วัดใจ กนง. บนทางสองแพร่ง ’คง-ลด‘ดอกเบี้ย ท่ามกลางเศรษฐกิจครึ่งหลังทรุด

วัดใจ กนง. บนทางสองแพร่ง ’คง-ลด‘ดอกเบี้ย ท่ามกลางเศรษฐกิจครึ่งหลังทรุด

วัดใจ กนง.บนทางสองแพร่ง เลือก ‘คงดอกเบี้ย - ลดดอกเบี้ย‘ ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยครึ่งหลังเต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยง

วันนี้ (21 ส.ค.67) ถือเป็นรอบการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4 ของปี 2567 เพื่อพิจารณา “นโยบายดอกเบี้ย” ที่ถือเป็นอีกนัดการประชุมครั้งสำคัญกว่าครั้งที่ผ่านๆ มา หลังถูกจับตาว่าผลการพิจารณานโยบายการเงินครั้งนี้จะออกหัวหรือออกก้อย จะมีมติ “ลดดอกเบี้ย” หรือ “คงดอกเบี้ย” ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยง ปัจจัยท้าทายที่มากขึ้น

หลายคนมองว่า การประชุม กนง. ครั้งนี้จะเป็นอีกครั้งที่ คณะกรรมการนโยบายการเงินจะเผชิญ “โจทย์ยาก” มากขึ้นในการพิจารณาการเงิน เพราะท่ามกลางข่าวดี ก็มีข่าวร้าย และความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยที่เป็นปัจจัยท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินมากขึ้น

ท่ามกลางข่าวดี จากการประกาศตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2567 ของ “สภาพัฒน์” หรือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ที่ประกาศตัวเลขไตรมาส 2 ออกมาเติบโตต่อเนื่อง โดยขยายตัว 2.3% และคาดการณ์ทั้งปี ยังคงขยายตัวได้ที่ 2.3-2.8% หรือเติบโตเฉลี่ยระดับ 2.50% ปีนี้

ไม่เพียงแต่ตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดี ในด้านเสถียรภาพทางการเมืองก็ดูเหมือน “ราบรื่น” มากขึ้น จากการได้นายกฯ คนใหม่อย่างรวดเร็ว และการตั้งคณะรัฐมนตรีก็กำลังจะเกิดขึ้น และอาจได้ ครม. เร็วกว่าที่หลายคนคิดไว้

เหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อเศรษฐกิจไทย เมื่อได้รัฐบาลอย่างรูปแบบการเดินหน้าเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าปัญหาก็จะลดลง และจะเห็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จากเม็ดเงินการลงทุน เม็ดเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ กระตุ้นรากหญ้าตามมาได้ในเร็วๆ นี้ ที่จะสนับสนุนเศรษฐกิจไทยปีนี้ให้เติบโตตามที่คาดไว้ได้

ปัจจัยเหล่านี้ก็เป็นปัจจัย “สนับสนุน” ให้ กนง. “คงอัตราดอกเบี้ย” ที่ 2.50% ต่อไปได้ เพราะตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาถือว่าเป็นไปตามที่ กนง. คาดไว้คือ สัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังมีอย่างต่อเนื่อง และฟื้นตัวได้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

สอดคล้องกับที่ “นักเศรษฐศาสตร์” เกินครึ่งจากผลสำรวจ ที่มองว่า กนง. น่าจะเลือก “คงอัตราดอกเบี้ย” ต่อไปจนถึงปลายปี ที่จะเห็น กนง.กลับมา “ลดอัตราดอกเบี้ย” ครั้งแรก ในการประชุมครั้งสุดท้ายในช่วงเดือนธ.ค.2567 นี้ เพราะโมเมนตัมเศรษฐกิจยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

ภาพเศรษฐกิจที่ออกมาฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในถือว่าเป็นไปตามคาด ที่ กนง. ประเมินไว้อยู่แล้วแถวๆ 2% ต้นๆ ดังนั้น นัยต่อเศรษฐกิจไทยในสายตา กนง. อาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงไป และ กนง. อาจรอหลายปัจจัยให้ชัดเจนมากขึ้น ทำให้ยังไม่ต้องรีบเร่งในการลดดอกเบี้ยลง เช่น การตั้งรัฐบาลให้เสร็จสิ้น 100% หรือค่อยลดดอกเบี้ยหลังธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ก็ไม่สาย

แต่ในทางกลับกันก็มีฟากนักวิเคราะห์ที่มองว่าโอกาสในการ “ลดดอกเบี้ย” มีมากขึ้นเช่นเดียวกัน แม้เสียงที่คาดการณ์ลดดอกเบี้ยจะมีไม่มากเท่า เสียงที่ฟันธงว่าคงดอกเบี้ย แต่อะไรก็เกิดขึ้นได้ เพราะเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวอ่อนแรงลงมาก ท่ามกลางเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 จะออกมาดีกว่าที่คาดไว้

หากแต่มองไปข้างหน้า “ความเปราะบาง” ที่ซ่อนอยู่มีอยู่อีกมาก บางเซกเตอร์เศรษฐกิจอ่อนแออย่างมาก โดยเฉพาะภาคการลงทุนของเอกชนที่ตกต่ำลงต่อเนื่อง เหล่านี้นักเศรษฐศาสตร์มองว่า เป็นเครื่องที่จะสะท้อนให้เห็นถึงเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าที่อาจอ่อนแอลง ที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่วัฏจักรขาลงชัดเจนมากขึ้นในครึ่งปีหลังนี้

และในระหว่างที่ “การเมือง” ยังรอวันชัดเจน จากการจัดตั้ง ครม. อาจทำให้การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐสะดุด และล่าช้าออกไปได้ ดังนั้น “นโยบายการเงิน” ควรขึ้นมาเป็นกองหน้าในการช่วย “ประคอง” เศรษฐกิจเพื่อไม่ให้ดำดิ่งลง เพราะหากต้องสตาร์ตกันใหม่เศรษฐกิจไทยอาจกลับมาฟื้นตัวยากมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังมองว่าปัจจุบันแรงกดดันจาก “เงินเฟ้อ” ต่ำลง เพราะโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยลง ทำให้แรงกดดันต่อเงินเฟ้อในช่วงปลายปีอาจไม่ได้มากเหมือนที่คิดไว้ ดังนั้นปัจจัยนี้จึงเอื้อให้ กนง. สามารถลดดอกเบี้ยลงจากความกังวลเงินเฟ้อที่คลายลง

ลดดอกเบี้ยก่อนเฟด? มีโอกาสเกิดขึ้นได้เพราะหลายปัจจัยเอื้อต่อการลดดอกเบี้ย และยิ่งตอกย้ำนโยบายของ กนง. ไปอีกว่า การพิจารณาดำเนินนโยบายการเงินดูจากปัจจัยในประเทศเป็นหลัก แต่ไม่ได้หมายความว่าไม่แคร์ว่าเฟดจะลดดอกเบี้ยหรือไม่เพราะผลที่ตามมาคือ ความผันผวนต่อตลาดเงินตลาดทุนที่จะเกิดขึ้น ดังนั้น “จังหวะ” ในการลดดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่สำคัญที่ กนง. ต้องชั่งน้ำหนักให้ดี หากตัดสินใจลดดอกเบี้ยสวนกับประเทศหลักอย่างเฟด

ลดดอกเบี้ยตอนนี้ก็ไม่แปลก เพราะเวลานี้ “เงินบาทแข็งค่า” ค่อนข้างมาก ซึ่งโดยรวมอาจไม่ได้มีผลดีกับไทยมากนัก ดังนั้น การลดดอกเบี้ยลง อาจทำให้ค่าเงินบาทกลับมาอ่อนค่าได้บ้าง แต่ผลดีต่อเศรษฐกิจไทยมีมากกว่า

และด้วยเครื่องมือของ “นโยบายการเงิน” ผ่านการลดดอกเบี้ย กว่าจะได้ผลบวกต่อเศรษฐกิจอาจต้องใช้ระยะเวลาถึง 6 เดือนกว่าจะส่งผ่านนโยบายการเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ ดังนั้นหากไม่เร่งลดดอกเบี้ยตอนนี้ก็อาจช้าเกินไปสำหรับเศรษฐกิจไทยที่ต้องการการเยียวยาอย่างเร่งด่วน

หากดูจากการคาดการณ์ของนักเศรษฐศาสตร์ก็มีโอกาสเป็นไปได้ทั้งสองทิศทาง ทั้งลดดอกเบี้ย และคงอัตราดอกเบี้ย เพราะแม้เศรษฐกิจไทยที่ออกมาล่าสุดจะออกมาดี แต่ข้อมูลเหล่านี้เป็นข้อมูลเพียงอดีต แต่ในอนาคต ฉายให้เห็นถึงภาพความเปราะบางของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น ท่ามกลางการเมืองที่ยังจัดตั้งรัฐบาลไม่ได้ 100% ดังนั้น ไม่แปลกหาก “นโยบายการเงิน” จะขึ้นมาเป็น “พระเอก” ประคองเศรษฐกิจท่ามกลางความท้าทายนี้ 

หรือสถานการณ์นี้การ “ตัดสินใจรอ” เพื่อให้หลายประเด็นมีความชัดเจนมากขึ้น ก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในมุม กนง. เพราะการเร่งรีบตัดสินใจอะไรเกินไปผลที่ตามมาต่อเศรษฐกิจไทยอาจมากกว่าที่คิด 

ดังนั้น การประชุม กนง.ครั้งนี้ ถือว่า “ไม่ง่าย” สำหรับคณะกรรมการนโยบายการเงิน ที่ต้องตัดสินใจว่าจะเลือก “ลดดอกเบี้ย” หรือคงดอกเบี้ย ที่ต้องเผชิญโจทย์ยาก และคำถามตามมาหลังประชุม กนง.แน่นอน

แต่สิ่งที่ตลาด และนักลงทุนเฝ้ารอดูนอกจากผลประชุม กนง. ครั้งนี้ คือ การ “ส่งสัญญาณ” ของ กนง.ที่ชัดเจนว่า นโยบายการเงินในระยะข้างหน้าจะไปซ้ายหรือขวาเหมือนที่ กนง. เคยกล่าวไว้ ว่าการตัดสินใจดำเนินนโยบายการเงินของ กนง.ต้องไม่เซอร์ไพรส์ตลาด และต้องส่งสัญญาณ และสื่อสารให้ตลาดรับทราบ เพื่อลดความผันผวนที่จะเกิดขึ้นต่อตลาดเงินตลาดทุนในระยะข้างหน้า 

หากย้อนดูในอดีตก็ยังไม่เห็นการส่งสัญญาณชัดเจนจาก กนง.เลยตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ดังนั้นหลายคนก็คาดหวังว่า ครั้งนี้ “เสียง” จาก กนง.จะดังชัดเจนมากขึ้น ท่ามกลางการส่งสัญญาณชัดเจนจาก “เฟด”ว่าอาจลดดอกเบี้ยในระยะเวลาอันใกล้นี้ !

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์