’เฟด‘ นำทีมลดดอกเบี้ย จับตา 'แบงก์ชาติเอเชีย' ลดตาม สัปดาห์นี้!

’เฟด‘ นำทีมลดดอกเบี้ย จับตา 'แบงก์ชาติเอเชีย' ลดตาม สัปดาห์นี้!

‘เฟด’ นำทีมลดดอกเบี้ยวันพุธนี้ จับตานโยบายการเงิน 'แบงก์ชาติเอเชีย' ลดตามสัปดาห์นี้! ต่างชาติมองธปท.รักษาเสถียรภาพทางการเงินได้นานสุด คาดนักลงทุนดึงเงินทุนไหลเข้า 'ตลาดเงิน-ตลาดทุน'

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณพร้อมปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในวันพุธนี้ มีแนวโน้มจะกระตุ้นให้ธนาคารกลางในภูมิภาค เช่น อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ และอินเดีย พิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยตาม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ

การลดดอกเบี้ยของเฟด ถือเป็นสัญญาณบวกสำหรับตลาดการเงินในเอเชีย นักลงทุนต่างให้ความสนใจและเทเงินลงทุนในตราสารหนี้ หุ้นของบริษัทในภูมิภาค ส่งผลให้ค่าเงินของประเทศต่างๆ ในเอเชียแข็งค่าขึ้น 

ตลาดจับแบงก์ชาติ ‘เอเชีย’

สัปดาห์นี้จะเป็นสัปดาห์ที่สำคัญสำหรับตลาดการเงินทั่วโลก เนื่องจากแบงก์ชาติหลายประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีกำหนดการประชุมเพื่อพิจารณานโยบายการเงิน โดยคาดว่าแบงก์ชาติจีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น จะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยไว้ในระดับปัจจุบัน 

’เฟด‘ นำทีมลดดอกเบี้ย จับตา \'แบงก์ชาติเอเชีย\' ลดตาม สัปดาห์นี้!

  • อินโดนีเซีย

แบงก์ชาติอินโดนีเซียอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ขณะที่แบงก์ชาติออสเตรเลียจะประกาศนโยบายในวันที่ 24 ก.ย. โดยตลาดคาดการณ์ว่าน่าจะคงดอกเบี้ยเช่นเดิม

  • อินเดียและฟิลิปปินส์

แบงก์ชาติอินเดียและฟิลิปปินส์  ต้องระมัดระวังในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจากแรงกดดันด้านเงิน โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะมีการปรับลดเพียงเล็กน้อยครั้งเดียว ในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ โดยคาดว่าจะลดลง 0.25%

เอลี เรโมโลนา ผู้ว่าการธนาคารกลางฟิลิปปินส์ ได้ให้สัญญาณว่าอาจมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในเดือนต.ค.หรือธ.ค.ซึ่งสอดคล้องกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์

  • เกาหลีใต้

แบงก์ชาติเกาหลีใต้ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยครั้งเดียวในช่วงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและราคาบ้านที่สูงขึ้น สะท้อนตลาดอสังหาริมทรัพย์กำลังชะลอตัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงโซล

  • ไต้หวัน 

จากปัญหาในตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่คล้ายกับเกาหลีใต้ ทำให้ธนาคารกลางไต้หวันต้องระมัดระวังในการตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยเช่นกัน

  • ไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อาจเป็นหนึ่งในสถาบันที่สามารถรักษาเสถียรภาพทางการเงินได้นานที่สุด เนื่องจากคาดว่า ธปท. จะยังคงยึดมั่นในนโยบายการเงินที่ระมัดระวัง และอาจต่อต้านแรงกดดันจากรัฐบาลที่ต้องการลดการใช้จ่ายอย่างรวดเร็วในช่วงปีหน้า

 

อย่างไรก็ตาม หากเฟดตัดสินใจลดดอกเบี้ย และส่งสัญญาณว่าจะลดดอกเบี้ยต่อไปในอนาคต นั่นจะเป็นเหมือนการเปิดทางให้นักลงทุนทั่วโลกหันมาสนใจตลาดเอเชียมากขึ้น ไทมูร์ แบ็ก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ DBS Group Holdings กล่าว 

"เพราะเมื่อดอกเบี้ยในสหรัฐลดลง เงินทุนก็จะไหลออกจากสหรัฐไปยังประเทศที่มีอัตราผลตอบแทนสูงขึ้น เช่น ประเทศในเอเชีย ทำให้นักลงทุนต่างมองว่าเศรษฐกิจเอเชียกำลังจะเข้าสู่ช่วงขาขึ้น และพร้อมที่จะลงทุนมากขึ้น"

อย่างไรก็ตาม ไบรอัน แทน นักเศรษฐศาสตร์จากบาร์เคลย์ส เตือนถึงความคาดหวังที่แบงก์ชาติรอโอกาสในการลดดอกเบี้ย เพราะสถานการณ์เศรษฐกิจตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นที่ต้องเร่งผ่อนคลายนโยบายการเงินขนาดนั้น และผู้กำหนดนโยบายก็ไม่จำเป็นต้องรีบปรับเปลี่ยนอะไรในตอนนี้

2 ปัจจัยพลิกสถานการณ์

คูน โก จากธนาคารออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มองว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา แบงก์ชาติแต่ละประเทศมีความอิสระในการตัดสินใจนโยบายการเงินมากขึ้น  หลังเฟดได้ขึ้นดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว ทำให้แบงก์ชาติในประเทศต่างๆ ต้องให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพของสกุลเงินเป็นหลัก

1.ภาวะเศรษฐกิจถดถอย 

หากสหรัฐเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้น เนื่องจากนักลงทุนทั่วโลกมักหันมาลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เช่น ดอลลาร์ ทำให้เงินสกุลอื่นๆ อ่อนค่าลง

2.เลือกตั้งสหรัฐ

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ ส่งสัญญาณถึงนโยบายทางเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะนโยบายการค้า อาจนำไปสู่งสงครามการค้าที่เป็นอุปสรรคทางการค้ามากขึ้น

อ้างอิง Bloomberg