นักเศรษฐศาสตร์หวั่น สหรัฐถดถอย ทุบเศรษฐกิจไทยดิ่งลงแรง
นักเศรษฐศาสตร์หวั่น เศรษฐกิจสหรัฐถดถอย กระทบเศรษฐกิจไทยหมุนลงแรง ' อีไอซี' ห่วงไทยเปราะบางลง ปัญหาเฉพาะหน้ารุม
'เกียรตินาคินภัทร' หวั่นคนหยุดบริโภค ลงทุน ฉุดเศรษฐกิจสหรัฐเกิดภาวะถดถอยจริง 'กรุงไทย' ชี้ไทยอาจกระทบไม่มาก แต่ห่วงความเชื่อมั่นกระทบพอร์ตลงทุนไทย
หวั่นสหรัฐถดถอยทุบเศรษฐกิจไทยทรุด
ดร.สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่า เป็นไปได้ที่เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีค่อนข้างน้อย แต่มุมการชะลอตัวลงแน่นอนจากการทำนโยบายการเงินตึงตัวต่อเนื่องเป็นเวลานาน
โดยภาพเหล่านี้กระทบเศรษฐกิจไทยแน่นอนที่มีโอกาสชะลอตัวลงมากระยะถัดไป ผ่านกำลังซื้อกิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกที่ลดลง ดังนั้น เป็นเรื่องที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดในระยะข้างหน้า
หวั่นเศรษฐกิจไทยหมุนลงเร็วกว่าคาด
ทั้งนี้ ยอมรับว่าความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมีมากขึ้น แม้เป็นสิ่งที่ EIC ประเมินอยู่แล้ว แต่จากผลกระทบข้างต้นอาจเศรษฐกิจไทยอาจหมุนลงเร็วกว่าคาดได้ เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเผชิญความเสี่ยงสูงจากความเปราะบางในประเทศที่มีสูง
ดังนั้น หากเกิดภาวะถดถอยในสหรัฐ อาจทำให้ความเสี่ยงจุดอื่นเพิ่มขึ้นได้ รวมไปถึงปัจจัยสงครามระหว่างประเทศ ภาคการเงินมีความอ่อนแอลงหรือไม่ แม้ EIC ประมาณการเศรษฐกิจที่ 2.5% ปีนี้ แต่มองว่าเศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงมากขึ้น ทั้งปีนี้ และปีหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้มีความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยลงได้ในปลายปีนี้
“กังวลเพราะเราเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะหมุนลงเร็วจากพื้นฐานที่เปราะบางอยู่แล้ว วันนี้ปัญหาของเศรษฐกิจไทย ประเด็นที่พูดถึงกันมากคือ มาจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง แต่การที่เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลง จะไปเพิ่มปัญหาเฉพาะหน้าให้กับเศรษฐกิจไทยมากขึ้น เหล่านี้จะทำให้เศรษฐกิจไทยเปราะบาง แถมติดเชื้อไปอีก”
สหรัฐถดถอย-BOJลดดอกเบี้ย หนุนปั่นป่วนทั่วโลก
ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า ความผันผวนในตลาดโลก โดยเฉพาะการปรับตัวลดลงแรงของตลาดทุนทั่วโลก ร่วมถึงหุ้นไทยปัจจัยหลักมาจากเศรษฐกิจสหรัฐอ่อนแอลงจากตัวเลข PMI ภาคการผลิตชะลอตัว อัตราการว่างงานของสหรัฐอยู่ระหว่างสูงขึ้น ทำให้ตลาดกังวลเศรษฐกิจสหรัฐชะลออาจทำให้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ลดดอกเบี้ยมากว่าคาด
นอกจากนี้ มีปัจจัยลบจากกรณีที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) กลับมาขึ้นดอกเบี้ยมาอยู่ที่ 0.25% สวนทางทิศทางดอกเบี้ยโลก ซึ่งคิดกับที่นักลงทุนคาดการณ์ไว้ ซึ่งจากการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยระดับต่ำมานานที่ระดับเกือบ 0% หรือ 0.1% ส่งผลให้ก่อนหน้านี้มีการกู้เงินเยนออกไปลงทุนในต่างประเทศค่อนข้างมาก
โดยเฉพาะกลุ่มเทคโนโลยี หุ้นเทคฯในสหรัฐ และทั่วโลก เช่นเดียวกันสินทรัพย์ทั่วโลกที่หันมาลงทุนกลุ่มเทคฯ มากขึ้น ดังนั้นเมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ญี่ปุ่นขึ้นดอกเบี้ย ทำให้นักลงทุนกังวลเทขายสินทรัพย์ต่างประเทศเพื่อดึงเงินกลับญี่ปุ่นมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากต้นทุนทางการเงินที่จะเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า ซึ่งมีผลกดดันต่อสินทรัพย์ทั่วโลกให้ปรับตัวลดลง
หวั่นขาดความเชื่อมั่นส่งผล ‘สหรัฐถดถอยจริง’
ทั้งนี้นักลงทุนมีความกังวลต่อเศรษฐกิจสหรัฐมากขึ้นว่า อาจเข้าสู่ภาวะถดถอย แม้จะยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่ก็มีสัญญาณน่ากังวล เพราะจากคำทำนายของนักลงทุนอาจเปลี่ยนเป็นเรื่องจริงได้ จากการขาดความเชื่อมั่นโดยการลดการลงทุน ลดการบริโภค ชะลอการใช้จ่าย ซึ่งอาจนำไปสู่ ภาวะเศรษฐกิจสหรัฐที่อาจถดถอยจริงได้
“วันนี้ตลาดทุนกังวล สะท้อนให้เห็นผ่านความเชื่อมั่นวันนี้ที่ลดลง วันนี้ทุกคนอยู่บนคำทำนาย แต่เหล่านี้อาจเกิดขึ้นจริงได้ หากทุกคนกังวลจนหยุดการจ้างงาน หยุดการซื้อของแพง หยุดใช้จ่าย อาจทำให้เกิดรีเซกชั่นขึ้นจริงๆ”
หากเศรษฐกิจสหรัฐเดินเข้าสู่ภาวะถดถอยขึ้นจริงๆ มองว่ามีผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกแน่นอน รวมถึงไทย เพราะสหรัฐมีความเชื่อมโยงกับโลกค่อนข้างมาก ขณะที่ไทยมีการส่งออกไปสหรัฐอยู่ที่ราว 17-18% ดังนั้นคงหลีกเลี่ยงผลกระทบได้ยาก
“หากเกิดถดถอยจริงเชื่อว่าเศรษฐกิจทุกประเทศคงแย่ ทุกอย่างจะพัง เรากระทบแน่นอน ซึ่งน่ากังวลเพราะไทยถูกกระทบด้วยทั้งการลงทุน และเซนทิเมนต์ที่จะชะลอลง ดังนั้นต้องจับตาใกล้ชิดว่าสถานการณ์จะกระทบต่อส่งออก ท่องเที่ยวของไทยมากน้อยแค่ไหน”
ทั้งนี้ ไทยควรเตรียมการรับมือจากความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่จะมากขึ้นทั้งจากเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย การเลือกตั้งสหรัฐ รวมถึงสงครามระหว่างประเทศ สงครามการค้าที่ล้วนเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
ห่วงกระทบความเชื่อมั่นตลาดทุน
ดร.พชรพจน์ นันทรามาศ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด และ ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS กล่าวว่า ประเด็นความกังวลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย เป็นเรื่องที่มีการพูดถึงกันต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา และเป็นสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้อยู่แล้วว่ามีความเป็นไปได้ระดับหนึ่ง เพราะการคงอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับสูงมานาน แต่เศรษฐกิจถดถอยของสหรัฐมองว่า ไม่ได้ถดถอยที่น่ากลัว เพราะปัจจุบันเศรษฐกิจสหรัฐในภาพรวมยังเติบโตได้
ดังนั้น ต้องติดตามใกล้ชิดว่าหากเศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงมากขึ้นจะกระทบไทยหรือไม่ แต่มองว่าไม่น่าจะกระทบมากนัก
“เศรษฐกิจสหรัฐหากเจอปัญหา คงมีผลกระทบไม่มาก เพราะสหรัฐชะลอตัวลงจากจุดที่แข็งแกร่ง ต่างกับจีนหรือยุโรป ที่ชะลอตัวจากจุดที่อ่อนแออยู่แล้ว ดังนั้นสิ่งที่ห่วงขณะนี้แม้ ผลกระทบต่อไทย ผ่านส่งออกต่างๆ ไม่มาก แต่ห่วงเรื่องความเชื่อมั่นมากกว่าโดยเฉพี่กระทบต่อตลาดทุน ตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงแรงที่อาจกระทบต่อนักลงทุนได้”
ห่วงเศรษฐกิจสหรัฐกระทบส่งออกไทย
นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า การส่งออกครึ่งปี 2567 (ม.ค.- มิ.ย.) มีมูลค่า 145,290 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 2 % ถือว่า สอบผ่าน จากผลของความร่วมมือระหว่างภาครัฐ และเอกชนที่ฝ่ามรสุม และอุปสรรคในครึ่งปีแรกไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามอิสราเอล-ฮามาส ปัญหาภัยแล้ง เศรษฐกิจโลกชะลอตัว
สำหรับครึ่งปีหลังหวังการส่งออกไทยจะขยายตัว 2 % แม้ต้องเผชิญความไม่แน่นอนในสถานการณ์สงครามอิสราเอล-ฮามาส ที่เริ่มเข้มข้นขึ้น เศรษฐกิจโลกยังอยู่ในภาวะขาลง ภาคการผลิตหรือดัชนี PMI ในประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยทั้งสหรัฐ จีน ญี่ปุ่น ยุโรป ที่ยังอยู่ในระดับทรงตัวต่ำกว่า 50 ปรากฏการณ์ ลานีญาที่อาจมีฝนมากทำให้เกิดน้ำท่วมส่งผลต่อปริมาณผลผลิต
นอกจากนี้ ประเด็นความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจมาจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐ-จีน ที่มีผลต่อการค้า และเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเดือนพ.ย.2567 ซึ่งผู้สมัครทั้ง 2 ฝ่ายมีนโยบายหาเสียงที่แตกต่างกัน และอาจส่งผลต่อมาตรการทางการค้า และมาตรการด้านสิ่งแวดล้อม ปัญหาสหภาพแรงงานสหรัฐทั่วประเทศที่ยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง
ทั้งนี้ อาจทำให้เกิดความขัดแย้งการหยุดการผลิต และกระทบต่อการนำเข้าสินค้าในภาคการผลิตกับประเทศอื่นรวมถึงไทย และปัญหาสินค้าล้นตลาดจากประเทศจีนที่ระบายออกสู่ตลาดโลก ส่งผลให้สินค้าต้นทุนต่ำเข้ามาทุ่มตลาดในไทยอีกนัยหนึ่ง รวมถึงเข้าไปแย่งส่วนแบ่งการตลาดของสินค้าไทยในตลาดต่างประเทศ
“ส่งออกครึ่งปีหลังถือว่าท้าทายมาก ปัจจัยรุมเร้าทุกตัว และต้องจับตาค่าวางเรือที่อาจกลับมาสูงขึ้นอีก เพราะขณะนี้การเดินเรือขนส่งสินค้ากว่า 90% ยังเดินเรืออ้อมแหลมกู๊ดโฮปทำให้ต้นทุนสูง และใช้เวลานานขึ้น แต่หวังว่าการส่งออกจะขยายตัวได้ 1-2% ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกของไทยทั้งปีเป็นไปตามเป้าหมาย 2% มูลค่า 290,700 ล้านดอลลาร์ หรือทะลุ 10 ล้านล้านบาท แต่หากไม่เป็นไปตามที่หวัง อย่างน้อยทั้งปีจะขยายตัว 1% มูลค่า 287,990 ล้านดอลลาร์” นายชัยชาญ กล่าว
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์