กนง.หวั่น ‘หนี้เสีย‘ ธุรกิจ - ครัวเรือนพุ่ง กระทบเศรษฐกิจทรุด
กนง. มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง “คงดอกเบี้ยนโยบาย” ที่ 2.50% เหตุมองภาพรวม “เศรษฐกิจไทย” ยังขยายตัวตามที่คาดไว้ ดังนั้น มองดอกเบี้ยที่ 2.5% มีความเหมาะสม แนะจับตาคุณภาพหนี้ “เอสเอ็มอี-ครัวเรือน” ด้อยลง หวั่นลามกระทบเศรษฐกิจภาพรวมทรุด
ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 4 ในวันที่ 21 ส.ค.67 ที่ผ่านมา มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง “คงอัตราดอกเบี้ย” ไว้ที่ระดับ 2.50% ถือว่า “เป็นไปตาม” ที่ทั้งตลาด และนักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ โดยมองว่า “เศรษฐกิจไทย” มีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้
โดยท่องเที่ยวยังเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ภาคส่งออกมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป ทำให้ กนง. ส่วนใหญ่มองว่า “ดอกเบี้ย” ปัจจุบันยังอยู่ในระดับที่สอดคล้องกับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยที่มี “แนวโน้ม” เข้าสู่ศักยภาพ
นายปิติ ดิษยทัต เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เปิดเผยว่า หากดูตัวเลขเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ปี 2567 ออกมาขยายตัว 2.3% ถือว่าเท่ากับที่ กนง. ประเมินไว้ครั้งก่อน โดยแรงขับเคลื่อนหลักๆ มาจากการบริโภคภาคเอกชนที่ขยายตัวต่อเนื่อง 2.4% และส่งออกที่กลับมาบวก 1.7% และท่องเที่ยวที่แรงขับเคลื่อนต่อเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง เช่นเดียวกับการผลิตถือเป็นครั้งแรกใน 6 ไตรมาส จากกำลังผลิตกลับมาเป็นบวกได้
ขณะที่ตัวเลขที่ต่ำกว่าคาดการณ์ของ กนง. ที่มองไว้คือ การเบิกจ่ายงบลงทุนภาครัฐที่ติดลบ 0.2% จากที่คาดจะเริ่มกลับมาบวกได้ในไตรมาส 2 ปีนี้ เช่นเดียวกันการลงทุนเอกชนที่ติดลบ 1.1% หากเทียบกับปีก่อน ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำกว่าที่ กนง. และทุกสำนักเศรษฐกิจมองไว้ก่อนหน้านี้
อย่างไรก็ตาม ภาพรวมเศรษฐกิจไทยครึ่งปีแรกถือว่าออกมาเติบโตตามที่ กนง. ประเมินไว้ แต่แนวโน้มระยะข้างหน้ามองครึ่งปีหลัง กนง. มองการขยายตัวจะสมดุลขึ้น ทั้งส่งออกสินค้าที่จะกลับมาเป็นบวก การบริโภคเอกชนจะทยอยมีบทบาทน้อยลง หากเทียบกับที่ผ่านมา และแรงส่งจากท่องเที่ยวยังคงเป็นแรงขับเคลื่อนสำหรับเศรษฐกิจไทยต่อเนื่อง
หากดูการขยายตัวไตรมาสต่อไตรมาส คาดครึ่งปีหลังจะแผ่วกว่าครึ่งปีแรก โดยประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจยังมองจะขยายตัวต่อเนื่องโดยเพิ่มขึ้นทุก 1% ในทุกไตรมาส เนื่องจากฐานที่ต่ำมากของปีก่อนจะทำให้ตัวเลขปีต่อปีจะค่อยๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้น มองไตรมาส 3 จีดีพีไทยจะใกล้เคียง 3% และไตรมาส 4 จีดีพีจะอยู่ที่ 3% ใกล้เคียง 4% ทำให้ใกล้เคียงกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ประเมินไว้ที่ 2.6%
สำหรับ แรงส่งไตรมาสต่อไตรมาสจะเห็นการชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี โดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 0.7% หากเทียบกับครึ่งปีแรกที่ขยายตัวได้ 1.2% อย่างไรก็ตาม พบเศรษฐกิจไทยยังมีความแตกต่างกันค่อนข้างมากในภาคเศรษฐกิจไทย โดยภาคที่ขยายตัวได้ดี เช่น ท่องเที่ยว บริการ ส่วนที่ทรงตัวคือ การเกษตร, ก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ ขณะที่มีภาคที่ถูกกระทบ และยังฟื้นตัวช้าคือ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์
สินเชื่อชะลอกระทบ “อสังหาฯ-ยานยนต์”
ทั้งนี้ พบว่ามีบางภาคส่วนเศรษฐกิจ ที่ภาวะการเงินเข้ามากระทบต่อกิจกรรมของการทำธุรกิจด้วย เช่น อสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจยานยนต์ โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อที่ชะลอลงที่ผ่านมาที่เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้กิจกรรมข้างต้นชะลอตัว
ส่วน เงินเฟ้อไม่ได้มีภาพที่เปลี่ยนไปจากภาพก่อนหน้ามากนัก โดยคาดจะฟื้นตัวเข้าสู่กรอบภายในปลายปีนี้ และปีหน้าจะต่ำกว่ากรอบข้างล่างไปสักระยะ และเหตุผลที่เงินเฟ้อระยะนี้อยู่ในระดับต่ำลง มาจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของสินค้าบางหมวดหมู่ รวมถึงการนำเข้าสินค้าจีนที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ที่ทำให้เงินเฟ้อของไทยถูกกระทบไปด้วย ที่ไม่เกี่ยวกับอุปสงค์ในประเทศ
“ในภาพรวมที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ไม่ได้หมายความว่า ประชาชนไม่ได้เดือดร้อนหรือไม่เผชิญกับสินค้าราคาแพง เพราะราคาก็แพงสำหรับหลายกลุ่ม และราคาก็ยังอยู่ระดับสูงหากเทียบกับเมื่อก่อน ดังนั้น คณะกรรมการก็ไม่ได้อยากให้เงินเฟ้อสูงไปมาก เพราะเป็นภาระเพิ่มเติม และต้องการให้อยู่ในระดับที่มีเสถียรภาพ ยึดเหนี่ยวได้ดี และไม่สร้างภาระโดยรวมต่อเศรษฐกิจหรือกิจกรรมเศรษฐกิจที่เป็นเป้าหมายหลักในการดูแลเงินเฟ้อ”
สินเชื่อกดดัน “หนี้เสีย” พุ่ง
สำหรับภาคการเงินโดยรวม เป็นสิ่งที่ กนง. มีการพูดคุยกันมากในการประชุมครั้งนี้ โดยภาพรวมสินเชื่อธุรกิจถือว่าทรงตัว และมีบางที่มีความแตกต่างกันระหว่างการขยายตัวสินเชื่อสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก และธุรกิจขนาดใหญ่ โดยธุรกิจขนาดใหญ่สามารถไปได้ ต่างกับธุรกิจขนาดเล็กที่สินเชื่อหดตัว
หากดูด้านคุณภาพสินเชื่อ จากหนี้ค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือนขึ้นไปบวกกับหนี้ที่เป็นหนี้เสีย หรือหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ของภาคธุรกิจ ถือว่าทรงตัว แต่หากเจาะไปดูด้านรายละเอียดพบว่า ธุรกิจเอสเอ็มอีบางเซกเตอร์มีหนี้เสียกระเตื้องขึ้น
ขณะที่ สินเชื่อครัวเรือนอัตราการขยายตัวของสินเชื่อชะลอตัวลงชัดเจน โดยหลักๆ มาจากสินเชื่อเช่าซื้อ และสินเชื่อบ้าน โดยเฉพาะสินเชื่อรถยนต์ที่ลดลงไปมาก หากเทียบกับก่อนโควิด-19 ที่เร่งตัวไปพอสมควร
ด้านคุณภาพหนี้ ทั้งค้างชำระตั้งแต่ 1 เดือนจนถึงหนี้เสีย พบมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะสินเชื่อเช่าซื้อที่หนี้เสียสูงกว่าสินเชื่ออื่นๆ กนง. จึงต้องจับตาอย่างใกล้ชิดว่าคุณภาพสินเชื่อจะมีพัฒนาการอย่างไรต่อไป
“แบงก์” อุ้มไม่ไหวหนี้เสียทยอยโผล่จากโควิด
อย่างไรก็ตาม หนี้เสีย และหนี้ค้างชำระที่เพิ่มขึ้น ถือว่าสอดคล้อง และมีความสัมพันธ์กับเศรษฐกิจโดยรวม โดยในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี หนี้เสียอาจเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งต่างกับช่วงวิกฤติโควิด-19 ที่แม้สินเชื่อชะลอตัวลง แต่ด้านคุณภาพหนี้ หรือหนี้เสียไม่ได้เพิ่มขึ้น เพราะสถาบันการเงิน และภาครัฐดูแลต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อไม่ให้ลูกหนี้กลายเป็นหนี้เสีย
“ส่วนหนึ่งของหนี้เสียที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปีก่อนจนถึงปัจจุบัน มาจากการช่วยเหลือลูกหนี้ตั้งแต่โควิดที่กลับมาเป็นหนี้เสีย และทยอยเห็นมากขึ้น ดังนั้นหากมองภาพหนี้เสีย อยากให้ตระหนักว่า หนี้เสียที่เกิดขึ้นใหม่ส่วนหนึ่งอาจมาจากรายได้ไม่ดี แต่ก็มีบางส่วนเช่นกันที่มาจากผลกระทบตอนโควิด จากการที่สถาบันการเงินเข้าไปช่วยเหลือในอดีต ทำให้หนี้เสียทยอยเพิ่มขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้ก้าวกระโดด”
หวั่นผลกระทบจาก “ภาคการเงิน” ลามเศรษฐกิจ
ดังนั้น กนง. จะมีการติดตามใกล้ชิด และดูพัฒนาของคุณภาพหนี้ต่อไปจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างไร
โดยเฉพาะหากคุณภาพหนี้แย่ลง ผู้ปล่อยสินเชื่อ หรือธนาคารพาณิชย์อาจมีการระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น จนกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ชะลอตัวลง ซึ่งอาจกระทบต่องบดุล สถานะทางการเงินของผู้ประกอบการ ประชาชนแย่ลง และวนเป็นลูปที่อาจทำให้สถานการณ์โดยรวมชะลอตัวลงได้ แม้ภาพดังกล่าวจะไม่ได้เกิดขึ้นในประเทศไทย แต่ปัจจัยดังกล่าว กนง.จะติดตาม เพื่อไม่ให้กลไกเหล่านี้เกิดขึ้น เพราะความสัมพันธ์ระหว่างภาคการเงิน และภาคเศรษฐกิจมีผลกระทบค่อนข้างมาก ซึ่งเป็นสิ่งที่ กนง.ไม่อยากให้เกิดขึ้น
ขอติดตามภาพรวมก่อนทบทวนนโยบาย
นายปิติ กล่าวว่า กรณีที่มีคำถามว่ามีโอกาสที่ กนง.ลดดอกเบี้ยได้หรือไม่ในปีนี้ ว่า คณะกรรมการกำลังติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจในหลายด้าน ในด้านเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2 ตรงกับที่ กนง.มองไว้ แต่ไส้ในมีความแตกต่างพอสมควร โดยเฉพาะการลงทุนเอกชนที่ลดลงอย่างมาก และลดลงมากกว่าช่วงโควิด-19 ดังนั้น กนง. ต้องติดตามว่าปัจจัยดังกล่าวมาจากปัจจัยเฉพาะชั่วคราวหรือไม่
ทั้งนี้ กนง. มองภาพเศรษฐกิจฟื้นตัวในครึ่งปีหลัง และเงินเฟ้อไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากครั้งก่อน แม้เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำ แต่ไม่ได้มาจากอุปสงค์ที่อ่อนแอ และภาวะการเงินที่ต้องรอดูความชัดเจน โดยเฉพาะครัวเรือนว่าจะมีพัฒนาการอย่างไร
โดยเฉพาะการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง คุณภาพหนี้ที่แย่ลง แต่ภาพรวมด้านคุณภาพสินเชื่อยังไม่ได้ผิดคาดจากที่กนง.ประเมินไว้ ส่วนหนึ่งมาจากหนี้ที่ช่วยเหลือไว้มากช่วงโควิด-19 ดังนั้น ในภาพรวมไม่ได้ผิดวิสัยที่จะเกิดขึ้น ซึ่งยังต้องจับตาว่าข้างหน้าจะไม่ก้าวกระโดดต่อหรือไม่
สุดท้ายปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ที่กนง. มองว่าจะการประชุมครั้งหน้าจะเห็นการปรับนโยบายการเงินของสหรัฐได้ ที่จะสร้างความชัดเจนต่อตลาดการเงินมากขึ้น แต่ปัจจัยหลักที่ กนง. มองคือ ปัจจัยในประเทศ โดยเฉพาะภาวการณ์เงินที่จะเชื่อมโยงเศรษฐกิจ ซึ่งหากภาพออกมาไม่ใช่สิ่งที่ กนง.คาดไว้มีสิทธิที่ กนง.ต้องมาดูความเหมาะสมของนโยบาย แต่หากยังเป็นไปตามที่ประเมินไว้ ก็เชื่อว่า “จุดยืน” ปัจจุบันยังใกล้เคียงกับระดับ “นิวทัล” หรือระดับที่เป็นกลางต่อเศรษฐกิจไทย
“เครื่องชี้เศรษฐกิจที่ออกมาล่าสุด ถือว่าส่งสัญญาณที่เป็นบวกกับภาพเศรษฐกิจ ข้อมูลที่เห็นก.ค. ดูโอเค ดังนั้น เราไม่ได้ปรับภาพเศรษฐกิจ แต่เข้าใจว่ามีความเสี่ยงด้านขาต่ำเช่นเดียวกัน”
ส.อ.ท.แปลกใจ กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.50%
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี สร้างความแปลกใจให้เอกชนพอสมควร เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในภาวะขาลงอยู่ อีกทั้งธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ้างแล้ว
ทั้งนี้ ในมุมเอกชนยังมองว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มกำลังซื้อ และลดต้นทุนด้านการเงินของผู้ประกอบการโดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ก็สำคัญ โดยก่อนหน้านี้ เอกชนได้เคยมีความหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567 ต้นทุนทางด้านการเงินของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะลดลง
“เคยคาดการณ์ว่าครึ่งปีหลังดอกเบี้ยนโยบายจะลดลง กลุ่มเอสเอ็มอียังหวังเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากการกู้เงินที่ดอกเบี้ยถูกลงกว่าเดิม เพราะส่วนมากยังเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในส่วนนี้”
ดังนั้น เมื่อเอสเอ็มอียังเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนอยู่ขณะนี้ จึงยากที่จะดำเนินธุรกิจแข็งขันกับสินค้าราคาถูกที่เข้ามามากในปัจจุบัน
“หอการค้าไทย” หวังเฟดลดดอกเบี้ย กนง. ลดตาม
นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ กนง. คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้ คาดว่า กนง. ประเมินจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกันเช่น ข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณการฟื้นตัวในหลาย sector แม้จะยังไม่โดดเด่น
รวมทั้งตั้งใจจะรักษาระยะห่างของอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐไม่ให้ห่างมากเกินไป จนทำให้ดึงเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจออก
สอดคล้องหลายประเทศที่ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อรอความชัดเจนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และหากสหรัฐลดดอกเบี้ยลง เชื่อว่าหลังจากนั้นแต่ละประเทศจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสมแต่ละประเทศ
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ กว่า 1% แต่เป็นผลมาจากนโยบายการช่วยเหลือด้านพลังงาน จึงเห็นว่า กนง.จะมีทิศทางชัดเจนขึ้นหลังจากเฟดลดดอกเบี้ยแล้ว แต่อาจทิ้งช่วงเพื่อดูทิศทางของสถานการณ์เศรษฐกิจให้เหมาะสม
“เอกชนหวังว่าหากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด กนง. คงจำเป็นจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม เพื่อให้ช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป”
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์