ปัญหา “มะรุมมะตุ้มรุมเร้า” เศรษฐกิจไทย
สถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงนี้น่าจับตาเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่เราได้คณะรัฐมนตรีชุดใหม่ แถลงนโยบายต่อรัฐสภาไปแล้ว งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 พร้อมเบิกจ่าย 1 ตุลาคม 2567
การส่งออกและการท่องเที่ยวขยายตัวต่อเนื่อง ความเชื่อมั่นในตลาดหุ้นเริ่มกลับมา ท่ามกลางปัจจัยบวกดังกล่าว กลับมีปัญหาหลายอย่างมะรุมมะตุ้มรุมเร้า ทำให้การบริหารเศรษฐกิจไม่ไหลลื่น และจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่าง ๆ ตามมา
ปัญหาแรก คือ น้ำท่วมวงกว้าง ผลกระทบทางตรงของน้ำท่วมคือ เรือกสวนไร่นา รวมถึงที่อยู่อาศัย ยานพาหนะ เครื่องมือทำมาหากินเสียหาย ทำให้พี่น้องประชาชนหลายจังหวัดได้รับผลกระทบ รายได้หาย รายจ่ายหลังน้ำลดจะตามมา ซึ่งจะซ้ำเติมกำลังซื้อที่น้อยอยู่แล้วให้น้อยลงไปอีก
แต่โชคดีที่โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและคนพิการ 14.55 ล้านคน คิดเป็นเม็ดเงิน 1.45 แสนล้านบาท ส่งถึงบัญชีพี่น้องประชาชนที่ได้รับสิทธิพอดี พอจะช่วยบรรเทาเยียวยาภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไปได้บ้าง
หลังน้ำท่วมเงินก้อนนี้จะออกจากกระเป๋าชาวบ้านมาช่วยเสริมกำลังซื้อที่เหือดหายไป ช่วยกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย และทำให้เศรษฐกิจในช่วงปลายปีเติบโตได้มากขึ้น
ปัญหาที่สอง คือ ดอกเบี้ยไม่ลด เมื่อไม่กี่วันก่อน ธนาคารกลางสหรัฐฯ ประกาศลดดอกเบี้ยลง 0.50% มาอยู่ที่ 4.75% ถึง 5.00% จริง ๆ แล้วสหรัฐฯ ไม่ได้เป็นประเทศแรก ๆ ที่ลดดอกเบี้ย แต่เผอิญสหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีพลวัตรต่อเศรษฐกิจโลกสูง การลดดอกเบี้ยจึงกระทบทั่วโลก
ตอกย้ำว่าเศรษฐกิจโลกมาถึงจุดดอกเบี้ยขาลงแน่นอน เพราะสหรัฐฯ บอกว่าจะลดอัตราดอกเบี้ยลงอีก เหตุผลที่เขาลดอัตราดอกเบี้ย เพราะต้องการดูแลตลาดแรงงาน กำลังซื้อลดลง คำสั่งซื้อลดลง สินค้าคงคลังเพิ่มสูงขึ้น
และสหรัฐฯ ขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มขึ้นมากถึง 90 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในจำนวนนี้เป็นการขาดดุลกับจีนถึง 60 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ สหรัฐฯ จึงต้องงัดนโยบายการเงินมากระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเฟ้อสูงแล้ว
แล้วดอกเบี้ยสหรัฐฯ เกี่ยวอะไรกับดอกเบี้ยไทย ของไทย
ผู้ดูแลดอกเบี้ยนโยบายยังคงปักหมุดดอกเบี้ยนโยบายไว้อยู่ที่ 2.50% มาตั้งแต่ช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้นอย่างมาก เงินเฟ้อจึงเพิ่มขึ้นตาม ช่วงนั้นจึงจำเป็นต้องขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับเงินเฟ้อฝั่งอุปทาน (Cost-Push Inflation)
ต้องจับตาว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในกลางเดือนตุลาคมนี้ จะเอาอย่างไร ส่วนตัวอยากให้ลด
จริงอยู่ว่าดอกเบี้นโยบายไม่ได้เกี่ยวกับชาวบ้านโดยตรง แต่เกี่ยวโดยอ้อม เพราะการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นลง จะส่งผ่านไปยังดอกเบี้ยเงินกู้และดอกเบี้ยเงินฝาก ดอกเบี้ยเงินกู้เป็นรายได้ของธนาคาร แต่เป็นต้นทุนของผู้ผลิต ผู้ประกอบการ ร้านค้า MSMEs ต่าง ๆ
เช่นเดียวกับดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นรายจ่ายของธนาคาร แต่ก็เป็นต้นทุนของชาวบ้านในการซื้อบ้าน ซื้อรถ ซื้อเครื่องมือทำมาหากิน ซึ่งทั้งผู้ประกอบการและชาวบ้านต้องวางแผนการเงินวันนี้ไม่ใช่อนาคต
ปัญหาที่สาม คือ ค่าเงินบาทแข็ง ซึ่ง ณ เวลาที่ผมเขียนบทความนี้อยู่ เงินบาทอยู่ที่ 32.58 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ แข็งกว่านี้ต้องย้อนไปเมื่อวันที่ 28 กรกฎาคม 2566 ฉะนั้น ค่าเงินบาทจึงแข็งค่ามากสุดในรอบปีกว่า ๆ
และถ้าดูระยะสั้น ๆ 1 เดือนที่ผ่านมา จะพบว่า ค่าเงินบาทแข็งกว่าริงกิตมาเลเซีย หยวนจีน เยนญี่ปุ่น ดองเวียดนาม รูเปียะห์อินโดนีเซีย และเปโซฟิลิปปินส์
สาเหตุหลักอธิบายภาษาชาวบ้าน เกิดจากการที่เงินทุนวิ่งออกจากสหรัฐฯ หนี้ผลตอบแทนที่มีแนวโน้มลดลงไปฝากเนื้อฝากตัวไว้ที่อื่นที่ผลตอบแทนมากกว่า หรือลดลงน้อยกว่า ผลตอบแทนที่ว่าก็คือดอกเบี้ย
เมื่อดอกเบี้ยมีแนวโน้มลดลง ก็ทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจจะอ่อนค่าลงไปอีก เงินสกุลอื่น ๆ เมื่อเทียบเป็นดอลลาร์สหรัฐ ก็เลยแข็งค่าขึ้นโดยอัตโนมัติ เงินบาทก็เช่นกัน
อีกสาเหตุหนึ่งเกิดจากการไหลเข้าของเงินทุนมายังเศรษฐกิจไทย ผ่าน 3 ช่องทางธรรมชาติ 3 ช่องทาง ได้แก่ บัญชีการค้า (ส่งออก) บัญชีบริการ (ท่องเที่ยว) และบัญชีเงินทุน (ตลาดหุ้นและพันธบัตร)
ทั้ง 3 ช่องทางสูบเงินเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งผู้ดูแลค่าเงินก็คงมีการบริหารจัดการเต็มที่ ดูจาก 2 สัปดาห์ล่าสุด ทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้นถึง 3.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
แม้ว่าการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นย่อมเป็นจังหวะเวลาให้ผู้ประกอบการนำเข้าเครื่องจักรวัตถุดิบเพื่อขยายกำลังการผลิตและทดแทนเครื่องจักรเก่าเพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่หากค่าเงินบาทยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจะย้อนกลับมาบั่นทอนการส่งออกและการท่องเที่ยวได้
ปัญหาที่สี่ คือ เงินเฟ้อต่ำ สมัยก่อนเราอยากเห็นเงินเฟ้อต่ำ ๆ เพราะเงินเฟ้อต่ำ ๆ สะท้อนว่าชาวบ้านจะได้ซื้อข้าวของเครื่องใช้ในราคาไม่แพง ช่วยเพิ่มกำลังซื้อให้ชาวบ้าน ดังนั้น กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ตั้งไว้เป็นช่วง (ปัจจุบันอยู่ที่ 1% - 3% ต่อปี)
10 ปีที่ผ่านมา หลุดกรอบไป 6 ครั้ง และมักจะหลุดขอบล่าง คือ 1% ยกเว้นปีที่เงินเฟ้อจากผลของราคาน้ำมันแพงช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ผมไม่แน่ใจว่า เรากลัวเงินเฟ้อสูงเกินไปหรือไม่ จนระมัดระวังมากเกินไป เงินเฟ้อจริงจึงออกมาต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างมาก ทั้ง ๆ ที่เราช่องว่างระหว่างขอบล่างและขอบบนถึง 2%
หากขยับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อให้สูงขึ้นสัก 0.5% ทั้งขอบล่างและของบนเป็น 1.5% - 3.5% จะช่วยผ่อนคลายแรงกดดันของราคาได้บ้าง และช่วยสร้างแรงจูงใจให้ผู้ผลิตเพิ่มกำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรม
ซึ่งวันนี้อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อไม่มีกำไรก็ไม่ผลิต เมื่อไม่ผลิตการขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานก็ไม่มี การขึ้นค่าจ้างก็ทำได้ลำบาก ระบบเศรษฐกิจจะตกอยู่ในวังวนของราคาและค่าจ้างต่ำมากจนเกินไป
ตัวเลขที่ปรากฏ ก็คือ อัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้ผลิต 8 เดือนแรกขยายตัว 2.6% สูงกว่าอัตราเงินเฟ้อฝั่งผู้บริโภคที่ขยายตัวเพียง 0.2% แปลง่าย ๆ ว่า ผลิตแพงแต่ขายถูก ดังนั้น การปรับกรอบเงินเฟ้อขึ้นจะเอื้อต่อการบริโภค การผลิต และการลงทุนมากขึ้น
ปัญหาที่ห้า คือ หนี้เสียสูง หนี้สินในความหมายนี้ ประกอบด้วยหนี้ครัวเรือนและหนี้ของ SMEs เฉพาะหนี้ที่กำลังจะเสีย (ผิดนัดมากกว่า 1 เดือนแต่ไม่เกิน 3 เดือน) บวกหนี้ที่เสียแล้ว (ผิดนัดเกิน 3 เดือน)
ตามข้อมูลของบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ ล่าสุดมียอดหนี้ผู้บริโภคสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท บวกกับยอดหนี้ของ SMEs อีก 4.7 แสนล้านบาท รวมเป็นประมาณ 2.3 ล้านล้านบาท จากสินเชื่อที่ปล่อยให้ครัวเรือนและ SMEs จำนวน 17.3 ล้านล้านบาท เกือบเท่า GDP ของประเทศ
การที่ผู้บริโภคและ SMEs มีหนี้เสียและกำลังจะเสียเพิ่มขึ้น ย่อมบั่นทอนกำลังซื้อ การบริโภค และการลงทุนขยายกิจการ หนี้ตัวใหญ่ของผู้บริโภคก็คือ หนี้บ้าน หนี้รถ สินเชื่อส่วนบุคคล และหนี้บัตรเครดิต
ส่วนหนี้ตัวใหญ่ของ SMEs ก็คือ หนี้เพื่อการพาณิชย์ หนี้ตั๋วสัญญาใช้เงิน และหนี้เช่าซื้อ หนี้เสียก็ยังขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน ทุกตัวที่ว่ามายอดหนี้เสียยังคงขยายตัว
ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดการกับหนี้เก่า โดยเฉพาะหนี้ที่เกี่ยวกับเครื่องมือทำมาหากิน ต่อยอดกิจการ เช่น การรวมหนี้ไว้ในที่เดียว อาจจะบริหารจัดการได้ง่ายขึ้น
ในขณะเดียวกันก็ต้องป้องกันการเกิดหนี้ใหม่ แต่ก็ไม่เข้มงวดกับการปล่อยสินเชื่อจนคนตัวเล็กเข้าไม่ถึงแหล่งเงิน อาจจะมีเกณฑ์พิเศษสำหรับคนตัวเล็ก เช่น Ari Score ที่กระทรวงการคลังกำลังทำ เป็นต้น
ปัญหามะรุมมะตุ้มที่รุมเร้าเศรษฐกิจไทยทั้ง 5 ประการ ถ้าแก้ช้า เราจะฟื้นกำลังซื้อไม่ได้ เมื่อกำลังซื้อไม่กลับมา เม็ดเงินหมุนเวียนในระบบก็จะเหือดแห้งไป
ลำพังนโยบายการคลังผ่านเม็ดเงินงบประมาณและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจคงเหลือพละกำลังไม่มากเหมือนเดิม เพราะออกแรงไปมากแล้วในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คงต้องหวังพึ่งนโยบายการเงินมากขึ้น
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน มิได้ผูกพันเป็นความเห็นขององค์กรที่สังกัด