ทำความเข้าใจเรื่องค่าของเงิน (4) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ทำความเข้าใจเรื่องค่าของเงิน (4) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เงินตรานั้นมีความสำคัญ ในการเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน โดยมีลักษณะสำคัญคือ มีธนาคารกลางเป็นผู้ผูกขาดการผลิตปริมาณเงินตราดังกล่าวออกมาในจำนวนจำกัด แต่เพียงพอ

เพื่อนำไปใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ในการเป็นหน่วยวัด (unit of account) การทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เป็นตัวกลางของการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) และเป็นเครื่องมือในการเก็บรักษาและส่งต่อความมั่นคั่ง (store of wealth) 

เพื่อให้สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ เงินตราจะต้องอำนวยความสะดวก จึงวิวัฒนาการมาจากการใช้วัตถุมูลค่าสูง เช่น เหรียญทองคำและเหรียญเงิน มาเป็นการออกธนบัตร (กระดาษ)

ในปัจจุบัน ระบบการเงินใด้ใช้ประโยชน์จากวิวัฒนาการทางเทคโนโลยี นำไปสู่การใช้ระบบประมวลข้อมูลโดยคอมพิวเตอร์ ในการทำธุระกรรมทางเศรษฐกิจ การแลกเปลี่ยน และเก็บรักษา “เงินตรา” ในรูปของข้อมูลที่เก็บเอาไว้ในศูนย์ข้อมูลของสถาบันการเงิน

การทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจจึงอาศัย mobile banking มากขึ้น จนกระทั่งคนรุ่นใหม่เกือบจะไม่พกเงินสดแล้ว และเครื่อง ATM ก็ถูกโละออกไปจนแทบจะมองหาไม่พบแล้วในสมัยนี้ (เหมือนกับการล้าสมัยของตู้โทรศัพท์สาธารณะ)

อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นเงินสดหรือเงินดิจิทัล เงินจะต้องมีลักษณะพื้นฐานที่สำคัญคือ จะต้องได้รับความเชื่อถือ และผู้ใช้จะต้องมั่นใจว่ามันดังกล่าวจะรักษามูลค่าเอาไว้ได้ในระยะยาว

แปลว่าจะต้องไม่เกิดภาวะเงินเฟ้อสำหรับเงินสกุลดังกล่าว ซึ่งหมายถึงการจำกัดปริมาณของเงินดังกล่าวให้เหมาะสมในระยะยาว

การเกิดของเงินคริปโตเมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้วคือ บิตคอยน์ (Bitcoin) จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก แล้วเกิดขึ้นจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ และจากการขาดความไว้วางใจในเงินสกุลหลักของโลก และการไม่ต้องการยอมรับการผูกขาดอำนาจของการพิมพ์เงินโดยภาครัฐ

ทำความเข้าใจเรื่องค่าของเงิน (4) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

เงินคริปโตนั้น มองในมิติหนึ่งคือ การสร้างสินทรัพย์ขึ้นมาใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกในการลงทุน แต่สามารถมองอีกด้านหนึ่งได้ว่า เป็นการท้าทายอำนาจของภาครัฐและระบบการชำระเงินของโลกที่ถูกผูกขาด ให้มีทางเลือกใหม่ ซึ่งจะถูกควบคุมโดยเทคโนโลยีและโดยกลุ่มผู้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าว

หากมองในแง่นี้ (คือการลดทอนอำนาจการผูกขาดของธนาคารกลาง) การทำระบบการจ่ายเงิน โดยใช้เทคโนโลยี เช่น Block chain จะเป็นเรื่องใหม่ที่อาจส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต

หากมองในมิตินี้จะเห็นได้ว่า ข้อเสนอของรัฐบาลเกี่ยวกับดิจิทัลวอลเล็ตนั้น เป็นแนวคิดที่แปลกใหม่ในการสร้างระบบการจ่ายเงินโดยตรงระหว่างรัฐบาลกับประชาชน ที่มองได้ว่าจะเป็นระบบที่ดำเนินควบคู่ไปกับระบบการเงินปัจจุบัน และอาจจะมีลักษณะแบ่งแยกการดำเนินนโยบายการคลังออกจากระบบการเงิน และที่สำคัญ มีศักยภาพในการทำให้นโยบายการคลังมีความ “แม่นยำ” เพิ่มขึ้นอย่างมาก

สมมุติว่า รัฐบาลไทยทำระบบดิจิทัลวอลเล็ต ออกมาให้เป็นระบบที่เชื่อมต่อระบบงบประมาณของรัฐบาลกับประชาชนคนไทยจำนวนกว่า 50 ล้านคนโดยตรง โดยผ่านบัญชีธนาคารพาณิชย์ที่ประชาชนใช้บริการ

เราอาจคิดต่อไปได้ว่า รัฐบาลไทยจะสามารถสื่อสารทางการเงินกับประชาชนได้โดยตรงอย่างแม่นยำและรวดเร็ว เช่น การต้องจ่ายภาษี การคืนภาษีและการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ในพื้นที่เป้าหมาย ในระยะเวลาที่รัฐบาลกำหนด และในหมวดหมู่ของสินค้าที่รัฐบาลต้องการให้ประชาชนได้ซื้อหรือห้ามไม่ให้ซื้อ

ตัวอย่างเช่น รัฐบาลอาจกำหนดเงื่อนไขว่า ประชาชนมีรายได้ 50,000 บาท -100,000 บาท ต่อเดือน สามารถเดินทางไปท่องเที่ยวเมืองรองได้ใน 5 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2025 โดยค่าใช้จ่ายของการท่องเที่ยวดังกล่าวจะสามารถนำไปหักภาษีเงินได้ 1.5 เท่าของค่าใช้จ่ายจริง ในกรอบของดิจิทัลวอลเล็ต เป็นต้น

ทำความเข้าใจเรื่องค่าของเงิน (4) | ศุภวุฒิ สายเชื้อ

ตัวอย่างดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า เทคโนโลยีจะสามารถทำให้นโยบายการคลังมีความแม่นยำมากขึ้น และทำได้รวดเร็วขึ้นอย่างมาก หากสามารถสร้างระบบดังกล่าวขึ้นมาใด้จริง และทดสอบอย่างละเอียดถี่ถ้วนให้มีความปลอดภัยและเป็นที่เชื่อถือของประชาชน

แต่แน่นอนว่า ความแม่นยำดังกล่าวของระบบการดำเนินนโยบายการคลัง ย่อมจะมีข้อควรระวังด้วยเช่นกันคือ การทำให้นโยบายการคลังจะถูกครอบงำโดยกระแสทางการเมืองได้ง่ายดายขึ้น

กล่าวคือ นโยบายการคลังและมาตรการประชานิยมจะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือในการให้ใด้ปรียบทางการเมือง และการได้มาซึ่งอำนาจทางการเมือง

ดังนั้น หากมองในด้านของนักเศรษฐศาสตร์ที่ให้ความสำคัญกับระบบตลาดเสรี และการจำกัดอำนาจของรัฐให้อยู่ในขอบเขตที่จำเป็นเท่านั้น การทำให้นโยบายการคลังที่มีอำนาจและมีความแม่นยำ และยังมีประสิทธิภาพสูงดังที่กล่าวมาข้างต้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องไปไตร่ตรองดูข้อดี-ข้อเสียให้ละเอียดถี่ถ้วน

  เมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา ผู้เชี่ยวชาญด้านด้านเศรษฐศาสตร์การเงิน คือศาสตราจารย์ Eswar Prasad แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เขียนบทวิเคราะห์ลงหนังสือพิมพ์ Financial Times เกี่ยวกับ ดิจิทัลวอลเล็ตของไทยซึ่งผมคิดว่า มีสาระน่าสนใจอย่างมาก และมีข้อสรุปที่น่าคิดดังปรากฏข้างล่างครับ

“The looming reality of a world of Central Bank Digital Currencies holds much promise. But it could dent confidence in central banks and central bank money, which would be a huge price to pay.

The Thai experiment will teach us a lot about what the future holds and serves as a warning about how technology might push us towards a dystopian world.”

(dystopian world คือโลกที่ไม่พึงปรารถนา แปลตรงตัวคือ ที่ที่เลวร้าย ตรงข้ามกับ Utopia หรือดินแดนในอุดมคติ)