เปิดศึกชิง เวอร์ชวลแบงก์ วัดกำลัง 4 ทุน ‘เอสซีบีเอกซ์-กรุงไทย-ทรู-บีทีเอส‘

เปิดศึกชิง เวอร์ชวลแบงก์ วัดกำลัง 4 ทุน ‘เอสซีบีเอกซ์-กรุงไทย-ทรู-บีทีเอส‘

สัปดาห์สุดท้ายของการยื่นขอ “ใบอนุญาต” ตั้งธุรกิจ “เวอร์ชวลแบงก์” ก่อน ธปท.เตรียมปิดยื่นขอไลเซนส์ 19 ก.ย.67 จับตา “4 บิ๊กกลุ่มทุน” ร่วมชิง “เอสซีบี เอกซ์-กรุงไทย-ทรู-บีทีเอส” ต่อยอดสร้างรายได้ โกยฐานลูกค้าใหม่

เข้าสู่สัปดาห์สุดท้ายของการยื่นขอจัดตั้ง “ธนาคารพาณิชย์ไร้สาขา” หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดให้ “ผู้สนใจ” ยื่นขอใบอนุญาต หรือ “ไลเซนส์” ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค.2567 ถึง 19 ก.ย.2567 หลังจากนั้น ธปท. และกระทรวงการคลัง จะร่วมพิจารณาคุณสมบัติผู้ยื่นขอไลเซนส์

เปิดศึกชิง เวอร์ชวลแบงก์ วัดกำลัง 4 ทุน ‘เอสซีบีเอกซ์-กรุงไทย-ทรู-บีทีเอส‘

เบื้องต้นคาดจะประกาศรายชื่อผู้ได้ไลเซนส์ Virtual Bank กลางปี 2568 และจะเริ่มดำเนินธุรกิจได้หลังจากนั้น 1 ปี โดยจะเห็นผู้ให้บริการรายแรกที่เริ่มดำเนินธุรกิจได้กลางปี 2569

ธนาคารแห่งประเทศไทย” หรือ ธปท.ระบุว่า การยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank มีการแสดงความจำนงยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank เข้ามามาก โดยมีทั้งรายที่เป็นข่าวไปแล้ว และยังไม่เป็นข่าว 

ทั้งนี้ หลังปิดการยื่นไลเซนส์อาจแถลงความคืบหน้า โดย ธปท.เคยประเมินว่าผู้ขอใบอนุญาตไม่เกิน 3 ราย และ ณ ตอนนี้ จำนวนที่เหมาะสมก็ไม่เกิน 3 ราย แต่อนาคตต้องดูตามหลักเกณฑ์ที่เผยแพร่ประกาศของกระทรวงการคลัง 

“เวอร์ชวลแบงก์” พลิกโฉมธุรกิจธนาคาร

การเปิดให้ใบอนุญาตตั้ง Virtual Bank เป็นปรากฏการณ์สำคัญของวงการ​ “ธนาคารไทย” และ “วงการการเงิน” เพราะอาจเปลี่ยนภาพการแข่งขัน การให้บริการทางการเงินที่เปลี่ยนไปจากเดิมมากทั้งการให้บริการที่ ธปท.หวังจะสร้างการเข้าถึงบริการการเงินมากขึ้น และอุดช่องโหว่การเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน รวมถึงการเพิ่มการแข่งขันภาคธนาคารทั้งการให้บริการที่จะมีประสิทธิภาพ บนต้นทุนที่ถูกลง

ดังนั้น การยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank เป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของภาคธุรกิจไทยเช่นเดียวกัน ที่ทำให้ “บิ๊กทุนใหญ่” ของไทย และต่างประเทศหันมาขยับขยายตัวเอง และลงมาแข่งขันสมรภูมินี้มากขึ้น เพราะนอกจากสนับสนุนให้คนเข้าถึงการเงิน และเค้กก้อนนี้อาจสร้างรายได้หรือธุรกิจใหม่อย่าง “มหาศาล” ในอนาคต

ทั้งนี้ จากการประกาศข่าวของบรรดา “บิ๊กทุนใหญ่” ที่ออกมาก่อนหน้านี้แล้วพบว่ามี “4 บิ๊กกลุ่มทุน” ที่มีโอกาสยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank แน่นอน ประกอบด้วย

1.“บมจ.เอสซีบี เอกซ์” (SCB) ที่มีพันธมิตรใหญ่ “WeBank” ธนาคารดิจิทัลชั้นนำในจีน และ KakaoBank ธนาคารยักษ์ใหญ่ของเกาหลีใต้

2.“กรุงไทย-เอไอเอส-กลุ่มกัลฟ์-โออาร์” ที่มองตลาดนี้มีโอกาสอีกมากในการเข้ามาทำธุรกิจ 

3.“กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่” ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” ซึ่งเป็นกลุ่มบริษัทในเครือของ “เครือเจริญโภคภัณฑ์” (ซีพี) จับมือ “แอนท์ กรุ๊ป” (Ant Group) ซึ่งเป็นผู้นำในฟินเทค เป็นบริษัทลูกของอาลีบาบา (Albaba) จากจีน 

4.“กลุ่มทุนบีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง” (BTS) ที่ส่งบริษัทลูกอย่าง “บมจ. วีจีไอ” หรือ VGI เป็นผู้ลงสนามท้าชิงเค้กก้อนดังกล่าว และมาพร้อม “พันธมิตร” ธนาคารเบอร์ 1 ของไทยอย่าง “ธนาคารกรุงเทพ” (BBL) 

และไม่เพียงแค่นั้น ยังพ่วงพันธมิตรรายล่าสุดของกลุ่มนี้ที่ถือเป็น “ม้ามืด” ที่จะเข้ามาร่วมวงชิง Virtual Bank คือ “Sea Limited” (ซีกรุ๊ป) ที่เป็นเจ้าของอาณาจักรเกมดัง เช่น FreeFire , League of Legends , ROV และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่ “ช้อปปี้” (Shopee) ที่จะกลายเป็น “ม้ามืด” ที่ขอร่วมวงชิงดำ Virtual Bank ด้วยคน

หากพูดถึง “จุดแข็ง” แต่ละรายที่มีโอกาสให้บริการ Virtual Bank ถือว่าทุกรายมีคุณสมบัติค่อนข้างครบ ทั้งการเป็นผู้ให้บริการที่มีความน่าเชื่อถือ เป็นผู้ที่ให้บริการอยู่แล้วในไทย บวกกับการมีฐานลูกค้าจำนวนมาก และมีความสามารถทางเทคโนโลยีที่เป็นจุดแข็งสำคัญให้แต่ละรายเข้ามาทำธุรกิจนี้ได้ราบรื่น

“เอสซีบี เอกซ์” คุณสมบัติครบ-พันธมิตรแกร่ง 

“เอสซีบี เอกซ์” มีจุดแข็งไม่น้อย และเป็นอีกรายที่มีคุณสมบัติครบถ้วนในการประกอบธุรกิจ Virtual Bank โดยเฉพาะรวมตัวกับ “KAKAO Bank” และ WeBank ธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งในจีน ยิ่งทำให้ “เอสซีบี เอกซ์” ได้เปรียบในการแข่งขัน

ทั้งนี้ “เอสซีบี เอกซ์” เป็นบริษัทแม่ของ “ธนาคารไทยพาณิชย์” ที่เป็นสถาบันการเงินอันดับต้นของไทยมาพร้อมฐานลูกค้า และทรัพยากรที่แข็งแกร่งมาก โดยมีความมั่นคงในการดำเนินธุรกิจธนาคาร และการเงินในประเทศมานาน และได้ปรับองค์กรมาต่อเนื่องสู่โลกดิจิทัล ผ่านการลงทุนด้านเทคโนโลยีมหาศาลเพื่อขับเคลื่อนองค์กรในการตอบสนองความต้องการลูกค้าบนยุคดิจิทัลมากขึ้น

ขณะที่ KaKao Bank ธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ นอกจากเชี่ยวชาญธุรกิจ Virtual Bank แล้ว ยังมีศักยภาพด้านเทคโนโลยีมาช่วยทำให้ธุรกิจมีขีดความสามารถในการเข้าถึงประชาชนมากขึ้น 

รวมทั้งการให้บริการของ KAKAO Bank ประสบความสำเร็จมากในวงการธนาคารเกาหลีใต้มาแล้ว ด้วยการมีผู้ใช้งานกว่า 1 ล้านราย หลังจากเปิดดำเนินไปได้เพียง 5 วันเท่านั้น ซึ่งเป็นจุดแข็งอย่างมากที่ทำให้ KAKAO Bank ขึ้นมาเป็นเบอร์หนึ่งในเกาหลีใต้เช่นปัจจุบัน

WeBank ธนาคารดิจิทัลอันดับหนึ่งในจีน เป็นพันธมิตรที่แข็งแกร่งเช่นกันถือเป็นผู้ประสบความสำเร็จมากจนมีบัญชีผู้ใช้งานมากที่สุดในจีน 362 ล้านบัญชี และคนที่เข้าถึงบริการทางการเงินทั้งหมดของ WeBank คือ กลุ่มชนชั้นแรงงานกว่า 75% ซึ่งส่วนใหญ่ คือ กลุ่ม Unserved และUnderserved โดยการใช้เทคโนโลยีใหม่มาช่วยเข้าถึงบริการทางการเงินมากขึ้น

ดังนั้นด้วยการผสมผสาน “ความน่าเชื่อถือ” ที่มาจาก “เอสซีบี เอกซ์” บวกฐานลูกค้าและทรัพยากรที่แข็งแกร่ง ผสมผสานกับเทคโนโลยีขั้นสูงจาก Webank และความเชี่ยวชาญในการสร้างประสบการณ์ใช้งานที่เข้าถึงง่ายจาก Kakao Bank ทำให้กลุ่มนี้มีศักยภาพสูงมากในการแข่งขันในตลาด Virtual Bank ครั้งนี้

ผนึกกรุงไทย-เอไอเอส-กลุ่มกัลฟ์-โออาร์

กลุ่ม “กรุงไทย-เอไอเอส-กลุ่มกัลฟ์-โออาร์” โดยธนาคารกรุงไทย (KTB) และ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR ได้ผนึกกำลังทางธุรกิจครั้งสำคัญเข้ามาชิงไลเซนส์ครั้งนี้ เต็มไปด้วยความพร้อมด้านเงินทุน และฐานลูกค้าในมือเกือบ 100 ล้านคน

ธนาคารกรุงไทยเป็นทั้งธนาคารพาณิชย์ใหญ่เป็นอันดับต้นของไทย และมีทั้งฐานลูกค้าทั้งผ่านเป๋าตัง ที่มีฐานลูกค้าเกือบ 50 ล้านคน และเชี่ยวชาญด้านการเงินมาก ที่มีทั้งความน่าเชื่อถือ ความพร้อม และเข้าใจความเสี่ยงของแต่ละลูกค้าเป็นอย่างดี

ส่วน เอไอเอส ผู้ให้บริการการสื่อสารใหญ่ที่สุดในประเทศมีเครือข่ายครอบคลุมทั่วประเทศ ดังนั้นจุดแข็งนี้จะทำให้กลุ่มนี้นำเสนอบริการผ่าน Virtual bank ให้ลูกค้าพื้นที่ห่างไกลที่อาจยังไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินที่ธนาคารแบบดั้งเดิมยังไม่สามารถทำได้มาก ดังนั้น เอไอเอส จะเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้ลูกค้าเข้าสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล บนการให้บริการของ Virtual Bank ได้มากขึ้น

ด้าน “โออาร์” เป็นพันธมิตรที่สร้างช่องทาง และโอกาสในการเจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้น เนื่องจากธุรกิจของโออาร์ มีทั้งในส่วนของสถานีบริการน้ำมัน และส่วนของร้านค้าธุรกิจนอนออยล์ต่างๆ ที่มีช่องทางเข้าถึงผู้บริโภคทั่วประเทศ

“กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่” ภายใต้ “ทรูมันนี่”

กลุ่มแอสเซนด์ มันนี่” ผู้ให้บริการอีวอลเล็ตภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” กลุ่มเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ที่แสดงเจตจำนงในการยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank เช่นเดียวกัน โดยการยื่นไลเซนส์ครั้งนี้อาจนำโดย “ทรู” ที่เป็นหนึ่งในบริษัทโทรคมนาคมที่มีฐานลูกค้าขนาดใหญ่ในไทย และมีฐานลูกค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ อินเทอร์เน็ต เคเบิลทีวี จำนวนมาก ทำให้ “ทรู” มีโอกาสสำเร็จในการเข้ามาดำเนินธุรกิจนี้ไม่ยาก 

ไม่เพียงเท่านั้น ปัจจุบันทรูให้บริการบนดิจิทัลผ่าน “True Money ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการชำระเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมมากในไทย มีฐานลูกค้า 10 ล้านราย ภายใต้ “ทรู” เอง ยังอุดมไปด้วยพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ทั้งจากใน และต่างประเทศ ที่ในอนาคต “ทรู” อาจดึงเข้ามาร่วมวงในการทำ Virtual Bank ได้

ดังนั้นหากดูด้านความพร้อมกลุ่มนี้ถือเป็นกลุ่มที่น่าจับตามองอย่างมาก ที่มีทั้งความพร้อมในการทำระบบชำระเงินออนไลน์ และมีอีโคซิสเตมทางการเงินที่แข็งแกร่งอย่างมาก

“กลุ่มม้ามืด” พันธมิตร “บีทีเอส-แบงก์กรุงเทพ-ซีกรุ๊ป” 

กลุ่มทุนสุดท้าย ที่เพิ่งประกาศตัวไปหมาดๆ คือ กลุ่มของ “บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง” (BTS) ที่เตรียมส่งบริษัทลูก คือ บริษัท วีจีไอ หรือ VGI ในการเป็นหัวหอกเข้ามาช่วงชิงเค้กในสมรภูมิ Virtual Bank แห่งนี้

ว่ากันว่า การรวมตัวของ กลุ่ม บีทีเอส ครั้งนี้มีการดึง “สถาบันการเงินไทยรายใหญ่อันดับหนึ่งในไทย” เข้ามาร่วมด้วย นั่นคือ “ธนาคารกรุงเทพ” ที่มองว่าจะเข้าร่วมชิงไลเซนส์ครั้งนี้ และยังดึงพันธมิตรรายล่าสุดคือ Sea Limited เข้ามาร่วมวงชิงดำ Virtual Bank ด้วยคน

สำหรับ ความร่วมมือของ บีทีเอส กรุ๊ป และ ธนาคารกรุงเทพ เกิดขึ้นได้อย่างไร แหล่งข่าวระบุว่า ผู้บริหารระดับสูง บรรดาแม่ทัพนายกองนั้น มีการพบปะพูดคุยกันเป็นปกติ รวมถึงสายสัมพันธ์มีมานานตั้งแต่รุ่นบิดาของทั้ง 2 ฝ่าย มีการให้ความช่วยเหลือ ร่วมมือทางธุรกิจมาอย่างยาวนาน และส่งต่อถึง “ทายาท” เช่นกัน

ขณะที่ความเชื่อมโยงไปกับ Sea Limited เพราะผู้บริหารสนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว จึงนำไปสู่ความร่วมมือครั้งนี้

สำหรับ Sea Limited ทำธุรกิจในไทยเริ่มจากอีคอมเมิร์ซอย่างช้อปปี้ตั้งแต่ปี 2558 ขณะที่ธุรกิจเกมนั้นเดินทางมา 8 ปีแล้ว ศักยภาพของบริษัทไม่ต้องสงสัย เพราะผู้ก่อตั้งอย่าง ฟอร์เรสต์ หลี่ (Forrest Li) คือ มหาเศรษฐีติดท็อป 10 ของสิงคโปร์ 

ส่วนธุรกิจนั้นมีหลากหลาย ได้แก่ ธุรกิจเกม อีคอมเมิร์ซ และการเงิน (Digital Financial Service) มี ShopeePay AirPay การเติมเกมต่างๆ ซึ่งเฉพาะการเติมเงินเพื่อเล่นเกมฟรีก็ทำรายได้มหาศาล เหล่านี้ทำให้อาณาจักร Sea Limited มั่งคั่ง “หลายแสนล้านบาท” ส่วนมูลค่าบริษัทอยู่ระดับ “ล้านล้านบาท”

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่ต้องลุ้นนอกจากผู้ที่ได้ “ไลเซนส์” Virtual Bank คือ การให้ไลเซนส์ครั้งนี้จะปรับเปลี่ยนหรือไม่ จากเดิมที่ ธปท. กำหนดว่าผู้ที่ได้ไลเซนส์จะมีเพียง 3 ราย แต่กระทรวงการคลังอยากเปิดให้มีผู้ให้บริการมากขึ้น เพื่อส่งเสริมการแข่งขันกัน เพราะสุดท้ายเชื่อว่าการแข่งขันจะนำมาสู่การให้บริการที่ดีขึ้น ต้นทุนถูกลง ซึ่งคนที่ได้ประโยชน์ที่สุดคือ “ผู้บริโภค” 

 

 


พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์