เงินบาทช่วงเช้าวันนี้ แข็งค่าสุดรอบ 2ปีครึ่ง ตามเงินหยวน-ราคาทองพุ่ง
”เงินบาท“ช่วงเช้าวันนี้ แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ2ปีครึ่ง ที่ 32.563 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนกลับมาเคลื่อนไหวระดับ 32.62-32.64 บาทต่อดอลลาร์ สอดคล้องกับสกุลเงินอื่นในภูมิภาค ตามเงินหยวนและราคาทองพุ่งต่อ ดอลลาร์กดดันหลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐออกมาแย่ พร้อมจับตาส่งออกไทย
ความเคลื่อนไหว"เงินบาท"ช่วงเช้าวันนี้ (25 ก.ย.67) แตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ2ปีครึ่ง ( 30 เดือน) ที่ 32.563 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะกลับมาปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.62-32.64 บาทต่อดอลลาร์ นับเป็นการ แข็งค่าต่อเนื่องจากระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.86 บาทต่อดอลลาร์
นางสาวกาญจนา โชคไพศาลศิลป์ ผู้บริหารงานวิจัย บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า เงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค นำโดยเงินหยวนในตลาด Offshore และการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก
ขณะที่ เงินดอลลาร์ฯ ยังมีปัจจัยลบจากตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาด (ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวลงมาที่ 98.7 ในเดือนก.ย. ต่ำกว่าที่ตลาดคาดที่ 104 และต่ำกว่าระดับ 105.6 ในเดือนส.ค.)
นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ฯ ยังขาดแรงหนุน ท่ามกลางกระแสการคาดการณ์ของตลาดว่า ยังมีความเป็นไปได้ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในขนาดที่มากกว่า 25 basis points ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป
สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ ประเมินเบื้องต้นไว้ที่ 32.50-32.70 บาทต่อดอลลาร์ และในระยะสั้น เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไปทดสอบแนว 32.50 และ 32.10 บาทต่อดอลลาร์ฯตามลำดับ
ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ตัวเลขการส่งออกของไทยเดือนส.ค. ทิศทางเงินทุนต่างชาติ สถานการณ์สกุลเงินในเอเชียและราคาทองคำในตลาดโลก และตัวเลขยอดขายบ้านใหม่เดือนส.ค. ของสหรัฐฯ
นายปิยะศักดิ์ มานะสันต์ หัวหน้านักวิจัยเศรษฐกิจ ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.อินโนเวสท์ เอกซ์ กล่าวว่า หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงในทิศทางนโยบายการเงินอาจเป็นไปได้ที่ค่าเงินบาทจะแข็งค่าในระดับเดียวกับไตรมาส 3 (ที่ประมาณ 12%) ซึ่งจะทำให้ค่าเงินบาทต่อดอลลาร์แข็งค่าขึ้นสู่ระดับต่ำกว่า 30 บาท
จะทำให้การส่งออกรูปเงินบาทหดตัวรุนแรงมากกว่า -15% ในช่วง 5 เดือนหลัง และหดตัวมากกว่า -1.0% ทั้งปีนี้ แม้ว่าการส่งออกรูปเงินดอลลาร์จะไม่หดตัวก็ตาม
แต่หากมีการลดดอกเบี้ยในการประชุมกนง. 16 ต.ค. และ 18 ธ.ค. แล้ว ค่าเงินบาท ณ สิ้นปี อาจไปอยู่ที่ระดับ 35.5 บาท ซึ่งจะทำให้ค่าเฉลี่ยเงินบาททั้งปีนี้อยู่ที่ 36 บาทต่อดอลลาร์ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกหลายฝ่ายเห็นว่าเหมาะสมได้
แต่อย่างไรก็ตาม สมมติฐานหลักในปีนี้ จากอัตราดอกเบี้ยเฟด Fund rate ณ สิ้นปีนี้จะอยู่ที่ 4.4% แบงก์ชาติ มีโอกาสลดดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีนี้จำนวน 2 ครั้ง มาอยู่ที่ 2.00% จากปัจจุบันที่ 2.50% เพื่อสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจ และช่วยลดการแข็งค่าของเงินบาทด้วย กลับไปอ่อนค่า เฉลี่ยที่ 36 บาท