ธปท. ชี้เศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า รับแรงส่ง ‘ท่องเที่ยว-บริการ’ หนุนต่อ
ธปท. มองเศรษฐกิจไทยระยะข้างหน้า ยังมีแรงส่ง ‘ท่องเที่ยว-บริการ’ พบต่างชาติ ต้องการเข้ามาท่องเที่ยวอยู่ระดับสูง จับสัญญาณชีพ ส่งออก-การผลิต เหตุต้นทุนกดดัน “รายรับธุรกิจ- รายได้ครัวเรือน” บางกลุ่มยังเปราะบาง แม้ความเชื่อมั่นธุรกิจ ส.ค.เพิ่ม -เศรษฐกิจไทย ก.ค.ดีขึ้น
นางสาวชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายองค์กรสัมพันธ์ และ โฆษก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า คาดว่า ยังมีแรงส่งจากภาคการท่องเที่ยวและบริการ จากนักท่องเที่ยวต่างชาติมีความต้องการเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทย พบว่า จากปริมาณการค้นหาเกี่ยวกับคำที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวไทย ยังอยู่ในระดับที่สูง
ประกอบด้วย 1. หมวดหมวดโรงแรมและที่พัก 2.หมวดจุดหมายปลายทางนักท่องเที่ยว 3. หมวดการเดินทางทางบก 4.บริการนำเที่ยว 5.การซื้อสินค้าและบริการ6.สภาพอากาศ
แต่ยังต้องติดตามการฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและการผลิตภาคอุตสาหกรรม ที่ผ่านมายังทยอยฟื้นตัว เช่น อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่พบว่ายังมีบางอุตสาหกรรม ที่จะยังได้รับแรงกดดันจากปัจจัยเชิงโครงสร้างและสินค้าคงคลังที่อยู่ในระดับสูง ส่งผลต่อรายรับธุรกิจและรายได้ครัวเรือนในบางกลุ่มยังเปราะบาง
ระยะต่อไป ต้องติดตาม 3 ปัจจัยสำคัญ ดังนี้ 1) ผลของการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณและมาตรการภาครัฐ 2) การฟื้นตัวของการส่งออกและการผลิต และ 3) ความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์
นอกจากนี้ ทางด้านความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเดือน ส.ค.67 เพิ่มขึ้นหลังจากปรับลดลงไปมากในเดือนก่อน ขณะที่ต้นทุนการผลิตสูง ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญของภาคธุรกิจมาากที่สุด รองมาคือ การปรับราคาสินค้าได้ยาก , ความต้องการในประเทศต่ำ , การแข่งขันในประเทศรุนแรง และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
สำหรับรายงานเศรษฐกิจไทยเดือนก.ค.2567 พบว่า "โดยรวมปรับดีขึ้น" หลังชะลอลงในเดือนก่อน ตามการฟื้นตัวของอุปสงค์ต่างประเทศ
โดยการส่งออกสินค้าและรายรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้น ส่งผลให้การผลิตภาคอุตสาหกรรม และบริการที่เกี่ยวเนื่องขยายตัว ด้านการลงทุนภาคเอกชนกลับมาขยายตัวจากเดือนก่อน
ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนทรงตัว อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการและผู้บริโภคยังลดลง ส่วนหนึ่งจากความกังวลด้านเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำ
สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐขยายตัวจากทั้งรายจ่ายประจำและลงทุนของรัฐบาลกลาง ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคม
เสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนและจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง ด้านอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสำเร็จรูป
สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจากดุลการค้าตามมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน
ด้านตลาดแรงงานโดยรวมปรับดีขึ้นจากการจ้างงานทั้งในภาคการผลิตและบริการอย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสัดส่วนผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้นรายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกรกฎาคม 2567 เมื่อเทียบกับเดือนก่อน มีดังนี้
มูลค่าการส่งออกสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ส่วนหนึ่ง จากการเร่งส่งออกสินค้า เพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาความล่าช้าในการขนส่งสินค้าทางเรือ
โดยการส่งออกเพิ่มขึ้นในหลายสินค้า ได้แก่ 1) อิเล็กทรอนิกส์ ตามการส่งออกชิ้นส่วนอุปกรณ์สื่อสารไปมาเลเซีย แผงวงจรรวมไปมาเลเซียและยุโรป รวมทั้งคอมพิวเตอร์ไปไต้หวันและฮ่องกง 2) สินค้าเกษตรแปรรูป ตามการส่งออกน้ำมันพืชไปอินเดีย และยางสังเคราะห์ไปจีน และ 3) ผลิตภัณฑ์เคมีและปิโตรเคมีภัณฑ์ จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นตามการขยายกำลังการผลิตสารเคลือบเคมีในอินเดียเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าในบางหมวดปรับลดลงจากเดือนก่อน อาทิ รถกระบะไปออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ และตะวันออกกลาง
จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยนักท่องเที่ยวกลุ่มตะวันออกกลางและอินเดียปรับลดลงหลังจากเร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวในบางสัญชาติปรับเพิ่มขึ้น อาทิ มาเลเซีย จีน รัสเซีย และเยอรมนี สำหรับรายรับภาคการท่องเที่ยวที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน ตามค่าใช้จ่ายต่อหัวที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวสัญชาติรัสเซียและเยอรมนี
ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหลายหมวดโดยเฉพาะ 1) หมวดยานยนต์ จากการผลิตเพื่อรอส่งออก เนื่องจากมีปัญหาเรื่องการขนส่งจากสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลาง 2) หมวดยางและพลาสติก ตามการส่งออกผลิตภัณฑ์ยางที่เพิ่มขึ้น 3) หมวดอื่นๆ จากการผลิตเครื่องจักร อาทิ มอเตอร์ไฟฟ้าและหม้อแปลง อย่างไรก็ตาม การผลิตหมวดปิโตรเลียมปรับลดลง หลังเร่งผลิตไปในเดือนก่อนหน้า
เครื่องชี้การลงทุนภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากทั้งการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ และด้านก่อสร้าง โดยเฉพาะการนำเข้าสินค้าทุน ยอดจดทะเบียนรถยนต์เชิงพาณิชย์ ยอดจำหน่ายเครื่องจักรในประเทศ และพื้นที่ได้รับอนุญาตก่อสร้างเพื่อที่อยู่อาศัย ขณะที่ยอดจำหน่ายวัสดุก่อสร้างปรับลดลงตามยอดจำหน่ายเสาเข็มคอนกรีตและเครื่องสุขภัณฑ์ อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นด้านการลงทุนของภาคธุรกิจยังปรับลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และภาคการค้า
เครื่องชี้การบริโภคภาคเอกชนที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วทรงตัวจากเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายในหมวดบริการเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมขนส่งผู้โดยสาร ประกอบกับหมวดสินค้ากึ่งคงทนและสินค้าคงทนเพิ่มขึ้นหลังลดลงมากในเดือนก่อน
ขณะที่การใช้จ่ายในหมวดสินค้าไม่คงทนปรับลดลงตามปริมาณการจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังลดลงต่อเนื่องจากความกังวลด้านค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานในประเทศ และเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวต่ำ รวมทั้งความไม่แน่นอนทางการเมือง
มูลค่าการนำเข้าสินค้าไม่รวมทองคำที่ขจัดปัจจัยฤดูกาลแล้วเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในทุก หมวดสินค้าหลักจาก 1) วัตถุดิบและสินค้าขั้นกลาง ตามน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นจากด้านปริมาณเป็นสำคัญ
และการนำเข้าชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าจากไต้หวันและเกาหลีใต้ 2) สินค้าทุนไม่รวมเครื่องบิน ตามการนำเข้าคอมพิวเตอร์จากไต้หวัน และ 3) สินค้าอุปโภคบริโภค ตามการนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าและเครื่องใช้ไฟฟ้าจากจีน
การใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน ขยายตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน จากทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลาง ภายหลัง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2567 มีผลบังคับใช้ โดยรายจ่ายประจำขยายตัวตามการเบิกจ่ายค่าบำเหน็จ บำนาญ ค่ารักษาพยาบาล และค่าตอบแทนพนักงานของรัฐ
สำหรับรายจ่ายลงทุนขยายตัว จากการเบิกจ่ายโครงการลงทุนด้านคมนาคมและชลประทาน ขณะที่รายจ่ายลงทุนของรัฐวิสาหกิจหดตัวตามการเบิกจ่ายของโครงการด้านคมนาคม
ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนในหมวดอาหารสดและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยหมวดอาหารสดเพิ่มขึ้นจากผลของฐานต่ำในปีก่อนและจากราคาผลไม้ที่เพิ่มขึ้นตามผลผลิตที่ลดลง
ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเพิ่มขึ้นจากหมวดอาหารสำเร็จรูป สำหรับอัตราเงินเฟ้อหมวดพลังงานลดลงจากผลของฐานราคาน้ำมันกลุ่มเบนซินที่สูงในปีก่อน
ด้านตลาดแรงงานปรับดีขึ้นสะท้อนจากการจ้างงานในระบบประกันสังคมทั้งในภาคการผลิตและบริการ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามสัดส่วน
ผู้ขอรับสิทธิว่างงานต่อจำนวนผู้ประกันตนรวมที่ปรับเพิ่มขึ้น สำหรับดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลลดลงจาก
ดุลการค้า ตามมูลค่าการนำเข้าที่เพิ่มขึ้นเป็นสำคัญ ขณะที่ดุลบริการ รายได้ และเงินโอนขาดดุลใกล้เคียงกับเดือนก่อน ด้านการระดมทุนของภาคธุรกิจโดยรวมลดลงจากเดือนก่อน ตามการระดมทุนผ่านตราสารหนี้ในธุรกิจกลุ่มพลังงาน อย่างไรก็ดี การระดมทุนผ่านตลาดทุนเพิ่มขึ้นจากธุรกิจผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และ
กลุ่มผลิตปิโตรเลียมและเคมีภัณฑ์ ประกอบกับการระดมทุนผ่านสินเชื่อที่เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนส่งและก่อสร้าง
สำหรับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทเทียบกับดอลลาร์ สรอ. เฉลี่ยแข็งค่าขึ้น เนื่องจาก 1) ตลาดปรับเพิ่มคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ หลังตัวเลขเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาด 2) การแข็งค่าขึ้นของสกุลเงินเยน จากธนาคารกลางญี่ปุ่นปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่ตลาดคาด และ 3) แรงกดดันจากราคาทองคำที่เพิ่มขึ้น