เงินบริษัทไม่เท่ากับเงินเจ้าของ ต้องวางแผนจ่ายเงิน-ผลตอบแทนให้ถูกต้อง

เงินบริษัทไม่เท่ากับเงินเจ้าของ ต้องวางแผนจ่ายเงิน-ผลตอบแทนให้ถูกต้อง

เปิดบริษัท ต้องวางแผนจ่ายเงินให้เจ้าของบริษัท-กรรมการ-หุ้นส่วน ให้ถูกต้อง รวมถึงมีเรื่องภาษีที่เกี่ยวข้องต้องทำความเข้าใจ

ธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นในนามนิติบุคคล แน่นอนว่าจำเป็นต้องมีหุ้นส่วนและกรรมการเพื่อบริหารจัดการ มีอำนาจในการเซ็นเอกสารต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่หุ้นส่วนก็จะเป็นกรรมการในการบริหารบริษัท รวมถึงเจ้าของบริษัทเองก็เป็นกรรมการด้วย และเมื่อเจ้าของบริษัทต้องการนำเงินของกิจการออกมาใช้เป็นการส่วนตัว แต่ตามหลักการจัดทำบัญชีนิติบุคคลไม่สามารถนำออกมาได้แบบไม่มีที่มาที่ไป เพราะจะส่งผลกับงบการเงินและภาษีที่ต้องเสียนั่นเอง

ดังนั้น เมื่อเจ้าของบริษัทต้องการนำเงินออกมาใช้ส่วนตัว นอกจากนำออกมาในรูปแบบเงินปันผลสำหรับหุ้นส่วนแล้ว ในกรณีที่เป็นกรรมการบริหารจัดการ ก็สามารถนำเงินของกิจการออกมาแบบถูกกฎหมายได้เช่นกัน ซึ่งสามารถแบ่งเป็นหลายแบบได้ดังนี้

จ่ายเป็นเงินเดือนกรรมการ

เนื่องจากเจ้าของบริษัทต้องทำงานให้กับบริษัทของตนเองอยู่แล้ว ดังนั้น ก็มีสิทธิ์ได้รับเงินเดือนเช่นกัน โดยเงินที่จ่ายให้กับเจ้าของบริษัท จะเรียกว่า "เงินเดือนกรรมการ" ซึ่งเงินเดือนที่จ่ายให้กับเจ้าของบริษัท สามารถนำมาหักเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้   ​​​​​
แต่ในส่วนของภาษีส่วนตัวของเจ้าของบริษัท (ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา) เงินเดือนที่ได้รับเจ้าของบริษัทจะต้องนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย ดังนั้น การคำนวณเงินเดือนที่ให้กับเจ้าของบริษัท อาจต้องวางแผนให้ดี เพราะถึงแม้ว่าสามารถนำมาลดภาษีเงินได้นิติบุคคลได้ แต่ก็อาจต้องไปเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาแทน หากจ่ายเงินเดือนสูงเกินไป

จ่ายเป็นค่าตอบแทน "บำเหน็จ"

​เงินค่าตอบแทน หรือกฎหมายแพ่งและพาณิชย์จะเรียกค่าตอบแทนว่า "บำเหน็จ" เป็นเงินที่กิจการสามารถจ่ายให้กับกรรมการได้ เพราะในทางกฎหมาย กรรมการถือเป็นตัวแทนของบริษัท ซึ่งเป็นบุคคลที่ดำเนินการตามวัตถุประสงค์และภายใต้ข้อบังคับของบริษัท จึงมีสิทธิ์ได้รับเงินบำเหน็จ โดยกฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์คือ
​หากเป็นกรรมการบริษัทจำกัด การจะได้รับเงินค่าตอบแทนหรือบำเหน็จนั้น จะต้องได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น โดยคะแนนเสียงข้างมากของจำนวนเสียงทั้งหมดของผู้ถือหุ้นที่มาประชุมและมีสิทธิออกเสียงลงคะแนน และแสดงรายการแยกค่าตอบแทนกรรมการต่างหากในแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคล (ภ.ง.ด.50)

จ่ายเป็นค่าบริการ  

การจ่ายเงินเป็นค่าบริการให้กับเจ้าของบริษัท ผู้ถือหุ้น สามารถทำได้เลยโดยไม่ต้องทำงานประจำกับบริษัท เนื่องจากเจ้าของบริษัทบางราย หุ้นส่วนบางคนอาจไม่ได้ทำงานประจำกับบริษัท แต่มาช่วยให้คำปรึกษาเป็นบางครั้ง หรือรับผิดชอบงานบางอย่างทำจนสำเร็จ กิจการก็สามารถจ่ายเงินเป็นค่าบริการ หรือค่าจ้างทำของให้กับเจ้าของและหุ้นส่วนได้

โดยกิจการจะต้องหักเงินไว้ส่วนหนึ่งก่อนจ่ายเงินให้กับเจ้าของและหุ้นส่วน ซึ่งต้องหัก ณ ที่จ่าย ในอัตรา 3% และกิจการสามารถนำค่าบริการไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ตามจำนวนที่จ่าย ส่วนเจ้าของบริษัทและหุ้นส่วนจะต้องนำค่าบริการที่ได้รับไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตนเองด้วย

จ่ายเป็นค่าเช่า

ในกรณีที่กิจการได้ใช้สำนักงาน โกดัง ที่ดิน รถยนต์ เป็นต้น ซึ่งเป็นทรัพย์สินของเจ้าของบริษัท กิจการก็สามารถจ่ายเงินเป็นค่าเช่าให้กับเจ้าของบริษัทได้ ซึ่งจะต้องทำการหักเงินไว้ส่วนหนึ่งก่อนจ่ายเงินค่าเช่าให้กับเจ้าของบริษัท ในอัตรา 5%

โดยกิจการสามารถนำค่าเช่าไปเป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ตามจำนวนที่จ่าย แต่ถ้าหากเป็นการเช่ารถยนต์ สามารถใช้เป็นค่าใช้จ่ายทางภาษีได้ไม่เกินเดือนละ 36,000 บาท ส่วนเจ้าของบริษัทต้องนำค่าเช่าที่ได้รับไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตนเองด้วย

จ่ายเป็นโบนัส

โบนัสเป็นเงินที่บริษัทสามารถจ่ายให้กับเจ้าของบริษัทในฐานะกรรมการได้ และกิจการเองก็นำมาเป็นค่าใช้จ่ายของบริษัทได้ ส่วนเจ้าของบริษัทที่ได้รับโบนัสจะต้องนำเงินได้นี้ยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาด้วย

จ่ายเป็นเงินปันผล

​เงินปันผลที่เจ้าของบริษัท หุ้นส่วนได้รับ สามารถทำได้ 2 ลักษณะ คือ 1) เงินปันผลประจำปี เป็นเงินปันผลที่ประกาศโดยบริษัทช่วงหลังปิดงบประจำปี และ 2) เงินปันผลระหว่างกาล ซึ่งสามารถทำได้หากมีข้อบังคับของบริษัทกำหนดให้ทำได้

ค่าตอบแทนที่เจ้าของบริษัท กรรมการ หุ้นส่วนได้รับจากบริษัท มีหน้าที่นำไปยื่นภาษีบุคคลธรรมดา

ทั้งนี้ เงินที่จ่ายให้กับเจ้าของบริษัท กรรมการ และหุ้นส่วน ผู้ได้รับเงินจะต้องนำมารวมเพื่อยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา โดยแบ่งเงินที่ได้รับตามมาตราที่แตกต่างกัน ดังนี้

- เงินเดือนกรรมการ จัดอยู่มาตรา 40(1) เนื่องจากเป็นรายได้ที่ได้รับจากบริษัทในฐานะกรรมการของบริษัท จึงเข้าลักษณะเป็นเงินที่ได้รับจากการจ้างงานประจำ

- ค่าตอบแทน “บำเหน็จ” จัดอยู่มาตรา 40(1) ในกรณีที่กรรมการได้รับเงินบำเหน็จจากบริษัทที่ได้รับเงินเดือนประจำ ถือเป็นการได้รับเงินจากผู้จ่ายเงินแห่งเดียวกัน จึงจัดอยู่เงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)  

- ค่าบริการ ค่าที่ปรึกษา โบนัส จัดอยู่มาตรา 40(2) เนื่องจากเป็นเงินที่ได้รับจากหน้าที่ หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้เป็นครั้งคราว ซึ่งรวมถึงค่าธรรมเนียม ค่านายหน้า ค่าส่วนลด เงินอุดหนุนในการทำงาน เบี้ยประชุมด้วย

- ค่าเช่า จัดอยู่มาตรา 40(5) เป็นรายได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน เงิน หรือประโยชน์อย่างอื่นที่ได้เนื่องจากการให้เช่าทรัพย์สิน การผิดสัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน เป็นต้น

- เงินปันผล จัดอยู่มาตรา 40(4) ซึ่งรวมถึงดอกเบี้ย เงินปันผล เงินส่วนแบ่งกำไร เงินลดทุน เงินเพิ่มทุน ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้น เป็นต้น

สรุป

เนื่องจากการนำเงินของบริษัทจ่ายให้กับเจ้าของบริษัท กรรมการ และหุ้นส่วน จะมีเงื่อนไขในเรื่องของการลงบันทึกบัญชี และภาษีเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ทั้งในมุมภาษีนิติบุคคลของบริษัท และภาษีบุคคลธรรมดาของตัวผู้รับเงิน ดังนั้น ก่อนที่กิจการจะนำเงินบริษัทออกมาใช้จ่ายส่วนตัว ไม่ว่าจะให้ในฐานนะกรรมการหรือหุ้นส่วน จำเป็นต้องวางแผนการจ่ายเงินให้ดี เพื่อไม่ให้กลายเป็นภาระทางภาษีของทั้งบริษัทและตัวเจ้าของบริษัทเอง

 

อ่านบทความน่ารู้เกี่ยวกับภาษีเพิ่มเติม คลิกที่นี่
Source : Inflow Accounting