‘เอกชน’ มองต่างมติ กนง.คงดอกเบี้ย ซ้ำเติม ‘เศรษฐกิจขาลง’ ต้นทุนการเงินสูง

‘เอกชน’ มองต่างมติ กนง.คงดอกเบี้ย ซ้ำเติม ‘เศรษฐกิจขาลง’ ต้นทุนการเงินสูง

ส.อ.ท.แปลกใจ กนง.คงดอกเบี้ยนโยบาย 2.50% รับเศรษฐกิจโลกยังขาลง หลายประเทศทั่วโลกเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยแล้ว หวั่นเอสเอ็มอี แบกต้นทุนทางการเงินไม่ไหว "หอการค้า" มอง กนง.คงดอกเบี้ยเพื่อรักษาระยะห่างไทยกับสหรัฐ หวังครั้งต่อไป กนง.ยอมลดดอกเบี้ย

คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ประชุมวันที่ 21 ส.ค.2567 มีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี โดย 1 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี ซึ่งมีการพิจารณาว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวตามที่ประเมินไว้จากการท่องเที่ยว และอุปสงค์ในประเทศขณะที่การส่งออกโดยรวมฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า มติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.50% ต่อปี สร้างความแปลกใจให้เอกชนพอสมควร เนื่องจากทิศทางเศรษฐกิจทั่วโลกที่ยังคงอยู่ในภาวะขาลงอยู่ อีกทั้งธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มทยอยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายบ้างแล้ว

ทั้งนี้ ในมุมเอกชนยังมองว่าเศรษฐกิจในประเทศไทยยังคงชะลอตัว หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มกำลังซื้อ และลดต้นทุนด้านการเงินของผู้ประกอบการโดยเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ก็สำคัญ โดยก่อนหน้านี้ เอกชนได้เคยมีความหวังว่าในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2567ต้นทุนทางด้านการเงินของผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีจะลดลง

“เคยคาดการณ์ว่าครึ่งปีหลังดอกเบี้ยนโยบายจะลดลง กลุ่มเอสเอ็มอียังหวังเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากการกู้เงินที่ดอกเบี้ยถูกลงกว่าเดิม เพราะส่วนมากยังเผชิญกับปัญหาการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจในส่วนนี้" 

ดังนั้น เมื่อเอสเอ็มอียังเผชิญกับอัตราดอกเบี้ยที่เป็นต้นทุนอยู่ขณะนี้ จึงยากที่จะดำเนินธุรกิจแข่งขันกับสินค้าราคาถูกที่เข้ามามากในปัจจุบัน

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า การที่ กนง.คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายรอบนี้ คาดว่า กนง.ประเมินจากปัจจัยหลายอย่างประกอบกัน เช่น ข้อมูลเศรษฐกิจไทยที่มีสัญญาณการฟื้นตัวในหลาย sector แม้จะยังไม่โดดเด่น 

รวมทั้งตั้งใจจะรักษาระยะห่างของอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐไม่ให้ห่างมากเกินไป จนทำให้ดึงเม็ดเงินในระบบเศรษฐกิจออก ซึ่งสอดคล้องหลายประเทศที่ยังตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพื่อรอความชัดเจนจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และหากสหรัฐลดดอกเบี้ยลงเชื่อว่าหลังจากนั้นแต่ละประเทศจะพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยตามความเหมาะสมแต่ละประเทศ

นายสนั่น กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย แม้ว่าเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับต่ำ กว่า 1% แต่เป็นผลมาจากนโยบายการช่วยเหลือด้านพลังงาน จึงเห็นว่า กนง.จะมีทิศทางชัดเจนขึ้นหลังจากเฟดลดดอกเบี้ยแล้ว แต่อาจทิ้งช่วงเพื่อดูทิศทางของสถานการณ์เศรษฐกิจให้เหมาะสม 

“เอกชนหวังว่าหากทิศทางของอัตราดอกเบี้ยโลกมีแนวโน้มลดลงอย่างเห็นได้ชัด กนง. คงจำเป็นจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เหมาะสม เพื่อให้ช่วยต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป” นายสนั่น กล่าว

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์