‘ดอลลาร์แข็งค่า’ ฉุดหุ้นเอเชียครึ่งปีแรก 2567 ‘หุ้นไทย’ ดิ่งหนักสุดในอาเซียน

‘ดอลลาร์แข็งค่า’ ฉุดหุ้นเอเชียครึ่งปีแรก 2567 ‘หุ้นไทย’ ดิ่งหนักสุดในอาเซียน

‘เงินดอลลาร์แข็งค่า’ ฉุดรั้งการเติบโตของตลาดหุ้นเอเชียในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567 ไต้หวันผลงานท็อปฟอร์ม ‘ญี่ปุ่น - อินเดีย’ มีแนวโน้มสดใส ส่วน ‘หุ้นไทย’ ไร้เสน่ห์ดิ่ง 15% หนักสุดในอาเซียน ต่างชาติเทขายสุทธิ 1 แสนล้านบาท 

สำนักข่าวนิกเคอิเอเชียรายงานว่า “เงินดอลลาร์แข็งค่า” และอัตราดอกเบี้ยสูงกระทบตลาดเงินในเอเชีย เป็นปัจจัยลบที่ฉุดรั้งการเติบโตของตลาดหุ้นเอเชียในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2567

ค่าเงินเอเชียที่อ่อนลงส่งผลกระทบต่อผลตอบแทนในตลาดหุ้น โดยนักวิเคราะห์ตลาดหลายคนคาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะยังคงดำเนินต่อไปจนถึงปลายปี 2567 เนื่องจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่ลดอัตราดอกเบี้ยลงในปีนี้

 

‘ดอลลาร์แข็งค่า’ ฉุดหุ้นเอเชียครึ่งปีแรก 2567 ‘หุ้นไทย’ ดิ่งหนักสุดในอาเซียน

คีแรน คาลเดอร์ นักวิเคราะห์หุ้นเอเชียของธนาคาร UBP กล่าวว่า ค่าเงินอ่อนค่าลงทำให้รายได้จากการส่งออกของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นในประเทศนั้นๆ ลดลงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “ญี่ปุ่น”

ดัชนี Nikkei Stock Average ของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำตลาดหุ้นพุ่งขึ้น 18% ในช่วงครึ่งแรกของปี เมื่อเทียบเป็นสกุลเงินเยน ในขณะที่ดัชนี Topix ที่ครอบคลุมบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหุ้นโตเกียวมากกว่านั้นเพิ่มขึ้นเกือบ 19%

ข้อมูลจาก FactSet ระบุว่า นักลงทุนที่ถือพอร์ตการลงทุนเป็นเงินดอลลาร์มีผลตอบแทนของดัชนีทั้งสองต่ำกว่ามาก อยู่ที่ 3.6% และ 4% ตามลำดับโดยมีสาเหตุหลักมาจากค่าเงินเยนอ่อนค่าลง ร่วงต่ำกว่า 160 เยนต่อดอลลาร์ เมื่อวันที่ 27 มิ.ย.67 ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 38 ปี ซึ่งเงินเยนที่อ่อนค่าลง ทำให้ผลตอบแทนของนักลงทุนดอลลาร์ในตลาดหุ้นญี่ปุ่นลดลงตามไปด้วย

แม้ว่าเงินเยนอ่อนค่าลงจะส่งผลดีต่อบริษัทญี่ปุ่นที่มีรายได้จากการส่งออก แต่ทว่าเงินเยนที่อ่อนค่าก็ได้กัดกินกำไรของบริษัทเหล่านี้ เมื่อแปลงเป็นสกุลเงินดอลลาร์ ทำให้นักลงทุนในสกุลดอลลาร์มีผลตอบแทนลดลง

ตลาดหุ้นอินเดียมีแนวโน้มสดใส

ด้าน “ตลาดหุ้นอินเดีย” ทำผลงานได้อย่างโดดเด่น ต่างจากตลาดหุ้นอื่นๆ ทั่วโลกที่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน ดัชนี Sensex ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำของตลาดหุ้นอินเดีย ปรับตัวขึ้นประมาณ 9% ทั้งในสกุลเงินรูปี และดอลลาร์ในปีนี้ เนื่องจากค่าเงินรูปีเป็นหนึ่งในสกุลเงินที่แข็งแกร่งที่สุดของเอเชีย แม้ว่าธนาคารกลางจะเข้าแทรกแซงเพื่อตรึงค่าเงินไว้ก็ตาม

โจนาธาน การ์เนอร์ นักกลยุทธ์หุ้นตลาดเกิดใหม่เอเชียจากมอร์แกน สแตนเลย์ มองว่า การพุ่งขึ้นของตลาดหุ้นอินเดียส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากนักลงทุนหนุ่มสาวชาวอินเดียที่เข้าสมัครเป็นสมาชิกกองทุนรวม และผลิตภัณฑ์การออมอื่นๆ 

“หุ้นอินเดียมีผลตอบแทนเหนือกว่าหุ้นจีนถึง 3 เท่า เมื่อเทียบเป็นดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นปี 2564  จากปัจจัยสำคัญที่ว่าตลาดหุ้นอินเดียกำลังจะกลายเป็นตลาดหุ้นที่ใหญ่ที่สุดในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ในอนาคต" การ์เนอร์ กล่าว

‘หุ้นไทย’แย่สุดในอาเซียน

สำหรับตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในอาเซียนกลับทำผลงานในครึ่งปีแรกสวนทางกันอย่างสิ้นเชิง

ธนาคารโนมูระเผยว่า นักลงทุนต่างชาติเทขายหุ้นไทยสุทธิ 2.8 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 1 แสนล้านบาท  ถือเป็นการขายออกที่เลวร้ายที่สุดครั้งหนึ่งในเอเชีย

ตามข้อมูลของ FactSet พบว่า ดัชนี SET ซึ่งเป็น ดัชนีชี้นำตลาดหุ้นไทย ดิ่งลง 8% ในสกุลเงินบาท สำหรับนักลงทุนที่ถือพอร์ตการลงทุนเป็นดอลลาร์ เผชิญกับผลตอบแทนที่ต่ำกว่ามากถึง 15%

นโยบายนมโรงเรียนกระทบตลาดหุ้น ‘อินโดฯ’

สำหรับตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ดัชนี JSX Composite ลดลงประมาณ 3% ในปีนี้ โดยนักลงทุนที่ถือพอร์ตการลงทุนเป็นดอลลาร์เผชิญกับผลตอบแทนที่ต่ำกว่าอยู่ที่ 9% 

มอร์แกน สแตนเลย์ ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในหุ้นอินโดนีเซียโดยอ้างความไม่แน่นอนทางนโยบายการคลังและเงินดอลลาร์แข็งค่า 

แดเนียล เค.เบลค นักกลยุทธ์ของมอร์แกน สแตนเลย์ ระบุไว้เมื่อเดือนที่แล้วว่า "มีความไม่แน่นอนในระยะใกล้เกี่ยวกับทิศทางของนโยบายการคลังในอนาคต และตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนแอ โดยเงินรูเปียห์อินโดนีเซียอ่อนค่าลง 5%”

สืบเนื่องจาก นโยบายของ “ปราโบโว ซูเบียนโต”ประธานาธิบดีคนใหม่ของอินโดนีเซีย ในการจัดสรรอาหารกลางวันฟรี และนมโรงเรียนฟรีที่อาจใช้งบประมาณมากถึง 2.9 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือราว 1 ล้านล้านบาทต่อปี ซึ่งส่งผลต่องบประมาณของประเทศ

ในอาเซียน “ตลาดหุ้นมาเลเซีย” ยังได้รับความสนใจจากผลตอบแทนที่แข็งแกร่งสำหรับทั้งนักลงทุนสกุลเงินท้องถิ่น และดอลลาร์ โดยในปีนี้ ดัชนี FTSE Bursa Malaysia KLCI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำของประเทศ ปรับตัวขึ้นประมาณ 9% และเพิ่มขึ้น 6% ในสกุลเงินดอลลาร์

เชตัน เซธ นักกลยุทธ์จากธนาคารโนมูระ กล่าวว่า มาเลเซียกำลังได้รับประโยชน์จากการที่บริษัทต่างๆ กระจายห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน เช่น การสร้างศูนย์ข้อมูล (data centers) ช่วยตลาดหุ้น รวมถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และสาธารณูปโภค หลังจากที่ถูกนักลงทุนมองข้ามมานานหลายปี

'หุ้นไต้หวัน' ทำผลงานดีสุดในเอเชีย

‘ดอลลาร์แข็งค่า’ ฉุดหุ้นเอเชียครึ่งปีแรก 2567 ‘หุ้นไทย’ ดิ่งหนักสุดในอาเซียน สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงาน ดัชนีหุ้นไต้หวัน (TWSE) พุ่งขึ้นแรงในปี 2567 ขึ้นเป็นอันดับ 1 ตลาดหุ้นที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดในเอเชีย แซงหน้าตลาดหุ้นญี่ปุ่นที่เคยอยู่อันดับ 1 มาตลอด จากการเติบโตของภาคส่วนเทคโนโลยีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านชิปเซมิคอนดักเตอร์ บริษัทชั้นนำอย่าง TSMC (Taiwan Semiconductor Manufacturing Company) ซึ่งเป็นผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก มีผลประกอบการที่แข็งแกร่งหนุนดัชนีไต้หวัน

ดัชนี TWSE Capitalization Weighted Stock Index (TAIEX) ของตลาดหุ้นไต้หวัน พุ่งขึ้นราว 29% ในปีนี้ แสดงให้เห็นถึงการเติบโตที่แข็งแกร่งของตลาดหุ้นไต้หวัน แต่เมื่อเทียบเป็นดอลลาร์ ดัชนี TAIEX เพิ่มขึ้นเพียง 22% เนื่องจากความต้องการปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทั่วโลกที่แข็งแกร่ง 

คาดเอเชีย ‘ลดดอกเบี้ย’ ตามเฟด

ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ กำลังเผชิญกับแรงกดดันจากรัฐบาลในการให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามธนาคารกลางหลายแห่งยังคงยืนกรานที่จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ซึ่งสถานการณ์นี้นำไปสู่ความกังวลในตลาดว่า ธนาคารกลางอาจยอมจำนนต่อแรงกดดันจากรัฐบาลและลดอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าที่ควรจะเป็น

เซธ กล่าวว่า "ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ สามารถต้านทานแรงกดดันของรัฐบาลที่จะลดอัตราดอกเบี้ยได้ แต่เห็นได้ชัดว่าตลาดมีความกังวล"

อย่างไรก็ตาม หากเฟดเริ่มลดอัตราดอกเบี้ยคาดว่าธนาคารกลางในเอเชีย (ยกเว้นญี่ปุ่น) จะลดดอกเบี้ยตาม โดย CME FedWatch tool คาดว่ามีโอกาส 56% ที่เฟดจะลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายน เนื่องจากเจ้าหน้าที่เฟดส่งสัญญาณว่าจะลดอัตราดอกเบี้ย 1  ครั้งในปีนี้

อาร์โนด์ เลเทซิส นักวิเคราะห์หุ้นภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกของธนาคารซิตี้แบงก์มองว่า หากดอลลาร์อ่อนค่าลงความเชื่อมั่นต่อตลาดหุ้นเอเชียจะดีขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับความเสี่ยง และบรรยากาศของตลาดหุ้นสหรัฐ

อ้างอิง Nikkei

พิสูจน์อักษร....สุรีย์   ศิลาวงษ์