แบงก์ชาติ ชี้หนี้เสียไหล เหตุติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ 60%
แบงก์ชาติ ชี้หนี้เสียยังไหลเพิ่ม เหตุแบงก์ติดต่อลูกหนี้ไม่ได้ โดยเฉพาะสินเชื่อไม่มีหลักประกันติดต่อไม่ได้ 60% โอดมาตรการแก้หนี้เรื้อรังล่าสุดคนเข้าโครงการแค่1-2% จากลูกหนี้ 5 แสนบัญชี ส่งผลแก้เกณฑ์ขยายปิดจบหนี้เป็น7ปี เปิดให้ใช้วงเงินบัตรได้ต่อไม่ต้องปิดบัตร
นางสาวอรมนต์ จันทพันธ์ ผู้อำนวยงานฝ่ายคุ้มครองและตรวจสอบบริการทางการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ปัจจุบันหากดูทิศทางหนี้เสียหรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ พบว่ายังมีสัญญาณเพิ่มขึ้น ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ธปท.ประเมินไว้อยู่แล้ว ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้า ทั้งนี้พบว่าลูกหนี้ที่เป็นหนี้เสียส่วนใหญ่
ส่วนหนี้เสียที่เห็นในปัจจุบัน บางส่วนมาจาก ไม่สามารถติดต่อลูกหนี้ได้ โดยพบว่า ไม่ติดต่อลูกหนี้ที่ไม่มีหลักประกันได้ถึง 60% ขณะที่ลูกหนี้ที่มีหลักประกัน เช่นสินเชื่อบ้าน สินเชื่อรถ ติดต่อไม่ได้ 30%
ทั้งนี้หากดูโครงการแก้หนี้เรื้อรัง (Persistent Debt) ที่เพิ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ เม.ย.ปี 2567 ที่ผ่านมา พบว่าปัจจุบันยอดเข้าโครงการยังอยู่ระดับต่ำ โดยเข้ามาเพียง 1-2% เท่านั้นหากเทียบกับลูกหนี้ทั้งหมดที่เข้าข่ายเป็นหนี้เรื้อรังที่ 5 แสนบัญชี หรือคิดเป็นวงเงินสินเชื่อกว่า 1.44 หมื่นล้านบาท
ซึ่งยอมรับว่าต่ำกว่าเป้าหมายที่ธปท.ประเมินไว้ จึงนำมาสู่การปรับมาตรการเพื่อเปิดโอกาสให้ลูกหนี้สามารถเข้าโครงการได้มากขึ้น โดยขยายระยะเวลาในการปิดจบหนี้จากเดิม 5 ปี เป็น 7 ปี บนอัตราดอกเบี้ยที่ 15% และยังขยายเกณฑ์ โดยเปิดให้ลูกหนี้ที่สามารถเข้าโครงการสามารถใช้วงเงินสินเชื่อบุคคลที่เหลือได้ จากเดิมที่กำหนดว่า เมื่อลูกหนี้เข้าโครงการแก้หนี้เรื้อรังจะต้องปิดบัตรฯทำให้ไม่สามารถใช้วงเงินสินเชื่อที่เหลือได้
ทั้งนี้มองว่า เมื่อมาตรการมีผลบังคับใช้ โดยจะเริ่มตั้งแต่ 1ม.ค. ปี 2568 ลูกหนี้น่าจะเข้าสู่โครงการได้มากขึ้น โดยคาดหวังเห็นลูกหนี้เข้าโครงการที่ราว 20% ของลูกหนี้เรื้อรังทั้งหมดที่กว่า 5 แสนบัญชี
ด้านนายสมชาย เลิศลาภวศิน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จากการออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เพื่อแก้ไขแก้หนี้ครัวเรือนล่าสุด หนึ่งในนั้น คือการคงการจ่ายผ่อนชำระขั้นต่ำ (Minimum payment) ของบัตรเครดิต อยู่ที่ 8%ต่อไปอีก 1ปี จนถึงสิ้นปี 2568 จากเดิมกำหนดปรับเพดานการผ่อนขั้นต่ำเป็น 10% ในต้นปีหน้า
โดยมาตรการดังกล่าวมี 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ สำหรับลูกหนี้ที่สามารถผ่อนจ่ายขั้นต่ำมากกว่า 8% จะได้รับเครดิตเงินคืนรวมอยู่ที่ 0.75% โดยแบ่งเป็นครึ่งปีแรกที่ 0.50% และครึ่งปีหลังอีก 0.25% โดยลูกหนี้จะได้รับดอกเบี้ยคืนทุก 3 เดือน เพื่อจูงใจลูกหนี้ให้ปิดหนี้เร็วขึ้น โดยเบื้องต้นประเมินว่า ผู้ให้บริการหรือธนาคารจะสูญเสียดอกเบี้ย จากใช้สิทธิ “เครดิตเงินคืน”จากการผ่อนชำระขั้นต่ำมากกว่า 8% รวมทั้งสิ้น 1พันล้านบาทภายใน1ปีหลังจากมีผลบังคับใช้
สำหรับกลุ่มสอง คือ กลุ่มที่จ่ายขั้นต่ำบัตรเกิน 5% แต่ไม่ถึง 8% กลุ่มนี้หากลูกหนี้ผ่อนชำระไม่ไหว และเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ โดยมีโอกาสคงวงเงินส่วนที่เหลือในบัตรเครดิตได้ จากเดิม ต้องปิดวงเงินทันทีหลังเข้าสู่การปรับโครงการ แต่อย่างไรก็ตาม การคงวงเงินในบัตรไว้หลังปรับโครงสร้างต้องอยู่ในดุลพินิจของธนาคาร หรือผู้ให้บริการแต่ละแห่งบนความสามารถชำระหนี้
กลุ่มที่สามคือกลุ่มที่มีความสามารถชำระขั้นต่ำไม่ถึง 5% กลุ่มนี้ลูกหนี้สามารถเข้าโครงการปรับโครงสร้างหนี้ หรือหากเป็นหนี้เสีย สามารถเข้าสู่โครงการคลินิกแก้หนี้ได้
โดยมาตรการนี้นอกจากช่วยลูกหนี้ให้ได้รับการช่วยเหลือผ่านการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว ลูกหนี้ยังสามารถได้รับดอกเบี้ยที่ถูกลงจากการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะทำให้ลูกหนี้สามารถปิดจบหนี้ได้เร็วขึ้น แต่กลุ่มนี้ไม่สามารถกลับมาใช้วงเงินบัตรได้ และหากเข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้จะต้องปิดบัตรทันที
อย่างไรก็ตาม หากดูหนี้ค้างชำระสินเชื่อบัตรเครดิตที่ผ่านมา โดยเอ็นพีแอลในไตรมาสแรกปีนี้เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.5% เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ที่หนี้เสีย 2.8% ขณะที่ SM เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 5.5% จาก 5.3%