ให้น้ำหนักปัจจัยการเมืองทั้งไทยและต่างประเทศ

ให้น้ำหนักปัจจัยการเมืองทั้งไทยและต่างประเทศ

พอร์ตการลงทุน เดือน สิงหาคม แนะนำ หุ้น 50% เป็น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ประเทศละ 10% เวียดนาม อินเดีย ไทย รวมกันไม่เกิน 15% และจีน 5% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้เอกชนระยะกลางที่อยู่ในระดับ investment grade 15% ตลาดเงิน 10% ที่เหลือ ลงทุนใน น้ำมัน ทอง และ REIT รวมกัน 10%

เดือนกรกฏาคมที่ผ่านมา ผมมองว่า ปัจจัยที่มีนัยสำคัญต่อประเทศไทยยังเบาบางครับ อาจจะบอกได้ว่าประเด็นเรื่องบุคคลสำคัญทางการเมือง หรือความเคลื่อนไหวทางการเมืองในส่วนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการลงทุนก็ดูจะบดบังประเด็นสำคัญอื่นๆไปหมด ดังนั้น ปัจจัยที่ขับเคลื่อนภาวะการลงทุนส่วนใหญ่จะเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับตัวเลขเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ เรามาดูกันว่ามีเรื่องอะไรบ้างขอเริ่มจากไทยก่อนครับ

กระทรวงพาณิชย์เปิดเผยยอดส่งออกเดือนมิ.ย.หดตัว 0.3% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่วนยอดนำเข้าขยายตัว 0.3% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้เช่นกัน ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 218 ล้านเหรียญฯ ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ขณะที่ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจกันบ้าง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2567 ที่ระดับ 58.9 ลดลงจากระดับ 60.5 ในเดือนก่อน เป็นการปรับลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือน สาเหตุสำคัญได้แก่ ความกังวลต่อการเมืองไทยที่เริ่มมีความเสี่ยงด้านเสถียรภาพ ประกอบกับราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อภาระค่าครองชีพ ดูแล้วก็เหมือนว่าความหวังของเศรษฐกิจไทย ก็น่าจะมาจากการท่องเที่ยว และการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ส่วนเรื่องอื่นๆ ก็ จะเป็นเรื่องการเคลื่อนไหวทางการเมืองที่มีผลมาจาก ผลการเลือกตั้ง สว. เรื่องพรรคก้าวไกล และคำตัดสินของศาลในกรณีของท่านนายกรัฐมนตรี 

ภาพต่างประเทศ เป็นไง อันนี้เยอะดีครับ ตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังปรับตัวกันไปมา ผลการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อ CPI ประจำเดือนมิถุนายนปรากฏว่าตัวเลข Headline CPI ขยายตัวเพียง 3.0% เทียบกับปีก่อน และพลิกหดตัว 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ในขณะที่ Core CPI ขยายตัว 3.3% เมื่อเทียบกับปีก่อน และ 0.1% เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา น้อยกว่าที่ตลาดคาดเช่นกัน การหดตัวลง ของ Headline CPI นั้นถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ปีกว่าตั้งแต่ช่วง Covid ปี 2020 จากตัวเลขดังกล่าว ซึ่ง ประธาน FED ยอมรับว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯเริ่มลดความร้อนแรงลง (สะท้อนผ่านอัตราการว่างงานที่สูงขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน) 

นอกจากนั้น ยังได้พูดว่าการคงดอกเบี้ยที่ระดับสูงยาวนานเกินไป อาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ และยังแสดงความเห็นอีกครั้งในช่วงกลางเดือนว่า ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯที่ออกมาตลอดช่วงไตรมาสที่ 2 ได้สร้างความมั่นใจอย่างยิ่งว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯกำลังเดินหน้ากลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 2% ทำให้ดูแล้วว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งแรกของสหรัฐฯ น่าจะมีโอกาสลดครั้งแรกในเดือนกันยายน และได้มีการคาดการว่าจะปรับลดเป็นจำนวน 3 ครั้ง ครั้งละ 0.25% ก่อนสิ้นปีนี้ ส่วนขาวอื่นก็มีกรณี คุณ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ถูกลอบสังหารแต่ไม่สำเร็จ และคุณ โจ ไบเดน ที่ถอนตัวจากการสมัครเข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยเสนอ ชื่อ คุณ กมลา แฮร์ริส แทน เหล่านี้เป็นปัจจัยที่ต้องติดตามต่อนะครับ 

อย่างไรก็ดี ภาพการลงทุนนั้น ประเทศไทยปัจจัยการเมืองยังคงเป็นตัวหลัก ตัดสินเรื่องยุบ หรือ ไม่ยุบพรรคก้าวไกล พิจารณาว่าคุณเศรษฐา จะได้ไปต่อหรือไม่ แต่ผมมองว่า เรื่องสำคัญที่น่าสนใจมากกว่าคือการประกาศผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทจดทะเบียน ที่จะทยอยออกมาในเดือนนี้ อีกเรื่องที่ลืมไปคือ ดิจิตอลวอลเล็ต ที่สามารถทยอยลงทะเบียนกันไปบ้างแล้ว ส่วนปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ ก็น่าที่จะสร้างความผันผวนให้กับตลาดเงินตลาดทุนทั่วโลกต่อไป ไม่นับรวมกับปัจจัยทางด้านนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ซึ่งจะเริ่มเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อน่าจะกักกันต่อไม่ได้แล้ว ใครต้องขึ้นดอกเบี้ยก็ต้องขึ้น ใครที่ควรจะลด ก็คงจะต้องลด มากักกันไปคงจะไม่ไหวแล้วละครับ

พอร์ตการลงทุน เดือน สิงหาคม ผมแนะนำ หุ้น 50% เป็น สหรัฐฯ ยุโรป และญี่ปุ่น ประเทศละ 10% เวียดนาม อินเดีย ไทย รวมกันไม่เกิน 15% และจีน 5% ตราสารหนี้และตลาดเงิน 40% แบ่งเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น 15% ตราสารหนี้เอกชนระยะกลางที่อยู่ในระดับ investment grade 15% ตลาดเงิน 10% ที่เหลือ ลงทุนใน น้ำมัน ทอง และ REIT รวมกัน 10% ท้ายสุดมีคนสงสัยว่าการจัดพอร์9 ของผมแบบนี้ ถือว่าเป็นแบบไหน ก็ขอตอบว่าเป็นแบบ moderate หรือ medium risk ครับ