‘เศรษฐพุฒิ’ ย้ำ กนง.ไม่จำเป็นต้อง ‘ลดดอกเบี้ย’ ตามเฟด ยึด Outlook Dependent
ผู้ว่าฯ ธปท.ชี้เฟดลดดอกเบี้ยแรง ถือเป็นระดับที่ตลาดคาดหวังอยู่แล้ว ย้ำเฟดลดดอกเบี้ย ไม่ใช่ว่า กนง.ต้องลดตาม ย้ำดูจาก 3ปัจจัยหลักตาม Outlook Dependent ชี้ภาพเศรษฐกิจ - เงินเฟ้อยังเป็นไปตามคาด ส่วนด้านเสถียรภาพรับความเสี่ยงเริ่มขยายวงกว้างขึ้น
นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวในงาน BOT SYMPOSIUM 2024 ภายใต้งาน The Economics of Balancing Today and Tomorrow ถึงกรณีที่ล่าสุดธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงที่ระดับ 0.50%
โดยมองว่า การลดดอกเบี้ยลงที่ระดับ 0.50% ถือว่าเป็นระดับที่ไม่น้อย แต่ก็เป็นระดับที่ตลาดรับรู้ และคาดการณ์ไปแล้วระดับหนึ่ง
ทั้งนี้หากถามว่า การลดดอกเบี้ยของเฟด มีผลต่อกดดันต่อการลดดอกเบี้ยของ กนง.หรือไม่ ผู้ว่าฯ ธปท.กล่าวว่า เฟดลดดอกเบี้ย หรือไม่ลดดอกเบี้ย แรงกดดันต่อ กนง.มีอยู่แล้ว เพราะถือเป็นตัวแปรหนึ่งที่ กนง.ต้องนำมาพิจารณาในการดำเนินนโยบายการเงิน
“ต่อให้เฟดลดดอกเบี้ยหรือไม่ลด แรงกดดันต่อ กนง.ก็มีอยู่แล้ว แต่การที่เฟดลดดอกเบี้ย ก็ไม่ใช่ว่าเราต้องลด แต่การที่เฟดลดดอกเบี้ยกระทบต่อหลายตัวแปรต่างๆ ที่เราต้องคำนึงถึงในการพิจารณาดอกเบี้ยมากขึ้น"
สำหรับการดำเนินนโยบายการเงินของไทย กนง.ยังคงพิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักที่เป็น Outlook Dependent ทั้งจาก แนวโน้มเศรษฐกิจ ว่าเติบโตเข้าสู่ศักยภาพหรือไม่ เงินเฟ้อเข้ากรอบหรือไม่ และตัวที่สามคือ เสถียรภาพด้านการเงิน ที่เป็นตัวหลักที่ กนง.ติดตามมากขึ้น
ซึ่งหากดูจาก 3 ปัจจัย วันนี้ยังเห็นภาพอะไรที่ต่างกับที่ประเมินไว้ โดยเฉพาะภาพเศรษฐกิจ และเงินเฟ้อที่ยังไม่ต่างกับที่มองไว้ แต่ตัวที่ติดตามเป็นพิเศษคือ เสถียรภาพทางการเงิน ด้าน credit risk ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้การปล่อยสินเชื่อชะลอตัวและเป็นวงกว้างมากขึ้น
ทั้งนี้มองว่า การที่ กนง.พิจารณาจาก Outlook Dependent เป็นการตัดสินใจในกรอบการคิดที่เหมาะสม และถูกต้องแล้ว เพราะหากดูจาก Data Dependent มาเป็นการตัดสินใจในการดำเนินนโยบายการเงิน ตามข้อมูลที่เข้ามาไว หรือจากการคาดการณ์ของตลาด ข้อมูลต่างๆ จะเปลี่ยนเร็วมาก และมีความไม่แน่นอนผันผวนสูง
ดังนั้นเราไม่ต้องการให้การคาดการณ์ของการดำเนินนโยบายการเงินไปซ้ำเติมความผันผวน ดังนั้นการใช้ข้อมูลที่เข้ามาเร็ว หรือพิจารณาจาก Data Dependent จึงไม่เหมาะสม กนง.จึงใช้หลัก Outlook Dependent เป็นหลักในการพิจารณา
ทั้งนี้จากการที่มองว่า การลดดอกเบี้ยแล้วจะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวมากขึ้น “เศรษฐพุฒิ” ตอบว่า หนี้ครัวเรือนปัจจุบันมีสองด้าน หนี้ใหม่ และหนี้เก่า หากลดดอกเบี้ยแล้ว ทำให้ภาระหนี้ลดลง บนภาระหนี้เก่า ที่ทำให้ภาระดอกเบี้ยลดลง แต่อีกด้านที่ต้องพิจารณาคือ ด้านหนี้ใหม่ ที่หากลดดอกเบี้ยแล้ว จะทำให้สินเชื่อโต หนี้ในภาพรวมจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
ดังนั้นต้องช่างน้ำหนักทั้งสองด้าน เพราะสิ่งที่ ธปท.ไม่อยากเห็นคือ หนี้ต่อจีดีพีโตพุ่งสูงต่อเนื่องเพราะด้านเสถียรภาพคงไม่เหมาะ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากที่จะไปเหยียบเบรกที่จะลงเร็วลงแรงเกินไป เพราะเรารู้ว่าการทำแบบนี้จะมีผลต่อเศรษฐกิจ
“ต้องถามว่า การลดดอกเบี้ยตอนนี้กระตุ้นจีดีพีแค่ไหน การลดดอกเบี้ยมีผลทำให้ภาระหนี้ลดลง ไม่ได้เห็นผลเต็มที่ เพราะเรามีหนี้ไม่น้อยที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยลอยตัว แต่เป็นดอกเบี้ยฟิกซ์เรต พวกนี้ภาระหนี้ต่อเดือนไม่ได้ลดลง ดังนั้นการที่ไปคาดหวังว่าการลดดอกเบี้ยแล้วภาระหนี้จะลดลง ก็ไม่ใช่”
“เศรษฐพุฒิ”กล่าวต่อว่า กรณีที่เฟดลดดอกเบี้ย ผลที่มีผลต่อตลาดเงิน ที่เห็นคือ การอ่อนค่าของดอลลาร์ ที่อ่อนค่าไปพอสมควร ทำให้เงินบาท และค่าเงินในภูมิภาคนแข็งค่ามากขึ้น
แต่ปัจจัยที่ซ้ำเติม ค่าเงินบาทให้แข็งค่ากว่าค่าเงินในภูมิภาค มาจากราคาทองคำในตลาดโลก ที่ทำระดับสูงสุดหรือออลล์ไทม์ไฮ ซึ่งส่วนใหญ่ค่าเงินบาท เป็นสกุลเงินที่เคลื่อนไหวกับทองคำมากกว่าค่าเงินภูมิภาค ทำให้เงินบาทแข็งค่ากว่าหลายประเทศ
ทั้งนี้ สิ่งที่ กนง.ไม่อยากเห็นคือ การผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงมาก และยอมรับว่า ช่วงหลัง ค่าเงินบาทแข็งค่าค่อนข้างเร็ว โดยเฉพาะช่วงหลังตามการคาดการณ์การลดดอกเบี้ยของเฟด ทำให้ตั้งแต่ต้นปี จนถึงปัจจุบันเงินบาทแข็งค่าขึ้นแล้ว 3.1%
ซึ่งปัจจัยที่ต้องติดตามดูคือ สาเหตุของการแข็งค่า หากมาจากเชิงปัจจัยโครงสร้าง มาจากปัจจัยเชิงพื้นฐาน หรือกรณีนี้ที่เงินบาทแข็งค่ามาจากการที่ดอลลาร์อ่อนค่า จากการที่เฟดลดดอกเบี้ย ก็ถือว่าเป็นการเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดแต่สิ่งที่ไม่อยากเห็นคือ การแข็งค่าขึ้นเร็ว และไม่ได้มาจากปัจจัยเชิงพื้นฐาน จากเงินร้อน(ฮอตมันนี่) หรือการเข้ามาเก็งกำไรระยะสั้น ที่ทำให้เกิดความผันผวนเกิดขึ้น ซึ่งไม่สะท้อนปัจจัยพื้นฐาน พวกนี้จะเซนซิทีฟมากกว่า แต่ปัจจุบันยังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าว แต่ก็ต้องติดตามใกล้ชิด
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์