ค่าเงินบาทวันนี้ 5 ส.ค.67 ‘แข็งค่า‘ หลังศก.สหรัฐแย่กว่าคาด-ขายทำกำไรทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 5 ส.ค.67 ‘แข็งค่า‘ หลังศก.สหรัฐแย่กว่าคาด-ขายทำกำไรทองคำ

ค่าเงินบาทวันนี้ 5 ส.ค.67 เปิดตลาด “แข็งค่า“ ที่ 35.48 บาทต่อดอลลาร์ “กรุงไทย” ชี้ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาแย่กว่าคาด และมีโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ แต่ยังมีแรงกดดันฝั่งอ่อนค่า กังวลปัญหาการเมืองในประเทศ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 35.20-35.40 บบาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า "ค่าเงินบาทวันนี้" ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  35.32 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่าขึ้นเล็กน้อย” จากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ  35.35 บาทต่อดอลลาร์

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 35.00- 35.85 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.20-35.40 บาทต่อดอลลาร์

โดยนับตั้งแต่ช่วงวันศุกร์ ที่ผ่านมา เงินบาทเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบ sideways (แกว่งตัวในกรอบ 35.14-35.40 บาทต่อดอลลาร์) โดยมีจังหวะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ หลังรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เดือนกรกฎาคม ล้วนออกมาแย่กว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดเริ่มประเมินว่า เฟดมีโอกาสลดดอกเบี้ยได้ถึง 50bps ในการประชุมเดือนกันยายน (พร้อมมองว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้มากกว่า 100bps ในปีนี้) 

ค่าเงินบาทวันนี้ 5 ส.ค.67 ‘แข็งค่า‘ หลังศก.สหรัฐแย่กว่าคาด-ขายทำกำไรทองคำ

นอกจากนี้ ในช่วงหลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ เงินบาทก็ยังได้แรงหนุนเพิ่มเติม จากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นเข้าใกล้จุดสูงสุดในปีนี้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก่อนที่ราคาทองคำจะปรับตัวลดลงหนักราว -60 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ตามการปรับสถานะของผู้เล่นในตลาด ซึ่งการปรับตัวลงของราคาทองคำดังกล่าว ก็เปิดโอกาสให้ผู้เล่นในตลาดยังคงทยอยเข้าซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว และโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำในช่วงนั้นก็มีส่วนกดดันให้เงินบาทผันผวนอ่อนค่าลง แม้ว่าโดยรวมเงินดอลลาร์จะทรงตัวในกรอบ sideways ก็ตาม

แนวโน้มค่าเงินบาท

สำหรับ แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า ปัจจัยเสี่ยงที่อาจกดดันเงินบาทผันผวนอ่อนค่าเริ่มมีมากขึ้น โดยเฉพาะหากตลาดยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง หรือกังวลปัญหาการเมืองในประเทศ กดดันให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายสินทรัพย์ไทย อีกทั้ง ควรระวังความผันผวนจาก ปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางและทิศทางเงินเยนญี่ปุ่น ตามการปรับสถานะ JPY-Carry Trade หรือสถานะ Short JPY

ในส่วนเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นได้ หาก 1) รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด ทำให้ผู้เล่นในตลาดปรับมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยเฟด 2) ตลาดการเงินยังอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงจากความผิดหวังรายงานผลประกอบการ หรือปัญหาความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่พร้อมจะทวีความรุนแรงและบานปลายมากขึ้น

 

เราคงคำแนะนำว่า ผู้เล่นในตลาดควรเลือกใช้เครื่องมือในการปิดความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนที่หลากหลายมากขึ้น ท่ามกลางความผันผวนของเงินบาท รวมถึงสกุลเงินอื่นๆ ที่สูงขึ้นกว่าช่วงอดีตที่ผ่านมาพอสมควร โดยผู้เล่นในตลาดอาจเลือกใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ Options หรือ Local Currency ควบคู่ไปกับการปิดความเสี่ยงผ่านการทำสัญญา Forward 

 

 

สัปดาห์ที่ผ่านมา แม้ตลาดการเงินจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) แต่เงินดอลลาร์ก็อ่อนค่าลง หลังผู้เล่นในตลาดคาดหวังว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยได้เกิน 1% ในปีนี้ จากรายงานข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด

 

สำหรับสัปดาห์นี้ เราประเมินว่า ควรระวังความผันผวน จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญสหรัฐฯ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน และสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง ส่วนในฝั่งไทย ควรจับตาประเด็นการเมืองในประเทศ

 

มุมมองเศรษฐกิจทั่วโลก

▪ ฝั่งสหรัฐฯ – ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของสหรัฐฯ เช่น ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (ISM Services PMI) เดือนกรกฎาคม และยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงาน (Jobless Claims) พร้อมกันนั้น ผู้เล่นในตลาดจะรอติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดต่อแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐฯ หลังตลาดรับรู้รายงานข้อมูลการจ้างงานล่าสุด และการส่งสัญญาณต่อแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายของเฟด นอกจากนี้ เราคงมองว่า ผู้เล่นในตลาดจะยังคงให้ความสำคัญกับ รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน โดยผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินได้พอสมควร หากตลาดผิดหวังกับรายงานผลประกอบการ โดยอาจกดดันให้ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นได้ 

 

▪ ฝั่งยุโรป – บรรดาผู้เล่นในตลาดจะรอจับตารายงานข้อมูลเศรษฐกิจยูโรโซน อาทิ ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนสิงหาคม และยอดค้าปลีก (Retail Sales) เดือนมิถุนายน พร้อมกันนั้น รายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนจะยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินยุโรปและเงินยูโร (EUR) ในช่วงนี้ได้ ก่อนที่ตลาดจะกลับมาให้ความสนใจประเด็นการเมืองฝรั่งเศส ในช่วงหลังจบมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ว่า ฝรั่งเศสจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมากได้สำเร็จหรือไม่   

 

 

▪ ฝั่งเอเชีย –  ผู้เล่นในตลาดจะรอประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจจีน ผ่านรายงานข้อมูลเศรษฐกิจเดือนกรกฎาคม อาทิ ดัชนี Caixin PMI ภาคการบริการ (จะสะท้อนภาพกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง ได้ชัดเจน) ยอดการค้าระหว่างประเทศ (Exports & Imports) และอัตราเงินเฟ้อ CPI ในส่วนของนโยบายการเงิน ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตาผลการประชุมธนาคารกลางออสเตรเลีย (RBA) และธนาคารกลางอินเดีย (RBI) ซึ่งบรรดานักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ทั้ง RBA และ RBI อาจยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 4.35% และ 6.50% ก่อนที่จะเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ เมื่อทั้งสองธนาคารกลางมั่นใจแนวโน้มการชะลอลงของอัตราเงินเฟ้อ ซึ่งดูจะยังคงสูงอยู่ โดยเฉพาะฝั่งอินเดีย และเมื่อเฟดได้เริ่มทยอยลดดอกเบี้ยลง

 

▪ ฝั่งไทย – เราประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI ทั่วไปในเดือนกรกฎาคม อาจสูงขึ้นสู่ระดับ 0.8% (+0.2%m/m) ตามการปรับตัวขึ้นบ้างของราคาพลังงานและราคาอาหาร โดยเฉพาะเนื้อสัตว์ ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core CPI อาจเพิ่มขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 0.40% นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอจับตา คำวินิจฉัยคดียุบพรรคก้าวไกลโดยศาลรัฐธรรมนูญ (รับรู้ในช่วง 15.30 น. วันที่ 7 สิงหาคม) ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบรรยากาศในตลาดการเงินไทยในช่วงเดือนสิงหาคมได้ (เราคาดว่า ผู้เล่นในตลาดอาจให้ความสำคัญกับคดีถอดถอนนายกฯ มากกว่า)