การเปลี่ยนแปลงของเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร

พันธบัตรอายุ 3-10 ปี มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าตราสารอายุ 2 ปีเช่นกัน เนื่องจากพันธบัตรอายุ 2 ปีค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของ Fed funds rate ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลง ดังนั้นเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจึงจะค่อยๆปรับตัวจาก Inverted Yield Curve มาสู่ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มี่ความชันเป็นบวกตลอดทั้งเส้นตามปกติ

เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ เปลี่ยนแปลงอย่างไร หลัง FED เริ่มลดดอกเบี้ย

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา อัตราผลตอบแทนพันธบัตรได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วทั้งตลาด เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลจากราคาน้ำมันและราคาสินค้า Commodity ที่เพิ่มขึ้นจากสงครามในยูเครน โดยผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะสั้นปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าพันธบัตรระยะยาว หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในปี 2561 ทำให้ส่วนต่างของผลตอบแทนพันธบัตรระยะสั้นและระยะยาวนั้นแคบลง (Flattening) และเริ่มเข้าสู่ภาวะ Inverted (คือการที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุสั้นสูงกว่าพันธบัตรระยะยาว) ตั้งแต่ปี 2565 ซึ่งเป็นการบ่งชี้ถึงภาวะเศรษฐกิจถดถอยอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต

หลังจากที่เศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อ และการจ้างงานในสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงอย่างชัดเจนในปีนี้ ส่งผลให้เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐที่เคยเป็น Inverted Yield Curve เริ่มปรับกลับเข้าสู่สภาวะปกติ คือ ปรับกลับเข้ามาเป็นบวกอีกครั้ง โดยที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ 10 ปี เริ่มปรับสูงขึ้นกว่าพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ 2 ปี ซึ่งสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นถือว่าเป็นกลไกทางการเงินที่น่าสนใจ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการลงทุนในตราสารหนี้

ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตได้ดีและอัตราดอกเบี้ยคงที่ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจะมีลักษณะที่มีความชันเป็นบวก ซึ่งสามารถอธิบายได้ด้วยความเสี่ยงของการลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวที่แตกต่างกัน เมื่อนักลงทุนมีมุมมองว่าถ้าอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะคงที่ในระยะข้างหน้า อัตราผลตอบแทนที่คาดหวังในการลงทุนสำหรับตราสารหนี้ระยะสั้นและระยะยาวควรจะอยู่ในระดับที่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม การลงทุนในระยะยาวจะเผชิญกับความเสี่ยงที่มากกว่า ทั้งจากความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อและความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ที่อาจไม่สามารถใช้เงินที่ลงทุนได้ในระยะยาว รวมทั้ง ความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้นกับผู้กู้หรือสภาพเศรษฐกิจในระยะข้างหน้าที่มีความผันผวน ดังนั้น การลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาวจึงคาดหวังส่วนเพิ่มของอัตราผลตอบแทนตามอายุของตราสาร (Term Premium) เพิ่มเติมจากการลงทุนตราสารหนี้ระยะสั้น จึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาวอยู่สูงกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น และ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจึงมีความชันเป็นบวก 

โดยในปัจจุบัน เมื่อธนาคารกลางสหรัฐฯ เริ่มมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายจึงส่งผลให้อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะสั้นปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ อัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ระยะยาวได้มีการสะท้อนภาพของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายไปแล้ว จึงมีการปรับตัวลดลงที่น้อยกว่า เมื่อรวมกับ Term Premium แล้วจึงค่อยๆปรับตัวจากระดับที่น้อยกว่าตราสารหนี้ระยะสั้นมาสู่ระดับใกล้เคียงกับตราสารหนี้ระยะสั้น 

จากมุมมองที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะทยอยลดดอกเบี้ยโดยเป็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบ Data-Dependent ส่งผลให้ตลาดการเงินยังมีความเสี่ยงที่จะเผชิญความผันผวน หากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ไม่เป็นไปตามที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประเมินไว้จนกระทบกับการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้ อย่างไรก็ดี สำหรับพันธบัตรสหรัฐฯ ระยะยาว ก็ยังมีความน่าสนใจอยู่ โดยอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ระยะยาวมีแนวโน้มทรงตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าตราสารหนี้ระยะสั้น จากปริมาณอุปทานที่เพิ่มขึ้นจากการใช้จ่ายภาครัฐ และการเพิ่มหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ โดยปัจจุบัน อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอายุมากกว่า 10 ปี ได้เริ่มปรับตัวอยู่ในระดับที่สูงกว่าพันธบัตรอายุ 2 ปีแล้ว ขณะที่ พันธบัตรอายุ 3-10 ปี มีแนวโน้มที่จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าตราสารอายุ 2 ปีเช่นกัน เนื่องจากพันธบัตรอายุ 2 ปีค่อนข้างอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงของ Fed funds rate ซึ่งมีแนวโน้มปรับลดลง ดังนั้นเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรจึงจะค่อยๆปรับตัวจาก Inverted Yield Curve มาสู่ เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรที่มี่ความชันเป็นบวกตลอดทั้งเส้นตามปกติ