นักเศรษฐศาสตร์ชี้ ‘เมกะโปรเจกต์‘ หนุนเศรษฐกิจโต ดึงเงินเข้าประเทศ
นักเศรษฐศาสตร์” ชี้ 3 อภิมหาเมกะโปรเจกต์ “แลนด์บริดจ์-เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ - ถมทะเลบางขุนเทียน” เป็นโมเมนตัมเชิงบวกต่อเศรษฐกิจไทย “เกียรตินาคินภัทร” เชื่อดึงเม็ดเงินลงทุนใหม่ได้ ภายใต้แต่ละโครงการต้องชัดเจน คาด “เอกชน” ควักลงทุนเอง 100%
นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า หากพูดถึงทั้ง 3 โครงการทั้ง “แลนด์บริดจ์-เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์-ถมทะเลบางขุนเทียน”
อย่าง เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มองว่า หากรัฐเปิดให้เอกชนลงทุน โดยรัฐไม่ต้องอุดหนุน หรือชดเชยรายได้ ให้เอกชนแข่งขันลงทุนเอง 100% น่าจะเกิดผลบวกกับเศรษฐกิจ เพราะทุกการลงทุนก่อให้เกิดการลงทุน และการเกิดหมุนเวียนเชิงเศรษฐกิจ เป็นจุดดึงดูดเม็ดเงินเข้าไทยมหาศาล มีผลบวกกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะยาว
ทว่าสิ่งที่ต้องพิจารณาคือ โครงการเหล่านี้แม้จะเรียกเม็ดเงินลงทุนใหม่ กระตุ้นการหมุนเวียนเชิงเศรษฐกิจ รัฐอาจต้องช่างน้ำหนักในเชิง “ศีลธรรม” มีความคุ้มค่าหรือไม่ เพราะอาจมีผลกระทบตามมา ทั้งการทำอย่างไรไม่ให้คนติดพนัน หรือยิ่งส่งเสริมให้เกิดการเล่นพนันหรือไม่ สุดท้ายภาครัฐอาจต้องใช้งบประมาณมหาศาลดูแลสิ่งเหล่านี้
“ในเชิงรายได้ เชิงกระตุ้นเศรษฐกิจหากปล่อยภาคเอกชนทำคงมีความคุ้มค่า แต่จะจัดการปัญหาด้านศีลธรรมอย่างไร หรือผลกระทบที่จะมีต่อคนไทยที่ตามมาอย่างไรในอนาคต เป็นโจทย์ที่รัฐต้องคิดมากๆ”
ส่วนโครงการแลนด์บริดจ์ มองว่า มีประโยชน์ต่อเศรษฐกิจมากหากสามารถทำได้ในอนาคต แต่ต้องขึ้นอยู่กับการก่อสร้างดังกล่าวเกิดขึ้นจากรัฐบาล หรือภาคเอกชน เพราะจะมีผลเรื่องความคุ้มค่าการลงทุนในอนาคต หากเอกชนสร้างทั้งหมดการบริหารจัดการต่างๆ อาจมีความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ แต่หากรัฐทำโครงการเหล่านี้เอง อาจมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บรายได้ตามมาในอนาคต ทำให้โครงการอาจได้ถูกพัฒนาเท่าที่ควร
หนุนถมทะเลสร้างเกาะป้องน้ำท่วม
ส่วนโครงการถมทะเลสร้างเกาะใหม่ เพื่อลดผลกระทบน้ำท่วม ยังไม่สามารถประเมินได้ว่า มีผลกระทบเชิงบวกมากน้อยแค่ไหน หรือเป็นจุดเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจไทยอย่างไร เพราะโครงการต่างๆ ยังไม่ชัดเจน แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์คือ ป้องกันน้ำท่วมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะปัจจุบันที่มีประเด็นเรื่องน้ำทะเลขึ้น และรุกล้ำแผ่นดินมากขึ้นเป็นสิ่งที่ควรทำ เพื่อป้องกันภัยน้ำท่วมที่อาจเกิดขึ้นใน 10-20 ปีข้างหน้า
ดังนั้นหากมองในแง่ การสร้างรายให้เศรษฐกิจไทย ภาพอาจยังไม่ชัดเจนว่าจะสร้างรายได้อย่างไร แต่ในแง่ประโยชน์จะสามารถป้องกันน้ำท่วม และลดความเสียหายจากน้ำทะเลหนุนในอนาคตว่าจะสร้างรายได้อย่างไร แต่ในแง่ประโยชน์จะสามารถป้องกันน้ำท่วม และลดความเสียหายจากน้ำทะเลหนุนในอนาคต
“ดิจิทัลวอลเล็ต-งบรัฐปี 68” กระตุ้น ศก.
ส่วนแผนกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐ ทั้งดิจิทัลวอลเล็ต เฉพาะกลุ่มที่จะเข้ามาในช่วงเดือนก.ย. 1.4 แสนล้านบาท และงบประมาณปี 2568 ที่จะออกมาระยะข้างหน้า มองว่ามีส่วนกระตุ้นเศรษฐกิจ หนุนเศรษฐกิจขยายตัวต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง
อย่างไรก็ตาม การใช้เงินภาครัฐจำนวนมาก สิ่งที่ต้องระวังคือ เพดานทางการคลัง ความสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตอาจลดลง แต่อาจไม่สามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้เต็มที่ หากมีสถานการณ์เร่งด่วนหรือฉุกเฉิน เพราะการใช้งบประมาณทั้งปี 2568 รวมถึงเงินจากดิจิทัลวอลเล็ตทำให้ หนี้สาธารณะต่อจีดีพีใกล้แตะระดับ 70%
รวมถึงการใช้งบภายใต้มาตรา 28 ก็ใกล้เต็มเพดาน ดังนั้น เป็นสิ่งที่ภาครัฐต้องระมัดระวังมากขึ้น แม้การกระตุ้นระยะสั้นเป็นสิ่งที่จำเป็น และช่วยหนุนเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ระยะสั้นๆ ดังนั้นในระยะยาวภาครัฐ ต้องมีแผนจัดการงบประมาณต่างๆ ให้ระมัดระวังมากขึ้น
โดยเฉพาะการลดขาดดุลภาครัฐ ลดหนี้สาธารณะให้ลดลง เพราะไทยต้องเผชิญโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้น ทั้งจากสังคมสูงวัยที่ทำงานน้อยลง และฐานการเก็บภาษีต่างๆ ลดลง และคนที่อยู่นอกระบบภาษีเยอะมากขึ้น
ดังนั้น การกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นจำเป็น แต่ต้องทำควบคู่การวางแผนระยะยาว เช่น วิธีลดรายจ่ายเพิ่มรายได้ เพิ่มฐานรายได้ จากคนที่อยู่นอกระบบภาษีให้เข้ามาในระบบมากขึ้น
“หากดูงบภาครัฐปี 2568 ที่ 3.7 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นการขาดดุลงบประมาณจะอยู่ที่ 4% ของจีดีพี ถือว่าสูงขึ้นกว่าปีปกติที่เราขาดดุลกันปีละ 3% กว่า เพราะปีนี้เราใส่งบในดิจิทัลวอลเล็ตเข้ามาเพิ่ม ดังนั้น แง่กระตุ้นเศรษฐกิจมีผลบวก และกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อได้ในครึ่งปีหลังนี้ หรือมีส่วนกระตุ้นจีดีพีได้ในไตรมาส 4 เกือบ 1% ดังนั้น มองว่าหากดิจิทัลวอลเล็ตทำได้ จีดีพีไตรมาส 4 อาจเติบโตได้กว่า 4% จากไตรมาส 3 ที่คาดอยู่ที่ 3%”
ย้ำต้องไม่ทิ้ง “อีอีซี-รถไฟไทยจีน”
นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า ไม่ว่าจะเกิดหรือไม่เกิด 3 โครงการอภิมหาโปรเจกต์รัฐบาล แต่มองว่าโครงการขนาดใหญ่ทั้ง “แลนด์บริดจ์” หรือโครงการขนาดใหญ่ที่รัฐทำอยู่อยากให้เดินหน้าต่อควบคู่ไปด้วยอย่าง โครงการระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่เป็นการเพิ่มช่องทางลงทุนให้เกิดการกระจายตัวของการลงทุนที่เชื่อมโยงภาคตะวันออก และเดินหน้าต่อ “ท่าเรือน้ำลึกฝั่งชุมพร” ต้องลงทุนเพิ่มเติมให้เกิดการเชื่อมโยงกับภาคตะวันตกและเชื่อมโยง “รถไฟไทย-จีน” รองรับโครงการแลนด์บริจด์ แม้จะเกิดหรือไม่ก็ตาม
ส่วนโครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ และถมทะเลบางขุนเทียน แม้ยังไม่ชัดเจน ต้องรอผลศึกษา ความคุ้มค่าลงทุน แต่มองว่าเป็นการเปิดโอกาสลงทุนเพิ่มเติม
เช่น เอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ เป็นการยกระดับธุรกิจใต้ดินขึ้นมาบนดิน หนุนให้เกิดการท่องเที่ยวที่มีความหลากหลาย แต่ก็ควรศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคของไทยซึ่งจะเปลี่ยนแปลงไปต้องมีการควบคุมธุรกิจเหล่านี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม 3 โครงการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐที่กล่าวมา ยังตอบได้ยากว่าจะศึกษาจนเกิดการลงทุนเมื่อไหร่ แต่หากระยะข้างหน้าการลงทุนดังกล่าวชัดขึ้นเรื่อยๆ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นหาแหล่งเม็ดเงินที่จะเข้ามาสนับสนุนการลงทุนมากขึ้น ส่วนจะยกระดับการเติบโตเศรษฐกิจไทยได้มากหรือน้อยแค่ไหนในระยะยาว ยังต้องรอติดตามกันต่อไป
“ระยะสั้นมองว่าจีดีพีไทยยังเติบโตระดับ 2.5 -3% หากกระตุ้นแรงๆ ก็ปรับขึ้นได้ชั่วคราว หลังจากนั้นก็ย่อลงมา ขณะที่การลงทุนเมกะโปรเจกต์ภาครัฐดังกล่าว จะผลักดันการเติบโตกลับไปที่ 4-5% ได้หรือไม่ ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมิน”
ความคุ้มค่าขึ้นกับผลศึกษาสภาพัฒน์ฯ
ขณะที่ความคุ้มค่าลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐขึ้นกับผลการศึกษาของสภาพัฒน์ฯ ที่จะประเมินข้อดีข้อเสีย ลงทุนคุ้มค่าแค่ไหน ใครลงทุน เพราะการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ เป็นห่วงเรื่องงบประมาณ ก่อนหน้าใช้ การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) มาตลอด หลังจากนี้ต้องดูต่อไปว่าสถานการณ์การลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐจะมีแนวทางเป็นอย่างไร
ทั้งนี้ เชื่อว่าไทยยังมีโอกาสลงทุน และการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐ จะเป็นตัวขับเคลื่อนได้อยู่ ต้องพิจารณาเรื่องเม็ดเงินลงทุน และความคุ้มค่าการลงทุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด เนื่องจากหลังมีรัฐบาลชุดใหม่ รวดเร็ว มีงบประมาณเข้ามาอัดฉีด มีแนวโน้มพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวมากขึ้น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน มองเชิงบวกต่อการเติบโตเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
ชงเร่ง FDI-FTA ยกระดับ ศก.ระยะยาว
ดังนั้น นอกจากนโยบายรัฐบาล ผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นแล้ว อยากให้มองมาตรการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะยาวด้วย แน่นอนว่ายังเป็นโจทย์สำคัญ “ในการยกระดับการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย”
โดยเฉพาะมอง 2 เรื่องเร่งด่วน คือ 1. สนับสนุนเพื่อดึงดูดลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) รับการย้ายฐานผลิตจากจีนมาไทย ไม่ว่าจะเป็น อิเล็กทรอนิกส์ระดับไฮเอนด์ แบตเตอรี่ ดิจิทัล คลังสินค้า ดาต้าเซนเตอร์ เป็นต้น
“เรายังมีหลากหลายอุตสาหกรรม นอกจากอีวีที่เราต้องดึงดูดเม็ดเงินนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุน ขณะเดียวกันก็ต้องคลายปัญหาคอขวด ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ที่ดิน ภาษี ต้องคลายกฎระเบียบต่างๆ ช่วยเข้ามาสนับสนุนดึงเม็ดเงิน FDI มากขึ้น”
และ 2. เร่งผลักดันเขตการค้าเสรี (FTA) เชื่อมโยงยุโรป สหรัฐ เดินหน้าหาพันธมิตร ต้องเร่งให้ไทยเป็นจุดดึงดูดให้เร็วที่สุด ดังนั้น มองว่านายกฯ แพทองธารคงต้องรับบทบาทเป็นเซลส์แมนต่อจาก อดีตนายกฯ เศรษฐาในการดึงดูดเม็ดเงินลงทุนต่างชาติ และสร้างความเชื่อมั่นต่อไป
เมกะโปรเจกต์ชัดหนุน ศก.โตยาว
นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด และในฐานะนายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยว่า สำหรับโครงการเอนเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มองบวกต่อภาพรวมไทย ระยะข้างหน้ามีโอกาสเติบโตได้มากขึ้น ท่องเที่ยวไทยมีจุดขาย มีโอกาสเกิดการลงทุนเพิ่ม เช่น ขยายสนามบินเพิ่มรองรับการขยายตัวทางด้านต่างๆ กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทยผ่านนโยบายการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล
ด้านเม็ดเงินลงทุน ใครลงทุนบ้าง คุ้มค่าหรือไม่ ต้องรอติดตามการศึกษาและแผนการลงทุนต่อไป ขณะนี้ยังเร็วที่จะประเมิน หากโครงการลงทุนเมกะโปรเจกต์รัฐคืบหน้า ชัดเจนยิ่งสร้างความหวังต่อเศรษฐกิจไทยการเติบโตระยะยาว ที่ต้องอาศัยการลงทุนขนาดใหญ่ภาครัฐมาขับเคลื่อนเป็นโมเมนตัมเชิงบวกต่อตลาดหุ้นไทยที่มักจะตอบรับล่วงหน้าเสมอ ทั้งยังต้องเดินหน้าผลักดันการลงทุนในอีอีซีไม่อยากให้ทิ้ง รวมถึงเร่งปรับปรุงการผลิต เพิ่มศักยภาพส่งออก นายกฯ ทำหน้าที่เป็นเซลส์แมนต่อจากอดีตนายกฯ เศรษฐาดึงต่างชาติมาลงทุนในไทย
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์