แบงก์ชาติ จับตา ‘เงินบาทแข็งค่า‘ ใกล้ชิด กสิกรไทยชี้แข็ง 1% ธุรกิจสูญ 1 แสนล้านบาท

แบงก์ชาติ จับตา ‘เงินบาทแข็งค่า‘ ใกล้ชิด กสิกรไทยชี้แข็ง 1% ธุรกิจสูญ 1 แสนล้านบาท

ผู้ว่าการแบงก์ชาติ” ชี้เงินบาทอยู่ทิศทางแข็งค่า แต่หากเทียบต้นปีถือว่า “ทรงตัว” เคลื่อนไหวใกล้เคียงเพื่อนบ้าน “มาเลเซีย-อินโดนีเซีย” จากดอลลาร์อ่อนค่า ราคาทองสูงขึ้น “ศูนย์วิจัยกสิกรไทย” ชี้เงินบาทแข็งค่าทุก 1% กระทบรายได้ผู้ส่งออกหายไป 1 แสนล้านบาท

นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ยอมรับว่า “ค่าเงินบาท” ที่ปรับแข็งค่าขึ้นแต่ยังแข็งค่าใกล้เคียงระดับต้นปี และใกล้เคียงประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ "เงินบาทแข็งค่า" เร็วมาจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณปรับลดอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างชัด รวมถึงไทยมีปัจจัยพิเศษมาจากราคาทองคำสูงขึ้นส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นตามทิศทางดังกล่าว

“ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นเยอะ และเร็วในช่วงหลัง แต่ปัจจัยที่ไดร์ฟหลักๆ มาจากดอลลาร์ที่อ่อนค่า และเรามาเจอปัญหาทองคำที่สูงขึ้น ซึ่งเราก็มีการติดตามอยู่ตลอดเวลา”

สำหรับเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวค่อยเป็นค่อยไปช่วงครึ่งหลังปี 2567 และหากมองไปข้างหน้ายังมีโมเมนตัมการฟื้นตัวต่อในครึ่งปีหลัง แต่จะชะลอเล็กน้อยหากเทียบครึ่งปีแรก และการคาดการณ์จีดีพีของ ธปท.อยู่ที่ 2.6% ใกล้เคียงหน่วยงานรัฐ และสำนักเศรษฐกิจ

ส่วนเงินเฟ้อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ออกมา 0.8% ต่ำกว่าเป้าหมายของ ธปท.ที่ 1-3% แต่จะค่อยเห็นเงินเฟ้อฟื้นตัว และกลับมาอยู่ในเป้าหมายของ ธปท.ในไตรมาส 4 ปี 2567 ทั้งนี้ หากดูด้านราคาสินค้าในตะกร้าเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอุปโภคบริโภคพบว่าลดลงอย่างจำกัด ดังนั้น การที่เงินเฟ้ออยู่ระดับต่ำไม่ได้หมายความว่าจะเข้าสู่ภาวะ “เงินฝืด

ด้านการดำเนินนโยบายการเงินจากผลประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) วันที่ 21 ส.ค.2567 กนง.คงดอกเบี้ย 2.50% ที่ 6 ต่อ 1 เสียง โดย กนง.พยายามสื่อสารการดำเนินนโยบายการเงินขึ้นอยู่กับการประเมินภาพรวมในการตัดสินใจนโยบายการเงิน ดังนั้น สิ่งที่ กนง.ประเมินยังพิจารณาจาก 3 ด้านหลัก คือ 

1.การเติบโตเศรษฐกิจ โดยเศรษฐกิจไทยปัจจุบันภายใต้ประมาณการ 2.6% และปี 2568 อยู่ที่ 3% แม้ยังเติบโตต่อเนื่องแต่ยังต่ำกว่าระดับศักยภาพของเศรษฐกิจไทยที่ลดลง หากดูการขยายตัวของจีดีพีเทียบกับรายได้ต่อหัวพบว่าอยู่ระดับต่ำ ดังนั้น ธปท.อยากเห็นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจที่มีศักยภาพระยะยาวสูงขึ้น

รวมทั้งปัจจัยหลักที่ทำให้ศักยภาพเศรษฐกิจไทยต่ำลงมาจากปัญหาเชิงโครงสร้าง กำลังแรงงานหดตัวลง ดังนั้น หากจะทำให้จีดีพีขยายตัวขึ้นต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงาน รวมถึงลงทุน และการปรับปรุงเทคโนโลยีที่ส่งผลให้ผลิตภาพแรงงานสูงขึ้น พอที่จะหนุนอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาวให้มีศักยภาพเติบโตยั่งยืน

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีหลายด้านที่กังวลคือ การฟื้นตัวไม่สม่ำเสมอของเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะภาคบริการ ท่องเที่ยว แต่ภาคการผลิตอ่อนแอลงมาก จากหลายผลกระทบ ทั้งปัจจัยที่เกี่ยวกับการเข้ามาตีตลาดของจีน รวมถึงหลายสินค้าที่เคยส่งออกไปจีนได้ดี ปัจจุบันลดลง เช่น ปิโตรเคมี

“เงินเฟ้อต่ำ” ไม่ใช่สัญญาณเกิดเงินฝืด

2.อัตราเงินเฟ้อลดลง และกำลังกลับเข้าสู่เป้าหมาย อัตราเงินเฟ้อต่ำไม่ได้บ่งชี้ว่าเศรษฐกิจกำลังเข้าภาวะเงินฝืด และเงินเฟ้อต่ำหากเทียบต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้วในตะกร้า CPI พบว่าอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่ อัตราเงินเฟ้อจากด้านบริการแซงหน้าเงินเฟ้อราคาสินค้า แต่ในไทยตรงข้ามที่เงินเฟ้อด้านบริการต่ำกว่าประเทศอื่นมาก แนวโน้มค่าเช่าทรงตัวเป็นตัวฉุดอัตราเงินเฟ้อไทยให้อยู่ระดับต่ำ

3.ด้านเสถียรภาพ ในการตัดสินใจนโยบายการเงิน หนึ่งในนั้นคือ การดูแลเสถียรภาพการเงิน ซึ่งความท้าทายใหญ่ที่ต้องเผชิญในไทยคือ หนี้ครัวเรือนไทยสูงมากกว่า 90% หากเทียบจีดีพี ซึ่งหากปัญหานี้ลดลงช้าอาจไม่ดี ดังนั้นต้องเร่งแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน แต่การแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนทำยากต่างจากประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนา เพราะในโครงสร้างหนี้ครัวเรือนไทย พบว่า 1 ใน 3 เป็นหนี้บ้าน

แต่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ที่เกิดขึ้นสินเชื่ออุปโภคบริโภค สินเชื่อเช่าซื้อ สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคลที่เป็นสินทรัพย์เสื่อมค่า และไม่ใช่สินเชื่อที่มีหลักประกัน ต่างกับประเทศอื่นที่มีหนี้บ้าน ในหนี้ครัวเรือนเป็นส่วนใหญ่

อีกทั้งการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน ทำได้โดยการเพิ่มรายได้ แต่ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ได้เกิดขึ้นมากนักในไทย เพราะเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้าไม่ได้ส่งผลให้รายได้เติบโตขึ้น และแม้หนี้ครัวเรือนไทยสูง แต่ยังไม่เพิ่มขึ้นจนเกินควบคุม และเป้าหมายของ ธปท.คือ ทำให้หนี้ครัวเรือนลงมาอยู่ในระดับยั่งยืนมากขึ้นที่ระดับ 80% ต่อจีดีพี

เชื่อ “หนี้เสีย” ไม่ก้าวกระโดดสู่หน้าผา NPL

ทั้งนี้ การชะลอตัวของการเติบโตของสินเชื่อ และคุณภาพสินเชื่อที่ลดลงนั้น ถือเป็นสิ่งที่คาดการณ์อยู่แล้ว และระยะข้างหน้าคุณภาพสินเชื่อจะด้อยลงต่อเนื่อง แต่ยังไม่เห็นสัญญาณของการเกิด NPL cliff หรือ หน้าผาเอ็นพีแอล โดยปัจจุบันอยู่ที่ ภาพรวม NPL โดยรวมกำลังติดตามที่ 2.8% แต่หากดูด้านเสถียรภาพการเงินรวมถือว่ายังมีเสถียรภาพจากเงินสำรองที่อยู่ระดับสูง

“ภายใต้ความไม่แน่นอน และเราไม่รู้ว่าจะมีช็อกอะไรเกิดขึ้นหลังจากนี้ ภายใต้สิ่งรบกวนบนความไม่แน่นอนมากขึ้น ไม่ต้องการเพิ่มความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบาย และยังให้ความสำคัญกับบัฟเฟอร์เพราะไม่รู้ว่าแรงกระแทกจะมาจากไหน และพยายามมีนโยบายแบบยืดหยุ่น”

บาทแข็งค่า 1% ฉุดรายได้ผู้ส่งออก 1 แสนล้าน

นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย กล่าวว่า หากดูการเคลื่อนไหวเงินบาทค่อนข้างผันผวนนับจากต้นปี 2567 โดยเริ่มต้นปีด้วยการทยอยอ่อนค่าทะลุแนว 37.00 ช่วงปลายเดือน เม.ย.2567 ก่อนกลับมาแข็งค่าขึ้นตั้งแต่เดือนก.ค.2567 จนหลุดแนว 34.00 บาทต่อดอลลาร์

โดยค่าเงินดอลลาร์ที่ยังอาจถูกกดดันจากโอกาสการลดดอกเบี้ยของเฟด อาจเป็นไปได้ที่เงินบาทจะแข็งค่าแตะระดับ 33.60 บาทต่อดอลลาร์ระยะสั้น อย่างไรก็ตาม ธนาคารกสิกรไทยยังคงตัวเลขคาดการณ์ค่าเงินบาท ณ สิ้นปี 2567 ที่ 34.50 บาทต่อดอลลาร์ เนื่องจากเงินบาทยังมีโอกาสแกว่งตัวตามสถานการณ์ และข้อมูลเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่จะเข้ามาเพิ่มเติม

ทั้งนี้ ท่ามกลางสภาวะที่เงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เงินบาทที่แข็งค่าทุกๆ 1% อาจมีผลกระทบต่อรายได้ผู้ส่งออกเกือบ 1 แสนล้านบาทต่อปี หรือคิดเป็นกว่า 0.5% ของ Nominal GDP

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์