เงินบาทแข็งค่า รับเฟดจ่อลด’ดอกเบี้ย’ หนุนแบงก์ชาติเอเชียลดตาม

เงินบาทแข็งค่า รับเฟดจ่อลด’ดอกเบี้ย’ หนุนแบงก์ชาติเอเชียลดตาม

เงินบาทและสกุลเงินเอเชียแข็งค่า รับเฟดจ่อลด’ดอกเบี้ย’ ดันดัชนีสกุลเงิน MSCI ทำนิวไฮใหม่ในรอบ 5 เดือน หนุนแบงก์ชาติเอเชียลดดอกเบี้ยตาม นักวิเคราะห์หวั่น สกุลเงินเอเชียถูกขายทิ้งหากเศรษฐกิจเลวร้ายลง

สำนักข่าวนิกเกอิเอเชียรายงานว่า สกุลเงินในเอเชียกำลังแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับดอลลาร์อย่างต่อเนื่อง เนื่องจากนักวิเคราะห์มองว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ซึ่งอาจเปิดทางให้ธนาคารกลางในเอเชียหลายแห่งมีแนวโน้มที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม

ดัชนีสกุลเงินตลาดเกิดใหม่ MSCI ปรับตัวขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบประมาณ 5 เดือน ในช่วงต้นเดือนสิงหาคมเนื่องจากค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง 

เมื่อวันที่ 5 ส.ค.  “เงินริงกิต”ของมาเลเซียเคลื่อนไหวอยู่ในระดับ 4.4 ต่อดอลลาร์  อ่อนตัวลงเล็กน้อยจากระดับสูงสุดในรอบ 16 เดือน 

ขณะที่ “เงินบาท”ของไทยแข็งค่าแตะระดับประมาณ 35 บาทต่อดอลลาร์  ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบประมาณ 7 เดือน

ส่วน "เงินเปโซ”ของฟิลิปปินส์แข็งค่าแตะระดับประมาณ 57 เปโซต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบประมาณ 3 เดือน

ข้อมูลการจ้างงานสหรัฐที่ออกมาเมื่อวันที่ 2 สิงหาคมที่ผ่านมาย่ำแย่ ทำให้เกิดการคาดการณ์ว่าเฟดอาจเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆ นี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังชะลอตัว ส่งผลให้ผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอายุ 10 ปี ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 14 เดือน และดัชนีดอลลาร์อ่อนตัวลงแตะระดับต่ำสุดในรอบประมาณ 7 เดือน

FedWatch ของ CME Group ระบุว่า นักลงทุนคาดการณ์โอกาสที่เฟดจะลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนกันยายนอยู่ที่ประมาณ 50% จากการคาดการณ์แนวโน้มตอนแรกที่ 10% เท่านั้น

เอเชียลดดอกเบี้ยตาม 'เฟด’

ฮินะ คิเคกาวะ จาก Mizuho Research & Technologies กล่าวว่า "เมื่ออัตราเงินเฟ้อในเอเชียเริ่มลดลง ธนาคารกลางในภูมิภาคจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามหากเฟดตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ย"

แม้ว่ารัฐบาลในประเทศเอเชียจะเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ย แต่ธนาคารกลางในภูมิภาคยังคงมีความระมัดระวัง เนื่องจากมีความกังวลว่าสกุลเงินในประเทศที่อ่อนค่าลงจะผลักดันให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้นและกระตุ้นเงินเฟ้อ

อย่างไรก็ดี  เอลี เรโมโลนาผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์กำลังพิจารณาลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนสิงหาคม แม้ว่าเงินเฟ้อในเดือนกรกฎาคมจะสูงกว่าที่คาดไว้ ส่วนธนาคารกลาง”เกาหลีใต้”อาจจะลดอัตราดอกเบี้ยภายในเดือนตุลาคม ซึ่งตลาดคาดการณืว่ามีความเป็นไปได้ถึง 40% หลังจาก GDP ของเกาหลีใต้หดตัวลง 0.2% ในไตรมาสที่สอง ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 6 ไตรมาส ขณะที่ธนาคารกลางอินเดียตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยหลักไว้เมื่อวันที่ 8 ส.ค.ผ่านมา 

ส่วนในประเทศไทย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีได้เรียกร้องให้ธนาคารกลางลดอัตราดอกเบี้ย โดยอ้างถึงสถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศที่ “วิกฤต” ขณะนี้ธนาคารกลางคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ 4 ครั้งติดต่อกันจนถึงเดือนมิถุนายน แต่ความกังวลเกี่ยวกับค่าบาทที่อ่อนตัวลงอาจเพิ่มแรงกดดันให้ลดอัตราดอกเบี้ย

อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์กังวลว่า หากประเทศในเอเชียเร่งลดอัตราดอกเบี้ยตามสหรัฐ อาจนำมาซึ่งความเสี่ยงที่สกุลเงินในภูมิภาคจะอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็ว

นายชินยะ ฮารุอิ นักวิเคราะห์อัตราแลกเปลี่ยนของโนมูระหลักทรัพย์ได้ติดตามผลกระทบของการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐแต่ละครั้งในเอเชียตั้งแต่ปี 2543 กล่าวว่า  ธนาคารกลางเอเชีย “กำลังอยู่ในจุดเปลี่ยนสำคัญ”

จากกรณีส่วนใหญ่ประเทศตลาดเกิดใหม่ในเอเชียจะดำเนินการตามและปรับลดอัตราดอกเบี้ยตามเฟด และเมื่อความเชื่อมั่นด้านความเสี่ยงทั่วโลกเลวร้ายลง อาจทำให้สกุลเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลง  ซึ่งสกุลเงินเอเชียจะถูกขายทิ้ง ขณะเดียวกันรัฐบาลเอเชียก็ยังคงกดดันธนาคารกลางให้ลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น

นอกจากนี้ คาซึโนริ คานาอุรา จาก แอชเมอร์ญี่ปุ่น  คาดว่าสกุลเงินเอเชียที่แข็งค่าขึ้นจะส่งผลต่อการบริหารพอร์ตการลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงของนักลงทุนทั่วโลก

“หากสกุลเงินของประเทศตลาดเกิดใหม่แข็งค่าต่อเนื่อง  จะกระตุ้นให้นักลงทุนต่างชาติหันมาลงทุนในตลาดหุ้นของประเทศเหล่านี้มากขึ้น”

อ้างอิง Nikkei