ลาวตั้ง ‘ธนาคารทองคำ’ แก้วิกฤติเงินกีบ มั่นใจดันจีดีพีโต 15% ต่อปี
"พีทีแอล โฮลดิงส์" จับมือกับ "กระทรวงการคลังลาว" เปิดตัวธนาคารทองคำ แห่งแรกในอาเซียน ณ นครเวียงจันทน์ หวังแก้ปัญหาเงินกีบเสื่อมค่าผ่านการยกระดับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ และขยายขนาดจีดีพีประเทศจากเศรษฐกิจนอกระบบ
KEY
POINTS
- ลาวเปิดตัว 'ธนาคารทองคำ' แห่งแรกในอาเซียน ที่นครเวียงจันทน์
- เป้าหมายเพื่อแก้วิกฤติเงินกีบเสื่อมค่า และผลักดันจีดีพีให้โต 15% ต่อปี
- ปัญหาเศรษฐกิจลาวคือ หนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างชาติสูง, ขาดดุลการค้าในสกุลเงินดอลลาร์, อัตราเงินเฟ้อสูง, ค่าเงินกีบอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
เมื่อวันที่ 27 ก.ย.67 ที่ผ่านมา บริษัทพีทีแอล โฮลดิงส์ จำกัด (PTL Holding) สัญชาติลาว จับมือกับกระทรวงการคลังของประเทศลาวเปิดตัวธนาคารทองคำ (Laos Bullion Bank) แห่งแรกในอาเซียนตามการอ้างของสมาคมตลาดค้าทองคำ (Bullion Market Association) ของประเทศสิงคโปร์ โดยธนาคารดังกล่าวตั้งอยู่ ณ เมืองเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว)
นายจันทร สิทธิชัย ประธานกรรมการและผู้ก่อตั้งบริษัท พีทีแอล โฮลดิ้ง จำกัดให้สัมภาษณ์ว่า ที่ผ่านมาเศรษฐกิจของสปป.ลาวเผชิญกับความท้าทายจำนวนมากไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะจากสกุลเงินต่างชาติที่อยู่ในระดับสูง การขาดดุลการค้าในสกุลเงินดอลลาร์กับหลายประเทศ และอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงซึ่งปัญหาทั้งหมดส่งผลกระทบทั้งทางตรง และทางอ้อมให้ค่าเงินกีบอ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่อง
นายจันทร สิทธิชัย
ดังนั้นเพื่อประคับประคองค่าเงินกีบให้แข็งค่ามากขึ้น และยกระดับเศรษฐกิจของสปป.ลาว บริษัท พีทีแอล โฮลดิ้งจึงจับมือกับกระทรวงการคลัง เพื่อก่อตั้ง “ธนาคารทองคำแห่งประเทศลาว” เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจทั้งหมด 2 ประการคือ
- ขนาดตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่อยู่ในระดับไม่สูงมากนัก
- ค่าเงินกีบที่อ่อนค่าอย่างหนักจากหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์ที่สูง และการขาดดุลทางการค้าในสกุลเงินดอลลาร์
สำหรับบทบาทของธนาคารทองคำในการแก้ปัญหาตัวเลขจีดีพีของลาว นายจันทร กล่าวว่า แท้จริงแล้วจีดีพีของ สปป.ลาว ควรมีขนาดใหญ่มากกว่านี้ เนื่องจากยังมี “เศรษฐกิจนอกระบบ” โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีการคาดการณ์ว่ามูลค่าทองคำของประชาชนที่อยู่ตามบ้านของประชาชนชาว สปป.ลาวนั้นสูงถึง 10,000 ล้านดอลลาร์
ดังนั้นเมื่อนำมูลค่าทองคำของประชาชนทั้งหมดในประเทศจำนวน 10,000 ล้านดอลลาร์ รวมเข้ากับจำนวนเงินฝากทั้งหมดในประเทศซึ่งอยู่ที่ 18,000 – 20,000 ล้านดอลลาร์ จะทำให้เกิดสภาพคล่องในประเทศมหาศาลและดันให้เศรษฐกิจ สปป.ลาวมีโอกาสโต 10-15% ต่อปี
ที่ทำการธนาคารทองคำแห่งประเทศลาว
ทั้งนี้ นายจันทร ประเมินว่า ในปี 2568 มูลค่าทองคำที่ประชาชนจะนำไปฝากที่ธนาคารทองคำจะอยู่ที่ประมาณ 800 ล้านดอลลาร์ ซึ่งคิดเป็นประมาณ 4% ของจีดีพีของ สปป.ลาว และมูลค่าก็จะเพิ่มขึ้นไปอย่างต่อเนื่อง
สำหรับบทบาทของธนาคารทองคำในการแก้ปัญหา “ค่าเงินกีบที่อ่อนค่า” อย่างหนักในช่วงที่ผ่านมาคือ เมื่อกระทรวงการคลัง และบริษัทพีทีแอล โฮลดิ้ง สามารถสร้างความเชื่อใจให้ประชาชนนำทองคำที่อยู่ในบ้านไปฝากกับธนาคารได้แล้วจะทำให้เม็ดเงินมหาศาลที่อยู่นอกระบบเข้าไปนับรวมอยู่ในจีดีพีของ สปป.ลาว ประเด็นนี้ก็จะยิ่งสร้างความเชื่อมั่น ความน่าเชื่อถือ และเสถียรภาพให้เศรษฐกิจของ สปป.ลาวมากขึ้นจนทำให้ค่าเงินกีบลาวแข็งค่าขึ้นมาได้
“ประเด็นเรื่องหนี้สาธารณะในสกุลเงินต่างชาติ และการขาดดุลไม่ถามก็อยากจะตอบอยู่แล้ว ตอนนี้ลาวมีสำรองทองคำ 1,000 ตัน ซึ่งเป็นตัวเลขจากธนาคารโลก และยังไม่รวมทองคำที่ยังไม่ขุดพบในเหมืองอีก 58 แห่ง โดย 1 ตันทองคำเท่ากับ 80 ล้านดอลลาร์”
“ดังนั้นทองในลาวตอนนี้มีมูลค่า 14,000 ล้านดอลลาร์ รวมทั้งทรัพยากรที่ดินอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการบริหารอย่างมีประสิทธิภาพ เรียกได้ว่า สปป.ลาวมีศักยภาพในการชำระหนี้สิน10:1 คือ มีสินทรัพย์ 10 แต่มีหนี้สิน 1 รวมทั้งยังมีเหมืองแร่โปแตชอีกที่กำลังจะกลายเป็นผู้ส่งออกเบอร์หนึ่งของโลก แค่สองแร่นี้เราก็มีเงินจ่ายหนี้เหลือเฟือแล้ว”
นายจันทร กล่าวต่อว่า ตามกฎหมายของธนาคารกลางแห่งประเทศลาว ธนาคารทองคำต้องแบ่งทองคำทั้งหมด 12% ของมูลค่าที่รับฝากได้ทั้งหมดไปไว้ที่ธนาคารกลางเพื่อเป็น “Deposit Reserve Bank” ร่วมกับเงินทุนสำรองระหว่างประเทศของธนาคารกลางเพื่อสร้างเสถียรภาพให้เศรษฐกิจ และค่าเงินกีบของสปป.ลาว
อย่างไรก็ดี สัดส่วนของ Deposit Reserve Bank ที่ธนาคารทองคำต้องนำไปฝากไว้กับธนาคารกลางสามารถปรับเปลี่ยนเพิ่มขึ้นหรือน้อยลงได้ในอนาคตซึ่งอยู่ในกระบวนการเจรจา และจะมีความชัดเจนขึ้นในช่วงปี 2568
นอกจากนี้ เพื่อดึงดูดให้ประชาชนนำทองคำของตัวเองไปฝากกับธนาคาร นายจันทร กล่าวว่า จะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินอื่นๆ ออกมาอีกในอนาคต แต่ในเบื้องต้นจะรับฝากทองคำ และให้ดอกเบี้ยที่ 2% โดยมีระยะเวลาการฝากอย่างน้อย 6 เดือนก่อน
ใบยืนยันสิทธิการฝากทอง
ผู้ฝากทองจะได้รับใบยืนยันสิทธิการฝากทอง (Certificate) ซึ่งเปรียบเหมือนสินทรัพย์ชนิดหนึ่งที่ผู้ฝากทองคำสามารถใช้เพื่อค้ำประกันในการขอสินเชื่อจากธนาคารที่ลงนามเอ็มโอยูกับธนาคารทองคำได้ด้วย ซึ่งก็จะยิ่งทำให้ประชาชนทั่วไปเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น และสร้างการเติบโตให้เศรษฐกิจ สปป.ลาวในภาพรวม
อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่ขอด้วยใบแสดงสิทธิของธนาคารทองคำจะอยู่ในสกุลเงินกีบเท่านั้นเพื่อตอบสนองต่อจุดประสงค์ของธนาคารทองคำที่ต้องการแก้ไขปัญหาค่าเงินกีบ ทว่าอาจปล่อยสินเชื่อเป็นสกุลเงินดอลลาร์กับกลุ่มธุรกิจที่มีพอร์ตด้านการส่งออกเท่านั้น
เมื่อถามถึงโมเดลการหารายได้ของธนาคารทองคำ นายจันทรให้ข้อมูลว่า ธนาคารแห่งนี้ไม่ได้จัดตั้งขึ้นมาเพื่อหวังผลกำไรแต่เพื่อสร้างความมั่นคงให้เศรษฐกิจ และยกระดับค่าเงินกีบให้แข็งค่าขึ้น ดังนั้นโมเดลในการหารายได้จะมีไม่มากคือ การปล่อยกู้ให้ได้ดอกเบี้ยที่ 6-8% แล้วนำส่วนต่างเป็นรายได้ของบริษัท รวมทั้งนำทองที่รับฝากไปซื้อขาย (เทรด) ในตลาดทองคำโลกภายใต้มาตรฐานทองคำโลกอย่าง LBMA
ทั้งนี้ ทองคำที่สามารถนำไปฝากที่ธนาคารทองคำได้จะต้องมีปริมาณทองคำ 99.99% ตามมาตรฐานของ LBMA โดยในเบื้องต้นผู้ที่สามารถฝากได้จะต้องมีสัญชาติลาวเท่านั้น ทว่าในปีหน้าอาจขยายตลาดไปต่างประเทศเพิ่มเติม
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์