศรี เพิ่มขึ้น 18.69% เกียรตินาคินภัทร เพิ่มขึ้น 23%
“กสิกรไทย-เอสซีบีเอกซ์” เฝ้าระวังพอร์ตลูกหนี้
นายพิพิธ เอนกนิธิ ผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ครึ่งปีหลังธุรกิจธนาคารยังคงเผชิญความท้าทายต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจที่ผันผวน และความไม่แน่นอน ทำให้ครึ่งปีหลังธนาคารจะเน้นควบคุมคุณภาพสินเชื่อมากขึ้น และแม้ครึ่งปีแรก ธนาคารจะตั้งสำรองไว้อยู่ระดับสูง เพื่อรองรับความไม่แน่นอนแล้วก็ตาม ด้วยเศรษฐกิจปัจจุบันธนาคารต้องจับตาใกล้ชิดมากขึ้น และธนาคารเองต้องติดตามลูกค้าของธนาคาร เพื่อช่วยประคับประคอง และช่วยลูกค้าให้กลับมาดำเนินธุรกิจได้มากขึ้น
นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยครึ่งแรกที่เติบโตต่ำกว่าคาดการณ์ และยังไม่มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทจึงให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่าง “ระมัดระวัง” เน้นความมั่นคงทางการเงิน รักษาระดับเงินสำรองให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
รวมทั้งบริษัทจะใช้ความระมัดระวังมากขึ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้ โดยเฉพาะความเสี่ยงจากคุณภาพสินทรัพย์ ที่อาจกระจายตัวจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยในกลุ่มลูกค้าบุคคลไปสู่เศรษฐกิจในวงกว้าง สิ่งสำคัญลำดับแรก คือ ดูแลความเข้มแข็งของงบดุลอย่างรอบคอบ ลดความเสี่ยง และแสวงหาการเติบโตอย่างมีคุณภาพ
โดยบริษัทได้ใช้แนวทางที่ระมัดระวังความเสี่ยงสำหรับสินเชื่อเช่าซื้อ โดยคาดการณ์ถึงการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในอุตสาหกรรมช่วงก่อนหน้านี้ ด้วยเหตุนี้จึงลดความเสี่ยงและลดลำดับความสำคัญของพอร์ตโฟลิโอนี้ และกลยุทธ์นี้กำลังเกิดผล
“อิออน” รับตั้งสำรองเข้มในระดับสูง
นายนันทวัฒน์ โชติวิจิตร กรรมการบริหาร ฝ่ายการตลาดบริษัท อิออน ธนสินทรัพย์ (ไทยแลด์) หรือ AEONTS เปิดเผยว่า แนวโน้มตั้งสำรองหนี้เสียภาพรวมธุรกิจนอนแบงก์ไตรมาส 2 ปีนี้ และช่วงที่เหลือของปีนี้ ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการคุณภาพพอร์ตลูกค้าแต่ละบริษัท ซึ่งส่วนใหญ่ยังคงตั้งสำรองหนี้เสียอย่างเข้มงวด “ทรงตัว” ระดับสูง เช่นกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมา
เนื่องจากมาตรการธปท. ให้มีการช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีปัญหาหนี้เรื้อรัง (PD) และการผ่อนชำระขั้นต่ำใหม่ของบัตรเครดิตจากเดิม 5% ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 8% ทำให้ธุรกิจนอนแบงก์ยังคงดำเนินธุรกิจอย่างระมัดระวัง และเน้นบริหารพอร์ตอย่างมีคุณภาพ อย่างไรก็ตาม มองว่าหากธปท. ปรับมาตรการผ่อนชำระขั้นต่ำใหม่ของบัตรเครดิต กลับมาเป็นเหมือนเดิมที่ 5% ได้จริง ช่วยผ่อนคลายการตั้งสำรองหนี้เสียลงได้ ขณะที่หนี้ครัวเรือนยังทรงตัวในระดับสูงเป็นปกติเช่นเดิม
ในส่วนของบริษัทคาดว่าแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้ ไตรมาส 2 ปีนี้ยัง “ทรงตัว” จากไตรมาส 1 ปีนี้หลังจากการบริหารจัดการพอร์ตเข้มงวดเพื่อคุม NPL และฐานลูกค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นกลุ่มรายได้ปานกลางถึงล่าง ทำให้อัตราส่วนสำรองต่อ NPL (coverage ratio) ยังคงอยู่ระดับไม่ต่ำกว่า 100% เช่นเดียวกับ NPL คาดยังทรงตัวระดับเดียวกับไตรมาส 1 ที่ผ่านมานี้ ที่ระดับ 5.4% ถือว่ายังประคองตัวได้ดี
“เคทีซี” ตั้งสำรองเพิ่มตามหลักระมัดระวัง
นางพิทยา วรปัญญาสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย หรือ KTC กล่าวว่า งบการเงินรวมของกลุ่มบริษัทครึ่งปีแรกการตั้งสำรองเพิ่มตามหลักความระมัดระวัง รับความผันผวนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต แต่ NPL ของบริษัทอยู่ที่ 1.97% เป็น NPL บัตรเครดิตอยู่ที่ 1.42% และ NPL สินเชื่อบุคคลอยู่ที่ 2.21% ถือว่าNPL รวมต่ำกว่าอุตสาหกรรม ดังนั้น บริษัทยังมีเงินสำรองเพียงพอ มี NPL Coverage Ratio ในระดับแข็งแกร่งที่ 363.3%
“ไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ภาพรวมการดำเนินงานเคทีซีและกลุ่มบริษัททรงตัว จากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน ผู้บริโภคใช้จ่ายระมัดระวัง แม้ปริมาณการใช้จ่ายผ่านบัตรเติบโตเพิ่มขึ้น แต่เป็นการใช้จ่ายเพื่อสิ่งที่จำเป็นในชีวิต ขณะที่พอร์ตสินเชื่อบุคคลขยายตัวเพียงเล็กน้อย จากปัญหาหนี้ครัวเรือนที่มีสัดส่วนสูงขึ้น ประกอบกับเกณฑ์การอนุมัติสินเชื่อที่รัดกุม สำหรับคุณภาพพอร์ตของกลุ่มบริษัทยังบริหารจัดการได้ดี”
“เมืองไทยฯเข้มปล่อยสินเชื่อ
นายปริทัศน์ เพชรอำไพ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เมืองไทย แคปปิตอล หรือ MTC กล่าวว่า บริษัทจัดเก็บหนี้มีประสิทธิภาพ แนวโน้มไตรมาส 2 ปีนี้ คาดสามารถทำได้ตามเป้าที่กำหนด ทำให้ภาพการตั้งสำรองยังคงอยู่ในกรอบตามกำหนดวางเป้าหมายมีอัตราส่วนสำรองต่อ NPL ไว้ที่ไม่ต่ำกว่า 100% และ NPL ratio ไม่เกิน 3.20% โดยไตรมาส 1 ที่ผ่านมา อัตราส่วนสำรองต่อ NPL อยู่ที่ระดับ 120% และ NPL อยู่ที่ 3.03%
และแนวโน้มในภาพไตรมาส 3 และ 4 บริษัทประเมินว่ายังเป็นไปตามเป้าหมายที่บริษัทกำหนดไว้ มีพอร์ตสินเชื่อเติบโตอยู่ระดับ 15-20%, coverage ratio อยู่ไม่ต่ำกว่า 100% และ NPL ไม่เกิน 3.20% เน้นบริหารจัดการการปล่อยสินเชื่อที่มีหลักประกันและเข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อไม่มีหลักประกัน
“บล.กสิกรไทย”ชี้กลุ่มนอนแบงก์ตั้งสำรองสูง
นายกรกช เสวตร์ครุตมัต ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) กสิกรไทย กล่าวว่า ธุรกิจนอนแบงก์แนวโน้มการตั้งสำรองหนี้ไตรมาส 2 ปี 2567 คาดว่า ยังอยู่ในระดับสูงไม่ต่างจากไตรมาส 1 ที่ผ่านมาเนื่องจาก 4 สาเหตุหลัก คือ
1. หากตีความจากงบกลุ่มแบงก์และมุมมองที่ประชุมนักวิเคราะห์ยังเห็นสถานการณ์ที่ยากลำบากในการทวงถามหนี้และปล่อยสินเชื่อ
2. มาตรการช่วยเหลือที่หมดลงตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว น่าจะส่งผลกระทบต่อการตกชั้นหนี้ของลูกค้ากลุ่มเปราะบางอยู่
3. การผ่อนจ่ายขั้นต่ำบัตรเครดิตที่สูงขึ้น น่าจะส่งผลกระทบทางตรงต่อ NPL กลุ่มบัตรเครดิต และทางอ้อมกับลูกค้าลีสซิ่งอื่นๆ
และ 4. ผลขาดทุนรถถูกยึดอาจเริ่มกลับมาเพิ่มได้ จากปริมาณรถถูกยึดที่น่าจะเพิ่มขึ้น