นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง กนง.ไม่ลดดอกเบี้ยเร็ว ลุ้นปลายปีลดครั้งแรก!

นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง  กนง.ไม่ลดดอกเบี้ยเร็ว ลุ้นปลายปีลดครั้งแรก!

เคเคพี” ชี้ กนง.เผชิญแรงกดดันลดดอกเบี้ยมากขึ้น “ทีทีบี” ระบุ เงินบาทแข็งค่าเป็นจุดเปลี่ยนเร่งไทยลดดอกเบี้ย หากค่าเงินพลิกแข็งค่าสูงขึ้น “ซีไอเอ็มบีไทย” คาดประชุม กนง.เดือนหน้ายังไม่ลดดอกเบี้ย

การดำเนินนโยบายการเงินของไทย ถูกจับตามากขึ้น หลัง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงลง 0.5% เมื่อวันที่ 18 ก.ย.2567 

กนง.เผชิญแรงกดดันลดดอกเบี้ยมากขึ้น

นายพิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) กล่าวว่า การตัดสินใจลดดอกเบี้ยของเฟดสร้างแรงกดดันต่อนโยบายการเงินของหลายประเทศเช่นเดียวกับไทยที่อาจเผชิญแรงกดดันหนักขึ้น

โดยล่าสุดอินโดนีเซียลดดอกเบี้ยลง 0.25% ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนมองว่าการดำเนินนโยบายการเงินของไทยอาจตามอัตราดอกเบี้ยในภูมิภาคหรือไม่

ทั้งนี้หากสถานการณ์ข้างหน้า โดยเฉพาะการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้นต่อเนื่อง ธปท.อาจเผชิญแรงกดดันหนักขึ้นว่าอาจเป็นสาเหตุให้เงินบาทแข็งค่า

 

แต่ในมุมเกียรตินาคินภัทรมองว่า กนง.อาจไม่เร่งลดดอกเบี้ยตามเฟดหรือประเทศในภูมิภาค เพราะส่วนใหญ่ กนง.ดูปัจจัยในประเทศเป็นหลัก

โดยเฉพาะจากแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจไทยที่เห็นต่อเนื่อง โดยเฉพาะไตรมาส 4 คาดว่ามีโอกาสเห็นการโตของจีดีพี 4% จากการเร่งกระตุ้นภาครัฐ ดังนั้นความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีน้อยลง

ดังนั้นการลดดอกเบี้ยอาจถูกดีเลย์ได้จากเดิมที่มองว่า กนง.มีโอกาสลดดอกเบี้ยในการประชุมครั้งสุดท้ายปีนี้ในเดือน ธ.ค.ที่ 0.25% หากเศรษฐกิจเติบโตต่อเนื่อง

เงินบาทแข็งค่าเป็นจุดเปลี่ยนเร่งลดดอกเบี้ย 

นายนริศ สถาผลเดชา ประธานกลุ่มงาน Data และ Analytics (Chief Data and Analytics Group) และผู้บริหารศูนย์วิจัยทีทีบี กล่าวว่า จากการปรับอัตราดอกเบี้ยของเฟดและหลายประเทศสะท้อนว่า อัตราดอกเบี้ยโลกอยู่ทิศทางขาลงหรือวัฏจักรขาลงแล้ว แต่อัตราดอกเบี้ยไทยถือว่าต่ำกว่าภูมิภาค และเงินเฟ้อไทยอยู่ระดับต่ำหากเทียบภูมิภาค แต่มีความเสี่ยงว่าเงินเฟ้ออาจเร่งตัวระยะข้างหน้า หากเศรษฐกิจหรือมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปี

ทั้งนี้ กนง.เผชิญแรงกดดันการลดดอกเบี้ยมากขึ้น จากอัตราแลกเปลี่ยนหากอยู่ทิศทางแข็งค่าต่อเนื่อง หรือกลับไปแตะ 32 บาทต่อดอลลาร์ หรือต่ำกว่านั้น ที่อาจเป็นตัวที่ กนง.อาจต้องทบทวนการลดดอกเบี้ย อีกทั้งอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทยหักเงินเฟ้ออยู่ที่ 2% ถือว่าสูงหากเทียบภูมิภาค

“มองว่า กนง.ไม่รีบลดดอกเบี้ยถึง ธ.ค.เลย เพราะเชื่อว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยผ่านไปแล้ว ยกเว้นเงินบาทแข็งค่าเกินไปจนกระทบส่งออกมากจึงจะเป็นประเด็นทำให้ กนง.เร่งลดดอกเบี้ย”

จับตารัฐหั่นFIDFเอื้อกนง.ไม่ต้องลดดอกเบี้ย

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย มองว่าแม้เฟดจะลดดอกเบี้ยแรง แต่เชื่อว่า กนง.จะไม่เร่งลดดอกเบี้ย แม้มีปัจจัยให้ลดดอกเบี้ยมากขึ้น จากสถานการณ์น้ำท่วมที่กระทบต่อเศรษฐกิจระดับหนึ่ง และเชื่อว่าการแจกเงินก็อาจจะไม่เพียงพอ หากดูทิศทางเศรษฐกิจไทยข้างหน้า ยังเผชิญกับความเสี่ยงขาลงมากขึ้น

ทั้งนี้ 3 ปัจจัยที่มองว่า กนง.อาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยในรอบการประชุมครั้งหน้า คือ กนง.รอสัญญาณเศรษฐกิจไทยที่ชัดเจน โดยเฉพาะตัวเลขไตรมาส 3 ถัดมา คือ การติดตามสถานการณ์น้ำท่วมที่มีผลต่อเศรษฐกิจ และสุดท้ายรอดูนโยบายเฟดในครั้งถัดไป ดังนั้นมองว่ากนง.จะลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.หลังสถานการณ์ชัดเจนขึ้น

อย่างไรก็ตาม แต่หากกระทรวงการคลัง หรือภาครัฐ มีการออกนโยบายโดยสั่งให้ลดเงินนำส่งเข้ากองทุนฟื้นฟูสถาบันการเงินหรือ FIDF เหลือ 0.23%จาก 0.46% ส่วนนี้มองว่า กนง.อาจไม่จำเป็นลดดอกเบี้ยในเดือน ธ.ค.นี้