สศช.ชี้การลงทุนไทยหดตัว 6.2% ติดลบ 3 ไตรมาสติด ฉุด GDP ชี้ผลจากกำลังซื้อร่วง!

สศช.ชี้การลงทุนไทยหดตัว 6.2%  ติดลบ 3 ไตรมาสติด ฉุด GDP ชี้ผลจากกำลังซื้อร่วง!

"สภาพัฒน์" เผยตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 2 ปี 67 การลงทุนรวมหดตัว 6.2% ติดลบ 3 ไตรมาสติด การลงทุนเอกชนติดลบ 6.8% "ดนุชา" รับผลจากกำลังซื้อหดตัว ภาคอสังหาฯลงทุนลดลง 50% กำลังซื้อคนตก - ธนาคารเข้มงวดปล่อยกู้ หวังการลงทุนช่วงที่เหลือของปีฟื้นตัวได้ดีขึ้น

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาส 2/2567 ขยายตัวได้ 2.3% ส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 2567 แนวโน้มขยายตัวได้ 2.3  – 2.8% โดยมีค่ากลางอยู่ที่ 2.5%

ทั้งนี้แม้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมา จะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากไตรมาสที่ 1 ที่ผ่านมาโดยได้รับอานิสงส์ จากการบริโภคเอกชนที่ขยายตัว 4% การบริโภคภาครัฐบาลขยายตัวได้ 0.3% การส่งออกที่ขยายตัวได้ในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ 1.9% และบริการ 19.8%

สศช.ชี้การลงทุนไทยหดตัว 6.2%  ติดลบ 3 ไตรมาสติด ฉุด GDP ชี้ผลจากกำลังซื้อร่วง!

แต่การลงทุนรวมยังหดตัวอยู่ 6.2% ลดลงต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่สาม โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 6.8% ตามการลดลงของการลงทุนในหมวดเครื่องมือ 8.1% สอดคล้องกับการลดลงของการลงทุนในหมวดยานพาหนะ 22.5% และการชะลอตัวของปริมาณการนำเข้าสินค้าทุน

ส่วนการลงทุนหมวดก่อสร้างลดลง 2.2% ตามการลดลงของการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และการก่อสร้างอาคารพาณิชย์เป็นสำคัญ ขณะที่การก่อสร้างโรงงานขยายตัวต่อเนื่อง การลงทุนภาครัฐ ลดลง 4.3% เทียบกับการลดลง 27.7% ในไตรมาสก่อนหน้า โดยการลงทุนของรัฐบาลลดลง 12.8%

ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจขยายตัว10.1% สำหรับอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในไตรมาสนี้อยู่ที่ 24% (สูงกว่าอัตราเบิกจ่าย 5.7% ในไตรมาสก่อนหน้า และ 19% ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) รวมครึ่งแรกของปี 2567 การลงทุนรวมลดลง 5.1% โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลง 0.9% และการลงทุนภาครัฐลดลง16.7%

สำหรับระดับการลงทุนที่ยังหดตัวในไตรมาสที่ 2 โดยการลงทุนรวมหดตัว 6.2% และการลงทุนของเอกชนหดตัว 6.8% นายดนุชา กล่าวว่าเกิดจากการชะลอตัวของการลงทุนของภาคเอกชนมาจากหลายสาเหตุนอกจากในเรื่องของเครื่องมือเครื่องจักรที่มีการลงทุนไปไตรมาสก่อนหน้านี้ ยังมาจากทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่ทำให้ภาคการผลิตได้รับผลกระทบและการนำเข้าสินค้าประเภทวัตถุดิบลดลงซึ่งทำให้การลงทุนเอกชนชะลอลง

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยในเรื่องของการลงทุนของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ชะลอตัวลงอย่างชัดเจน โดยการลงทุนในภาคอสังหาฯ ลดลงกว่า 50% ซึ่งมาจากกำลังซื้อของประชาชนที่ลดลงมาก เนื่องจากขาดสภาพคล่องในการใช้จ่าย รวมทั้งความเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อที่อยู่อาศัยของธนาคารพาณิชย์ที่มีมากขึ้นซึ่งในส่วนนี้ต้องมีการใช้มาตรการแก้หนี้แบบพุ่งเป้ามากขึ้น

ทั้งนี้ สศช.คาดว่าการลงทุนของเอกชนทั้งปีจะขยายตัวได้ประมาณ 0.3% โดยปรับลดลงจากคาดการณ์เดิมที่คาดว่าการลงทุนเอกชนจะขยายตัวได้ 3.2% ส่วนการลงทุนภาครัฐ สศช.คาดว่าทั้งปีจะหดตัว 0.7% จากเดิมที่คาดว่าจะหดตัวจากปีก่อน 1.8% ซึ่งคาดการณ์ว่าในช่วงที่เหลือของปีนี้การเบิกจ่ายงบลงทุนของภาครัฐจะเร่งตัวขึ้นกว่าในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจากมีการทำสัญญาผูกพันงบรายจ่ายลงทุนไว้แล้ว โดยในขณะนี้การเบิกจ่ายงบลงทุนไปได้แล้วประมาณ 1 แสนล้านบาท

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์