กลุ่ม BTS ชิงเวอร์ชวลแบงก์ จับมือพันธมิตรยื่นขอไลเซนส์ ก.ย.67

กลุ่ม BTS ชิงเวอร์ชวลแบงก์ จับมือพันธมิตรยื่นขอไลเซนส์ ก.ย.67

กลุ่ม BTS ชิง ‘เวอร์ชวลแบงก์’ จับมือพันธมิตรยื่นขอไลเซนส์ ก.ย. นี้ จัดโครงสร้างกลุ่ม VGI-ROCTEC-RABBIT รับเงินสด 1.3 หมื่นล้านบาท ลุยธุรกิจ

ใกล้จะถึง “เดดไลน์” ที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดให้ “ผู้สนใจ” ยื่นขอใบอนุญาตธนาคารไร้สาขา หรือ Virtual Bank แล้ว นับตั้งแต่ ธปท. เปิดรับสมัคร 20 มี.ค. -19 ก.ย. 2567 หลังจากนั้นพิจารณาคัดเลือกในช่วง 19 ก.ย.2567-มิ.ย.2568 คาดประกาศผลในครึ่งแรกปี 2568 และคาดเปิดดำเนินการ Virtual Bank ในช่วงมิ.ย.2569

โดยทำให้เกิดแรงกระเพื่อมของกลุ่มธนาคารใหญ่ และบิ๊กคอร์ปอเรทที่ต่างออกมาประกาศความพร้อมเข้าสู่เป็นผู้ให้บริการ Virtual Bank อย่างคึกคัก สะท้อนผ่านมี “3 กลุ่มทุนใหญ่” ที่ออกตัวลงแข่งในสนาม Virtual Bank 

กลุ่มแรก บริษัท เอสซีบี เอกซ์ หรือ SCB ร่วมกับ KakaoBank ผู้นำด้านธนาคารดิจิทัลใหญ่ที่สุดในประเทศเกาหลีใต้

กลุ่มที่สอง กิจการร่วมค้า (Joint Venture) ประกอบด้วย 4 พันธมิตร ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB, บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR, บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC และบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF

กลุ่มที่สามแอสเซนด์ มันนี่ จำกัด ผู้ให้บริการอีวอลเล็ต ภายใต้ชื่อ “ทรูมันนี่” และพันธมิตร

ล่าสุดกลุ่มที่สี่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง หรือ BTS ที่ประกาศจับมือกับพันธมิตรยื่นขอไลเซนส์ Virtual Bank

สะท้อนผ่านตามที่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง หรือ BTS รายงานปรับโครงสร้างใหญ่ ด้วยการจากเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม RO 2,926 ล้านหุ้น ในอัตรา 4.5 หุ้นเดิม ต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคา 4.50 บาท ซึ่งจะมีการปิดสมุด (XR) 16 ส.ค.67 และทำการเสนอซื้อหุ้นแบบสมัครใจ (เทนเดอร์ ออฟเฟอร์) บริษัท ร็อคเทค โกลบอล หรือ ROCTEC ราคา 1 บาท และบริษัท แรบบิท โฮลดิ้งส์ หรือ RABBIT ราคา 0.60 บาท

รวมทั้งให้ บริษัท วีจีไอ หรือ VGI เพิ่มทุนเฉพาะเจาะจง (PP) 8,805 ล้านหุ้น ที่ราคา 1.50 บาท ระบุเสนอขายให้ “4 กองทุน” ประกอบด้วย

1.กองทุน CAI Optimum Fund VCC บริหารจัดการโดย Capital Asia Investments Ptd. Ltd. 2,900 ล้านหุ้น หรือ 14.50 %

2.กองทุน Si Suk Alley Limited บริหารจัดการโดย Argyle Street Management Limited 2,805 ล้านหุ้น หรือ 14.03 %

3.กองทุน Opus-Chartered Issuances S.A. บริหารจัดการโดย Agmoni Eyal, Bartelloni Andrea, Maier Daniel, Melizzi Nicola, Perin Paolo, Wenkel Tobias 2,200 ล้านหุ้น หรือ 11 %

4.กองทุน Asean Bounty ซึ่งอยู่ระหว่างจัดตั้ง บริหารจัดการโดย Finansia Investment Management 900 ล้านหุ้น หรือ 4.50 % รวมมูลค่า 13,167.64 ล้านบาท

โดยจะนำไปใช้รองรับการทำคำเสนอซื้อหุ้น ROCTEC และ RABBIT ที่คาดว่าจะใช้เงินทั้งหมด 14,870.60 ล้านบาท แต่คาดว่าคงไม่ได้ซื้อเต็มจำนวน ซึ่ง BTS จะลดสัดส่วนถือครอง VGI 34.23 % จากเดิม 61.1 %

“กวิน กาญจนพาสน์” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้ง หรือ BTS เปิดเผยกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การปรับโครงสร้างใหม่ในรอบนี้ ! ถือเป็นการเตรียมความพร้อม “ธุรกิจใหม่” ที่ VGI โฟกัสจากเม็ดเงินเพิ่มทุนได้กระแสเงินสดเข้ามาให้กับบริษัทประมาณ 13,000 กว่าล้านบาทคือ ธุรกิจโฆษณา ธุรกิจไฟแนนซ์ เซอร์วิส และธุรกิจเวอร์ชวลแบงก์ และยังลดความซับซ้อนในบริษัทย่อย

สำหรับ “ธุรกิจใหม่เวอร์ชวลแบงก์” เตรียมเข้าไปประมูลตามประกาศของ ธปท. เดือนก.ย.นี้ ซึ่งกลุ่มบีทีเอส มีธุรกิจที่ปล่อยสินเชื่ออยู่แล้วผ่าน RABBIT แต่ไม่มีความชำนาญด้านระบบธนาคารพาณิชย์ทำให้การจะเข้าร่วมประมูลต้องมีพันธมิตรในส่วนนี้เข้ามา ซึ่งได้มีคุยกับพันธมิตรที่มีศักยภาพสูงไว้แล้วแต่รายละเอียดยังต้องรออนุมัติจาก ธปท.

“เวอร์ชวลแบงก์ ยังพูดคุยรายละเอียดอะไรไม่ได้ต้องให้แบงก์ชาติอนุมัติก่อน การทำธุรกิจนี้ยังต้องรอการเข้าไปประมูลยังไม่ชัดเจนว่าจะสามารถดำเนินธุรกิจนี้ได้เลย แต่ตอนนี้มีเงินสดมารออยู่แล้วไม่ปฏิเสธ เพราะหลักธุรกิจวันนี้คือ แคชภายใต้ภาระหนี้ในตลาดตอนนี้ที่สูงมาก ซึ่งทางผู้ถือหุ้นรายใหม่ทั้ง 4 กองทุนที่สนใจซื้อ VGI บางกองทุนมีลงทุนในธุรกิจโฆษณาอยู่แล้ว และต้องการถือลงทุนระยะยาว”

ดังนั้น จึงปรับโครงสร้างในกลุ่มให้ชัดเจน และไม่ซับซ้อนรองรับไว้เพราะ VGI จะหมดสัญญาบริหารโฆษณากับ BTS ในอีก 5 ปีข้างหน้าแต่บริษัทมีเงินสด มีทีมบริหารที่ดีต้องเตรียมพร้อมว่าจะต่อสัญญาเดิมหรือโฟกัสธุรกิจด้านอื่น ส่วน BTS จะลดการถือหุ้น VGI และนำบริษัทย่อย 2 บริษัทอยู่ภายใต้ BTS แทน

โดย RABBIT เป็นอสังหาริมทรัพย์ แต่ราคาปรับตัวลดลงตามตลาดมากกว่า 50% ของมูลค่าซึ่งจะซื้อเพิ่มจะแตะ 50% จึงทำเทนเดอร์ไปเลย ส่วน ROCTEC (เดิม MACO) ทำธุรกิจโฆษณาภายใต้ VGI แต่ที่ผ่านมาทำธุรกิจสนับสนุนด้านซิสเต็มการวางระบบการสื่อสารในระบบขนส่งมวลชนให้กับบีทีเอส ดังนั้น ควรอยู่ภายใต้บีทีเอสเลยจะมีความชัดเจนมากกว่า

“มารุต อรรถไกวัลวที” รองประธานกรรมการ บริษัท วีจีไอ หรือ VGI เปิดเผยว่า บริษัทมีแผนลงทุน Virtual Bank บริษัทคาดว่าการเข้าลงทุนใน Virtual Bank จะเป็นการเข้าร่วมกับพันธมิตรรายอื่นๆ ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการเจรจาสัดส่วนการถือหุ้น บริษัทคาดว่าบริษัทจะไม่ได้เป็นแกนหลักในการเข้าร่วมกับพันธมิตรรายอื่น และจะถือหุ้นไม่เกิน 25% หนึ่งในข้อกำหนดสำคัญ ธปท. ในการยื่นขอใบอนุญาต Virtual Bank คือ ผู้ขออนุญาตต้องมีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาท และทุนจดทะเบียนซึ่งชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาท ระยะแรกการประกอบธุรกิจ รวมถึงมีเงินทุนเพียงพอเป็นเงินทุนสำรองในการบริหารงาน

ด้วย “จุดเด่น” ของบริษัท และพันธมิตรมีศักยภาพลงทุนในธุรกิจ Virtual Bank ด้วยบริษัทมีประสบการณ์ด้านการเงิน และบริการด้านดิจิทัลผ่าน Rabbit Card และ Rabbit Cash รวมถึงความสามารถในผสมผสานความสามารถทางด้านการเงินข้อมูล และเทคโนโลยีเข้าด้วยกันได้เป็นอย่างดี

โดยคาดการจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนครั้งนี้จะแล้วเสร็จในไตรมาส 4 ปี 2567 เงินเพิ่มทุนแบบ PP แบ่งสัดส่วนดังนี้ ไม่เกิน 7,500 ล้านบาท เข้าลงทุนพัฒนา และสนับสนุนเงินลงทุน Virtual Bank ไม่เกิน 5,000 ล้านบาท ใช้เพื่อสนับสนุนการเติบโตธุรกิจเดิมและบริษัทย่อย และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ ธุรกิจสื่อโฆษณาและความบันเทิง ธุรกิจบริการด้านดิจิทัล ธุรกิจการจัดจำหน่าย และการพัฒนาปรับปรุงระบบความบันเทิงในรถไฟฟ้า และสถานที่ต่างๆ

“กิจพณ ไพรไพศาลกิจ” ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในส่วนของ VGI ที่มีการปรับโครงสร้าง ซึ่ง VGI จะมีการเพิ่มทุน PP กับพาร์ตเนอร์เข้ามาถือหุ้น 4 ราย บนเป้าหมายที่ผู้บริหารมองคือจะใช้ VGI เข้าไปลงทุนในธุรกิจ Virtual Bank แต่ผู้ที่เข้ามาถือหุ้น PP ของ VGI ไม่ใช่พาร์ตเนอร์ธนาคารเป็นนักลงทุน และหลังจากที่มีการปรับโครงสร้างแล้วเสร็จจะมีการมุ่งหน้าไปที่ธุรกิจ Virtual Bank

ทั้งนี้ จากการปรับโครงสร้างทั้งหมดในครั้งนี้ เป็นการที่หน้าไปยังธุรกิจใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ธุรกิจขนส่ง เนื่องจากธุรกิจขนส่งในวันข้างหน้าจะมีโครงการรถไฟฟ้าให้บริหารหลายสายในอนาคต แต่สิ่งที่ยากคือ ผลตอบแทนจะไม่เท่ากับสัมปทานปัจจุบัน เพราะสัมปทานปัจจุบันที่ได้มานานแล้วเป็นสัญญาที่ BTS มีอัพไซด์จากผู้โดยสารหากมีผู้โดยสารมากก็จะทำให้มีกำไรมาก แต่สัมปทานในช่วงหลังจะเป็นสัญญาเดินรถ นั่นแปลว่า BTS จะได้แค่ค่าเดินรถ หากมีผู้โดยสารใช้น้อยก็ไม่เสี่ยง แต่หากมีผู้โดยสารใช้มากก็ไม่ได้กำไรเพิ่มเติม จึงดีไม่เท่าสัมปทานเดิม

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์  

กลุ่ม BTS ชิงเวอร์ชวลแบงก์ จับมือพันธมิตรยื่นขอไลเซนส์ ก.ย.67