ธปท.ผนึก 8 แบงก์ หนุนธุรกิจเปลี่ยนผ่าน สู่ ’ความยั่งยืน’
“แบงก์ชาติ” ร่วมมือ “8 ธนาคารพาณิชย์” เร่งออกผลิตภัณฑ์การเงิน หวังหนุนภาคธุรกิจปรับตัวสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
การสนับสนุนทางการเงินเพื่อการปรับตัวจากธุรกิจที่ยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Brown สู่ less brown หรือ Financing the Transition เป็นสิ่งที่หลายฝ่ายดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขับเคลื่อนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เป็นหัวหอกสำคัญในการ “ผลักดัน” ภาคการเงินให้เกิดความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ล่าสุด ธปท.จับมือกับ 8 ธนาคารพาณิชย์ อาทิ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) ธนาคารทหารไทยธนชาต (TTB) และธนาคารยูโอบี (UOB) ร่วมเปิดตัวผลิตภัณฑ์ที่สนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจปรับตัวไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะกับบริบทของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการฯ ธปท. กล่าวว่า การร่วมมือของภาคการเงินถือว่ามีบทบาทสำคัญอย่างมาก ในการสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจไทยสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะ “เอสเอ็มอี” ที่ถือเป็นก้าวสำคัญที่ทำให้เอสเอ็มอีเริ่มปรับตัวได้อย่างจริงจัง หลักการสำคัญในการปรับตัวที่อยากเน้นย้ำคือ การคำนึงถึง “จังหวะ” และ “เวลา” และ “ความเร็ว” ที่เหมาะกับบริบทของประเทศไทย
ปัจจุบันมีภาคเศรษฐกิจที่เป็นสีน้ำตาลสูง และมีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ไม่สามารถปรับตัวได้ จึงต้องสร้างสมดุลให้ภาคต่างๆ ดังนั้น การสนับสนุนการเงินให้ธุรกิจปรับตัวจากธุรกิจที่ยังไม่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ถือเป็นก้าวสำคัญ แม้จะเริ่มด้วยก้าวเล็กๆ แต่หากเกิดผลเป็นรูปธรรม เหล่านี้จะเกิดผลสัมฤทธิ์ในวงกว้างได้
นายกฤษณ์ จันทโนทก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า ปัจจุบันไทยพาณิชย์เป็นผู้นำสนับสนุนอุตสาหกรรมโรงแรมมากที่สุดในประเทศไทย ด้วยพอร์ตสินเชื่อคงค้างรวมกว่า 134,000 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม โรงแรมเป็นธุรกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ อย่างมีนัย ซึ่งมีผลต่อสภาวะโลกร้อน ธุรกิจนี้จึงต้องรีบปรับตัวอย่างเร่งด่วน ธนาคารไทยพาณิชย์วางแผนนำพาผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมไปสู่โรงแรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Hotel)
ส่วนธนาคารตั้งเป้าหมายการไปสู่ Net Zero ในปี 2050 จากการให้สินเชื่อและการลงทุน สนับสนุนการเงินยั่งยืน 150,000 ล้านบาท ภายในปี 2023-2025
นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ในฐานะที่ธนาคารเป็นธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาคที่ดำเนินธุรกิจโดยให้ความสำคัญกับความยั่งยืน
ล่าสุด ธนาคารกรุงเทพ ได้สร้างสรรค์ “สินเชื่อบัวหลวงกรีนเพื่อเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม” รองรับความต้องการลูกค้า 10,000 ล้านบาท โดยวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนธุรกิจที่ต้องการเงินทุนสำหรับปรับตัวเปลี่ยนผ่านไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม
นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ในส่วนของธนาคารยังคงมีพันธกิจในการช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการให้เปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืน
โดยธนาคารได้เข้าไปสนับสนุนทางการเงินเพื่อช่วยธุรกิจปรับตัว เปลี่ยนผ่าน และดำเนินธุรกิจเพื่อลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันธนาคารช่วยเหลือทางการเงินกับลูกค้าธุรกิจไปแล้วกว่า 9.4 หมื่นล้านบาท โดยภายในสิ้นปีนี้คาดจะสามารถเข้าไปสนับสนุนภาคธุรกิจโดยการปล่อยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนสู่ระดับ 1 แสนล้านบาท และมีเป้าหมายที่ 2 แสนล้านบาทในปี 2030
นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร มองวิกฤติที่มีสาเหตุจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีความรุนแรงและเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากยิ่งขึ้น ดังนั้น ในส่วนของธนาคารจึงให้ความสำคัญกับเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ทั้งในองค์กร และลูกค้าธนาคาร
โดยเฉพาะภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากที่ธนาคารมองว่าเกี่ยวกับความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ที่ถือเป็นเซกเตอร์หลักของธนาคาร เพราะการเปลี่ยนผ่านเหล่านี้จะสำเร็จหรือไม่สำเร็จ หรือจะอยู่รอดหรือไม่สำคัญอย่างมากต่อธนาคาร
และในภาคอสังหาฯ ถือมีผู้เล่นจำนวนมาก ทั้งขนาดใหญ่และขนาดเล็ก แต่การตระหนักรู้ด้าน ESG ยังไม่ได้มากนัก ดังนั้นธนาคารจึงให้ความสำคัญอย่างมากในการช่วยสนับสนุนลูกค้าไปสู่การทำธุรกิจบนความยั่งยืนมากขึ้น
นายปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต มองว่า การเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่ผ่านมา หลายครั้งได้นำพามาสู่วิกฤติมากกว่าโอกาส ดังนั้น ธนาคารมองว่าเรื่องความยั่งยืนเป็นเรื่องที่ใหญ่มาก และการที่ประเทศไทยเป็นประเทศที่พึ่งพาการส่งออก และมีเอสเอ็มอีจำนวนมาก ดังนั้น ยากที่จะให้บริษัทขนาดกลางขนาดเล็กเหล่านี้ เข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น
ดังนั้น ในส่วนของแบงก์เอง ที่มีทรัพยากรมากกว่า ควรเป็นคนที่ลุกขึ้นมาแล้วสนับสนุนความยั่งยืนเหล่านี้ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมมากขึ้น
ทั้งนี้ ในส่วนของธนาคารมีพอร์ตลูกค้าที่อยู่ใน 5 อุตสาหกรรมหลักที่มีความเสี่ยงอยู่ค่อนข้างมาก และมีลูกค้าธนาคารที่จะถูกกระทบกว่า 4 พันราย ดังนั้น ธนาคารไม่อยากเห็นลูกค้าเรา ประเทศเรา Behind the Curve ดังนั้น สิ่งที่ต้องทำคือ “ป้องกัน” ไม่ให้ลูกค้าเหล่านั้นได้รับผลกระทบที่มาอย่างรวดเร็ว