บิ๊กแบงก์โลกเสียงแตก 'เฟด' ลดดอกเบี้ย 'รอบหน้า'

บิ๊กแบงก์โลกเสียงแตก 'เฟด' ลดดอกเบี้ย 'รอบหน้า'

บิ๊กแบงก์ในวอลสตรีทเสียงแตกเรื่องทิศทาง ‘เฟดลดดอกเบี้ยหลังจากนี้’ JPMorgan เชื่อรอบหน้าก็ยัง 0.5% ด้านโกลด์แมน แซคส์เชื่อ 0.25% ทุกครั้งไปจนถึงมิ.ย. 2568

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า บรรดาธนาคารยักษ์ใหญ่ในวอลสตรีทกำลัง "เสียงแตก" ต่อมุมมองความเห็นว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยต่อไปหลังจากนี้ "เร็ว" และ "แรง" แค่ไหน ซึ่งกำลังทำให้เกิดความกังวลขึ้นในตลาดการเงินจนกว่าทิศทางที่ชัดเจนขึ้น

เพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากที่เฟดทำเซอร์ไพรซ์ประกาศใช้ "ยาแรง" ลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.50% เมื่อวันพุธที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของธนาคารโกลด์แมนแซคส์ กรุ๊ป อิงค์ (Goldman Sachs) ก็ปรับคาดการณ์ใหม่ตามมาทันทีว่าหลังจากนี้ เฟดจะปรับลดดอกเบี้ยลงในอัตรา 0.25% "ทุกครั้ง" ของการประชุมตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567 ไปจนถึงเดือนมิ.ย. 2568

ในทางกลับกัน ธนาคารเจพีมอร์แกน เชส แอนด์ โค (JPMorgan Chase) ซึ่งคาดการณ์การลดดอกเบี้ยครั้งที่ผ่านมาถูกต้องเช่นกัน กับมองว่าการลดดอกเบี้ยครั้งต่อไปในการประชุมวันที่ 6-7 พ.ย. นี้ เฟดจะยังคงใช้ยาแรงต่อลดดอกเบี้ย 0.50% "อีกครั้ง" แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่ตัวเลขชี้วัดของตลาดแรงงานสหรัฐในขณะนั้นด้วย

ส่วนในตลาดนั้นบรรดานักค้าต่างให้น้ำหนักมากที่สุดกับการลดดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งที่เหลือของปีนี้ประมาณ 0.70% และอีกเกือบ 2.00% ภายในปีหน้าจนถึงเดือนก.ย. 2568 หรือ "สูงกว่า" ที่รายงานคาดการณ์ดอกเบี้ยระยะยาวของสหรัฐ หรือ Dot Plot บ่งชี้เอาไว่ว่า อาจจะมีการลดดอกเบี้ยภายในปีนี้อีกรวม 0.5%

สำหรับมุมมองของ 9 แบงก์ใหญ่ในวอลสตรีท มีดังนี้ 

แบงก์ ออฟ อเมริกา (Bank of America)

เฟด "จะถูกกดดันให้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยมากขึ้น" โดยจะปรับลดอีก 0.75% ในไตรมาส 4 ปีนี้ และอีก 1.25% ในปีหน้า

บาเคลย์ส (Barclays)

คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ในเดือนพ.ย. และเดือนธ.ค. ตามด้วยการปรับลดดอกเบี้ยอีก 3 ครั้งในปี 2568 

แต่เมื่อพิจารณาจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.50% เมื่อวันพุธที่ผ่านมาซึ่งบาร์เคลย์สไม่ได้คาดคิดไว้ ดังนั้นจึงคาดว่าอัตราดอกเบี้ยเป้าหมาย ณ สิ้นปี 2568 จะลดลงอยู่ที่ระดับ 3.50 - 3.75%

ซิตี้กรุ๊ป (Citigroup)

ยังคงคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะลดลงอีก 0.75% ในปีนี้ โดยจะปรับลด 0.50% ในเดือนพ.ย. และอีก 0.25% ในเดือนธ.ค. 

"เฟดยังสามารถรักษาสมดุลความเสี่ยงของการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้เร็วขึ้นได้" และซิตี้กรุ๊ปคาดว่าในปีหน้า 2568 จะมีการทยอยลดดอกเบี้ยครั้งละประมาณ 0.25% ต่อเนื่องจนอัตราดอกเบี้ยอยู่ที่ระดับ 3.00 - 3.25%

ดอยช์แบงก์ (Deutsche Bank)

เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งละ 0.25% ในการประชุม "ทุกครั้ง" จนถึงเดือนมี.ค.ม 2568 จากนั้นจึงจะเปลี่ยนเป็นการลดดอกเบี้ยลง 0.25% รายไตรมาส ซึ่งจะทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ระดับ 3.25 - 3.50% ภายในสิ้นปีหน้า และได้ย้ำถึงสิ่งที่เฟดระบุเมื่อวันพุธที่ผ่านมาว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นการปรับทิศทางใหม่ของนโยบายการเงิน แต่ไม่ใช่จุดเริ่มต้นของวัฏจักการลดดอกเบี้ยขนานใหญ่หลายรอบ

โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs)

เฟดจะตัดสินใจลดดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นระยะเวลานานขึ้น โดยจะลด 0.25% ตั้งแต่เดือน พ.ย. ปีนี้ ไปจนถึง มิ.ย. ปีหน้า ทำให้อัตราดอกเบี้ยลงมาอยู่ที่ระดับ 3.25 - 3.50% ส่วนการที่เฟดจะลดดอกเบี้ย 0.50% ในเดือน พ.ย.หรือไม่นั้น ยังเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองและต้องดูจากรายงานการจ้างงาน 2 เดือนถัดไปจากนี้

ก่อนหน้านี้ โกลด์แมน แซคส์คาดการณ์ว่าจะมีการลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุม 2 ครั้งสุดท้ายของปี 2567 และจะดำเนินการทุกไตรมาสในปี 2567 

เจพีมอร์แกน (JPMorgan)

เจพีมอร์แกนคาดการณ์ได้ถูกต้องว่าเฟดจะปรับดอกเบี้ยลงครึ่งเปอร์เซนต์ในสัปดาห์นี้ และยังคงยึดมั่นกับมุมมองเดิมที่จะลดอีก 0.50% ในเดือนพ.ย. แต่ทั้งนี้ยังต้องขึ้นอยู่กับว่าตลาดแรงงานจะอ่อนแรงต่อไปหรือไม่ อย่างไร 

มอร์แกน สแตนลีย์ (Morgan Stanley)

คาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% "อย่างต่อเนื่อง" จนถึงกลางปี ​​2568 โดยจะลด 2 ครั้งในปีนี้ และ 4 ครั้งในช่วงครึ่งแรกของปีหน้า

ทีดี ซีเคียวริตีส์ (TD Securities)

ยังคงคาดการณ์ว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมอีก 2 ครั้งในปีนี้ และจะลดในอัตราดังกล่าวในการประชุมทุกครั้งต่อเนื่องตลอดทั้งปี 2568

เวลส์ ฟาร์โก (Wells Fargo)

"วัฏจักรการผ่อนคลายนโยบายการเงินในปี 2567 เริ่มต้นด้วยความไม่แน่นอนของตลาดครั้งประวัติศาสตร์" นักยุทธศาสตร์ของเวลส์ ฟาร์โกระบุ

ธนาคารคาดการณ์ว่าในปีแรกของวัฎจักรการลดดอกเบี้ย ในกรณีหากเศรษฐกิจสหรัฐเลวร้ายเข้าขั้น Hard landing เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงมากถึง 3.5% แต่ถ้าไม่แย่มากเป็นเพียง Soft landing ก็อาจลดดอกเบี้ยลง 1.5% และย้ำว่าเฟดยังมีช่องทางในการผ่อนคลายนโยบายการเงินอีกมาก